ผู้เขียน หัวข้อ: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead  (อ่าน 66022 ครั้ง)

ออฟไลน์ Ji.Cl.

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 680
    • อีเมล์
Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« เมื่อ: ตุลาคม 23, 2013, 18:41:49 »
          อันที่จริงแล้ว ถ้าใครคลิกไปดูประวัติกระทู้เก่าๆ ที่ผมโพสต์ไว้จะพบว่า รถที่ผมกะจะหมายปองครอบครองไว้นั้นคือ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ซึ่งเป็นรถคนละตระกูล ห่างกันคนละโยชน์เลยกับรถคันที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ สิ่งที่ผมต้องการในตอนนั้น คือบ้านผมมี 7 คน และไปเที่ยวด้วยกันอยู่เนืองๆ จึงเริ่มมีความต้องการรถที่จะไปเที่ยวได้ในคันเดียว เงื่อนไขที่ผมต้องการคือ เมื่อมีการโดยสารเบาะแถวที่ 3 ต้องยังเหลือที่ว่างสำหรับวางกระเป๋าเดินทางสำหรับ 7 คนได้ ซึ่งรถแวน 7 ที่นั่งส่วนใหญ่หลุดออกจากความสนใจผมไปเพราะข้อนี้ คือพอกางเบาะครบแล้ว เหลือที่แค่พอวางคอนเน่ 3 ถุง รถที่ตอบโจทย์ได้จึงเป็น PPV

          ผมตัดสินใจว่าจะซื้อแน่ๆ ตั้งแต่ปี 2010 ในเวลานั้น ปาเจโร สปอร์ต คือรถที่ถูกที่สุด ให้ออปชั่นได้ครบ ใช้งานได้หลากหลาย ตามสไตล์ PPV ถือว่าคุ้มค่าเงินที่จ่าย และบ้านผมก็อยู่ใกล้ศูนย์ของมิตซูแห่งหนึ่งที่ผมพูดได้ว่า กระแสตอบรับจากผู้ใช้ ดีที่สุดในศูนย์มิตซูบิชิทั้งหมดในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ มิตซู ออโต้ซิตี้ ปาเจโรสปอร์ตจึงเป็นตัวเต็งที่ผมควรจะได้ซื้อ แต่ก็ถูกเบรกเอี๊ยดดดดดดดดด ด้วย Defect จำนวนมากในรถรุ่นนี้ ทั้งพาวเวอร์รั่ว จอหนังดับ SCV Valve วูบ เฟืองท้ายหอน สนิมกินขอบ ฯลฯ อีกทั้งไม่ได้รีบ จึงตัดสินใจ รอ รอจนกว่าปัญหาที่สำคัญจะได้รับการแก้ไข

          รอไปรอมา เวลาก็ล่วงเลยมาถึงปี 2012 ปีที่มีความพร้อมจะซื้อจริงๆ และตัดสินใจจองรุ่น 2.5GT 2WD ไป แต่!!!!!!! ไม่ได้จองกับศูนย์ออโต้ ซิตี้ ผมไปจองกับศูนย์บริการอีกแห่งหนึ่งในย่านถนนบางนา-ตราด เพราะมายื่นข้อเสนอที่เย้ายวนใจ ของแถม เพียบ!!!!! ชนิดที่ออโต้ซิตี้ให้ไม่ถึงครึ่งของที่นี่ (สปอยเลอร์ สครับเพลท กล้องมองหลัง กรองป้าย ผ้ายาง ขัดเคลือบ พ่นกันสนิม และส่วนลด50% ฟิล์ม V-Kool Elite Package รอบคัน และอีก 2-3 อย่าง ถือว่าเยอะมากในช่วงนั้น ไม่ใช่แค่ออโต้ซิตี้ แต่แทบทุกศูนย์เลยที่ไปเจอมา ให้ไม่ได้) แถมยังรับรถได้เร็วกว่าออโต้ซิตี้เป็นเดือน จึงแอบนอกใจ ไปจองกับศูนย์นั้น

          ผมเลือกติดฟิล์ม V-Kool Elite ซึ่งได้ของแถมเป็นส่วนลดครึ่งราคา ราคากลางจากสำนักงานใหญ่วีคูลกำหนดมาในขณะนั้น อยู่ที่ 26,500 บาท แต่ทว่า เรื่องก็มาเยือนผมถึงที่ หลังจากจองไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เซลล์ก็โทรมาแล้วบอกผมว่า ฟิล์มวีคูล รุ่นนั้นมีมูลค่า 60,000 บาท ลดราคา 50% เหลือ 30,000 บาท.............................















































สามหมื่นบิดาท่าน!!!!!!!!!!!!!!!!!!



          ฟิล์มรุ่นเดียวกัน แต่แพงกว่ากัน 2 เท่ากว่า โก่งราคากันเห็นๆ กลายเป็นว่า เงื่อนไขเสียเปรียบเกือบทุกศูนย์มิตซูเท่าที่ผมเคยเจอมา เหมือนเราติดฟิล์มเอง (แถมยังต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มอีก 3,500) แต่ได้แค่ของแถมจุกจิกไม่กี่อย่าง เหมือนเราซื้อของแถมเองทุกอย่างด้วยซ้ำ หลังจากสู้กันอยู่ 2-3 ยก จนสุดท้ายเราจึงได้พูดคำนี้....... “ถอนจอง!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!” อันที่จริงมันอาจเป็นคำที่เซลล์อยากได้ยิน เพราะการเอารถคันนี้ไปขายให้ลูกค้าเงินผ่อนน่าจะได้กำไรมากกว่าขายให้ผม แต่การจะยอมรับเงื่อนไขที่เสียเปรียบขนาดนั้นผมก็ไม่เอา ขนาดเรื่องขายยังมาหัวหมอกับผม ถ้าอนาคตเราต้องเคลมอะไรนี่ข้าพเจ้าจะฝากความหวังอะไรไว้กับท่านได้?

          หลังจากนั้น มันก็เป็นจังหวะชีวิตที่ผลิกผัน แผนการเรื่องรถจึงเปลี่ยนจากรถ PPV คันเดียว เป็นรถกระบะ+รถเก๋งมือสองอย่างละคัน ซึ่งรถเก๋งมือสองที่ว่านี่ก็คือ Nissan Sunny N16 1.6 Super NEO นอนทับที่ของเจ้าปาปอดไปเรียบโร้ยยยยยยยย

------------------------------------------------------------------

          หนึ่งในเอกลักษณ์ของ NEO ที่ผมนึกถึง นอกจากเรื่องความหรูหรา คือ การที่ไมเนอร์เชนจ์ มินิเชนจ์ เยอะสุดๆ ในตัวถังเดียว แบ่งได้ 5 ยุค (1 มินิเชนจ์ 3 ไมเนอร์เชนจ์) ดังนั้น ผมจะขอไล่เรียงนีโอ ตั้งแต่ยุคแรก ถึงยุคสุดท้าย ให้มันดูชัดเจนกันเสียก่อน

          ยุคแรกของ Sunny NEO เปิดตัวในเดือนกันยายน 2000



วิธีสังเกตที่ชัดที่สุดคือสีเบาะ นีโอรุ่นแรกสีเบาะกำมะหยี่จะเป็นสีเทา ส่วนรุ่นเบาะหนังจะสีออกน้ำตาลแก่ๆ โดยในช่วงแรกของการเปิดตัวจะมีแค่ 2 รุ่นย่อยเท่านั้น คือ
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto) เป็นรุ่นต่ำ เบาะกำมะหยี่ มีทั้งเกียร์กระปุกและออโต้
-Super NEO (1.6 Auto) เป็นรุ่นท็อป มีเฉพาะเกียร์ออโต้ สิ่งที่จะได้เพิ่มจากรุ่น GL คือ เบาะหนัง ดิสก์เบรกหลัง ถุงลมฝั่งคนขับ ABS BA

คล้อยหลังมาปี 2001 คู่แข่งหลายรายเริ่มเปิดตัว ทั้ง Corolla E120, Civic Dimension, Lancer CeDia ทำให้นิสสัน ออกรุ่นท็อปกว่ามาเกทับ ทำให้รายชื่อรุ่นย่อยจากต่ำไปสูงเป็นดังนี้
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto)
-Super NEO (1.6 Auto)
-Almera SX (1.8 Auto)
-VIP NEO (1.6 Auto)
-Almera Young (1.8 Auto)

โดยที่คำว่า Almera กับ NEO จะต่างกันที่กระจังหน้า (Almera แยก, NEO ชิ้นเดียว), ไฟท้าย, เครื่องยนต์ (Almera ใช้เครื่อง 1.8 ฝาสีแดง, NEO ใช้ 1.6 ฝาสีขาว), ลายล้อ (Almera ลายปลาดาว, NEO ลายก้านถี่), และการตกแต่งภายใน (NEO ใช้ลายไม้, Almera ใช้เมทัลลิก) อัลเมร่า ได้ฐานกระจกมองข้างสีรถ ฯลฯ
แต่สำหรับออปชั่นความสะดวกสบายและความปลอดภัยนั้น Almera SX=Super NEO และ Almera Young=VIP NEO ครับ


รูปซ้าย เป็น NEO และรูปขวา เป็น Almera

ทีนี้มาดูรถแต่ละรุ่นย่อยกัน


ตัวอย่าง GL NEO เบาะกำมะหยี่ ไม่มีถุงลม (ถ้าใครดูไม่เป็น ดูอย่างง่ายที่สุด รถที่มีถุงลมคนขับ จะมีคำว่า SRS Airbag สลักไว้บนฝาแตรพวงมาลัยครับ ซึ่งจะไม่เห็นในรุ่น GL NEO)


ตัวอย่าง Super NEO เบาะหนัง ถุงลมคนขับ


ตัวอย่าง Almera SX 1.8 ถุงลมคนขับ สิ่งที่ได้เพิ่มเมื่อเทียบกับ Super NEO คือ CD Changer ที่ใต้แผงสวิตช์แอร์ และพวงมาลัยหุ้มหนัง แต่ออปชั่นโดยรวมถือว่าเท่ากัน


ตัวอย่าง VIP NEO เป็นเครื่อง 1.6 ฝาขาว ออปชั่นที่เพิ่มจาก Almera SX คือถุงลมฝั่งคนนั่ง ถ้าเข้าไปดูในเว็บรถมือสองนะครับ รถนีโอเกือบทุกคัน หน้าคนนั่งทางซ้ายจะมีหลุมเปล่าๆ อยู่บนคอนโซล แต่ VIP นีโอ หลุมนั่นจะกลายเป็นฝาปิดตันๆ ใต้ฝาตันๆ นั่นแหละครับคือถุงลม


ตัวอย่าง Almera Young ออปชั่นเท่า VIP NEO

------------------------------------------------------------------

          ยุคที่ 2 ของนีโอ มาในเดือนเมษายน 2002 บอดี้ตัวเดิมเป๊ะ ฝากระโปรงหน้า กระจังหน้า ไฟท้าย เหมือนยุคแรก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ

*NEO เสาอากาศเปลี่ยนจากแบบมือดึงที่เหนือศีรษะผู้ขับขี่เป็นแบบไฟฟ้าที่ด้านหลังขวาของรถ ฐานกระจกมองข้างเปลี่ยนจากสีดำด้านเป็นสีเดียวกับตัวรถ ภายในเปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีเบจอ่อน หัวเกียร์ออโต้จากสีดำเป็นแบบชุบโครเมียม ฐานเกียร์ออโต้เปลี่ยนจากสีดำเป็นสีเรซินเมทัลลิก และที่สำคัญ เฉพาะรุ่น Super NEO เปลี่ยนลายล้อ เป็นลายปลาดาว แบบเดียวกับใน Almera (แต่รุ่น GL NEO จะใช้ล้อลายทึบเหมือนเดิม)

*Almera เปลี่ยนแปลงน้อยกว่า ภายในยังเป็นสีเทา ฐานเกียร์ดีสำ เปลี่ยนเฉพาะเสาอากาศไฟฟ้า ส่วนฐานกระจกข้างสีรถ ปุ่มปลดเกียร์โครเมียม อัลเมร่ามีตั้งแต่ยุคที่ 1 แล้ว


ภายนอก Super NEO ยุคที่ 2 ล้อลายปลาดาว

และอีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เกียร์ ในรุ่น 1.6 ลิตร NEO โดนด่าสะท้านเมืองว่าอืดมาก แต่ครั้นจะให้ขยับไปเล่น Almera 1.8 มันก็เกินไป ยุคที่ 2 ปรับการทดเฟืองท้ายของ NEO ใหม่ ให้รอบจัดขึ้น รถนีโอยุคนี้ไปแล้วจะแรงขึ้นกว่านีโอยุคแรกพอสมควร

ในยุคที่สองนี้ สยามกลการได้ตัดรุ่นย่อยของนีโอและอัลเมร่าออกไปอย่างละรุ่น คาดว่าเพราะไม่ต้องการให้รถที่มีออปชั่นเท่ากันมาขายขัดกันเองถึง 2 คู่ จึงยุบ Almera SX เพื่อชู Super NEO เพียงหนึ่งเดียว และยุบ VIP NEO เพื่อชู Almera Young เพียงหนึ่งเดียว ทำให้รุ่นย่อย จากต่ำไปสูงของยุคนี้ประกอบด้วย

-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6 Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำสุด
-Super NEO (1.6 Auto)
-Almera Young (1.8 Auto)

สังเกตที่ไฮไลต์ไว้นะครับ ว่าในรุ่นต่ำสุด GL NEO มีตัวเลือก ที่ชื่อว่า LEAT เพิ่มขึ้นมา เป็นรุ่นย่อยของรุ่นย่อยอีกที ซึ่งนีโอในยุคแรกจะไม่มีตัวเลือกนี้ แล้วถ้าถามว่า GL LEAT คืออะไร? คำตอบคือ ออปชั่นเท่าตัว GL ปกติ แต่จะได้เบาะหนังออกจากโรงงานเกรดเดียวกับ รุ่นที่สูงกว่า

แต่นีโอยุคแรก ไม่มีรุ่น GL LEAT นะครับ ท่านใดที่หามือสองของนีโอยุคแรกสุด และพบรุ่น GL เบาะหนังสีเทา ให้สันนิษฐานได้ก่อนว่า เบาะหนังนั้นอาจเป็นของแถมจากเซลล์ในตอนนั้น หรืออาจเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ หรือเจ้าของเก่า ไปติดเอาข้างนอก ซึ่งก็น่าจะเป็นเบาะพลาสติกหนังเทียมเกรดต่ำ แต่พยายามทำให้ดูเหมือนเบาะโรงงาน ไม่มีเบาะหนังออกจากโรงงานอย่างแน่นอนครับ


ตัวอย่าง GL NEO สังเกตว่า GL ในยุคนี้โดนลดเกรดวิทยุ เป็น Kenwood อีกตัวที่โลว์เกรดกว่า


ตัวอย่าง Super NEO


ตัวอย่าง Almera Young ไม่มีความเปลี่ยนแปลงจากยุคแรก ยกเว้นเสาอากาศไฟฟ้า และวิทยุเป็นเคนวูดที่เล่นซีดีได้ในตัว

------------------------------------------------------------------

          ยุคที่ 3 มาในเดือนกันยายน 2003 อันนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งคัน ไฟท้าย เปลี่ยนเป็นลูกกลมๆ หรือที่เรียกกันในวงการรถมือสองว่า “ท้ายแตงโม” กระจังหน้า ดูเผินๆ คล้ายของเดิม แต่โลโก้นิสสันย้ายลงมาจากเดิมที่แปะบนฝากระโปรงลงมาอยู่รวมกับกระจังหน้า ล้อแม็กเปลี่ยนลายเป็นลายซี่ๆ ทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นล่างยันท็อป ดูเผินๆ จะคล้ายแม็กของ Teana J31 ซึ่งส่วนตัวผมว่าสวยและเข้ากับรถดีกว่าแม็ก 2 แบบเดิมมาก


เข้ามาภายใน สิ่งที่ชัดมากก็คือ ลายไม้ที่แผงประตู สองยุคแรกจะอยู่แค่เป็นกรอบรอบมือดึงประตู แต่ยุค 3 ไปแล้วจะลากยาวตลอดช่วงกว้างแผงประตู เพิ่มความหรูหราได้เยอะ ตัดลายไม้ที่ครอบสวิตช์กระจกและกรอบแอร์ทิ้งไปไม่ให้ดูล้น เบาะหนังเจาะรูระบายความร้อน (อลังการราวกับรถ D-Segment กันเลย) เปลี่ยนทรงพวงมาลัย เปลี่ยนทรงหัวเกียร์ออโต้ (เฉพาะ 1.8 )

รุ่นย่อยในยุคที่ 3 ก็มีรุ่นตามนี้
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำยันพื้นเช่นเดิม
-Super NEO (1.8 Auto) ได้ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag
-VIP NEO (1.8 Auto)

สังเกตว่าเครื่อง 1.8 เปลี่ยนจาก Almera มารวมอยู่กับ NEO ครับ ทำให้รถ 1.8 ที่แต่งตัววัยรุ่นขาดช่วงไปในตอนนี้ และอีกอย่างที่สำคัญคือ ถ้าคุณจะซื้อ NEO 1.6 ในช่วงนี้ หรูที่สุดที่ซื้อได้คือ GL LEAT ซึ่งก็ยังจัดเป็นตัวต่ำสุดอยู่ดี ได้แค่เบาะหนัง ไม่มีระบบความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้ดิสก์เบรกหลัง ไม่ได้ ABS BA ถุงลม ทั้งสิ้น คุณจะต้องซื้อ 1.8 เพื่อออปชั่นความปลอดภัย ซึ่งผมคิดว่าควรมีให้ผู้บริโภคได้เลือกบ้าง


ตัวอย่าง GL NEO รุ่นต่ำ ซึ่งมีการแอบลดต้นทุนอยู่ เพราะรุ่น GL ธรรมดา (ไม่ LEAT) ในรุ่นก่อนๆ จะใช้เบาะกำมะหยี่ (ขนฟูๆ นุ่มๆ) แต่นับจากรุ่นนี้ไป จะใช้เบาะผ้า (เตียนๆ)


ตัวอย่าง Super NEO ได้เพิ่มจาก GL คือวิทยุที่ดูไฮเทคกว่า (รึเปล่า), หัวเกียร์ทรงภูมิฐานกว่า ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag คนขับ


ตัวอย่าง VIP NEO ได้เพิ่มจาก Super คือถุงลมฝั่งคนนั่ง และลำโพงเสียงแหลม (ทวิตเตอร์) ที่เสาคู่หน้า
------------------------------------------------------------------

          ยุคที่ 4 มาในเดือนพฤศจิกายน 2004 เป็นการไมเนอร์เล็กๆ เปลี่ยนแค่กระจังหน้าจากซี่ตั้งเป็นซี่นอน ส่วนที่เหลือเหมือนเดิมหมดครับ ทั้งการตกแต่งภายใน ภายนอก รุ่นย่อยและการจัดสรรออปชั่น
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำยันพื้นเช่นเดิม
-Super NEO (1.8 Auto) ได้ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag
-VIP NEO (1.8 Auto)
และเมื่อเข้ามาภายใน ข้อแตกต่างของนีโอยุคที่ 4 ที่เห็นได้ชัดมีเพียงอย่างเดียว คือลายไม้สีอ่อนกว่า ด้านกว่านีโอยุคที่ 3 และอัพเกรดวิทยุในรุ่น 1.8 ครับ




ตัวอย่าง GL NEO


ตัวอย่าง Super NEO


ตัวอย่าง VIP NEO

------------------------------------------------------------------

          ยุคที่ 5 มาในเดือนมีนาคม 2005 เป็นการไมเนอร์ครั้งยิ่งใหญ่ ส่วนตัวผมคิดว่านี่คือการพัฒนาอย่างถูกทางของนิสสัน ว่าต้องการให้นีโอ เกิดมาเพื่อใคร เจาะตลาดกลุ่มไหน (จากเดิมที่รถเหมือนพยายามจะเจาะตลาดหลายกลุ่มเกินไปจนสไตล์หลายๆ ด้านของตัวรถขัดกันเอง ซึ่งจะกล่าวต่อไปในรีวิวครับ) โดยกระจังหน้าซี่นอน และไฟหน้า ขยายขนาดและปรับรูปทรงจนคล้าย Teana J31 ในขณะนั้น เมื่อรวมกับลายล้อแม็กที่คล้ายกันเข้าไปอีกดูเผินๆ ดูเป็น Mini Teana ได้สบายๆ จนคนที่ยังศึกษาเรื่องรถยังไม่ละเอียดพอมักจะแยกไม่ออก เรียกสับสนกัน ซึ่งผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น (ในราคาที่ถูกกว่าเกือบครึ่งล้าน และการกินน้ำมันที่ห่างกันคนละโยชน์)


การจัดไลน์อัพมีการปรับปรุงเล็กน้อย คือ
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำยันพื้นเช่นเดิม
-Super NEO (1.6 Auto / 1.8 Auto) ได้ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag
-VIP NEO (1.8 Auto)

มีการเพิ่มตัวเลือกเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเข้าไปในรุ่น Super NEO ซึ่งเป็นการคืนความปลอดภัยให้ผู้คนที่ไม่ต้องการเครื่อง 1.8 และนอกจากนี้ออปชั่นภายนอกภายในของ 1.6 Super และ 1.8 Super ยังเท่ากัน ถือเป็นสิ่งที่ดีครับ


ตัวอย่าง GL NEO


ตัวอย่าง Super NEO 1.6


ตัวอย่าง VIP NEO

หลังจากที่ใช้รถนีโอรุ่นแรกของผมแล้ว ถึงแม้ว่ามันจะดีในแบบของมัน แต่ผมรู้สึกได้ทันทีว่านีโอรุ่นสุดท้ายนี่แหละ คือนีโอที่ดีที่สุด ลงตัวที่สุด จุดยืนของตัวรถชัดเจนที่สุด

------------------------------------------------------------------

          นี่ไม่ใช่รีวิวแรกของนีโอในเว็บบอร์ดนี้ครับ ก่อนหน้านี้มีสมาชิกท่านอื่นทำรีวิวนีโอไปแล้ว 2 ชุด คือ
1.NEO ยุคที่ 5 รุ่น GL NEO 1.6 Auto LEAT โดย Moza@135!!!
http://www.headlightmag.com/webboard2011/index.php/topic,20010.0.html

2.NEO ยุคที่ 3 รุ่น GL NEO 1.6 Manual โดย NONT4477
http://www.headlightmag.com/webboard2011/index.php/topic,16502.0.html

------------------------------------------------------------------

          เอาล่ะ ถึงเวลาเริ่มพูดถึงรถคันนี้กันแล้วล่ะครับ จากบรรดานีโอ 5 รุ่นที่กล่าวไป รถคันนี้เป็นนีโอยุคที่ 1 รุ่น Super NEO 1.6 Auto รถรุ่นนี้มีรหัสตัวถังคือ N16 ซึ่งถึงแม้ว่าจะแปะชื่อว่า Sunny แต่ตัวจริงของมันไม่ใช่ Sunny มันไม่ใช่รุ่นที่พัฒนาต่อมาจาก B14 โฉมพระอาทิตย์ แต่ชื่อที่แท้จริงของมันคือ Nissan Bluebird Sylphy

          จากที่ผมทราบมานั้น ต้องท้าวความย้อนกลับไปในยุคปี 1990 ขณะนั้น Nissan Bluebird เป็นรถขนาดกลาง ทำตลาดแข่งกับ Toyota Corona, Honda Accord, Mitsubishi Galant และคู่แข่งรายเล็กอื่นๆ ในตลาด ซึ่งขณะนั้นคู่แข่งทั้งหมด ออกแบบขนาดตัวถังรถไม่ให้เกินพิกัดที่กำหนด (ยาวไม่เกิน 4.7 เมตร กว้างไม่เกิน 1.7 เมตร เครื่องไม่เกิน 2.0 ลิตร) เพื่อเหตุผลด้านภาษีของรถ แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อตลาดเริ่มต้องการรถที่ใหญ่ขึ้น Honda Accord และ Mitsubishi Galant จึงทำรถรุ่นใหม่ให้ใหญ่เกินพิกัดโดยยอมเสียภาษีแพง (แอคคอร์ดรุ่นแรกที่เกินพิกัดคือรุ่นไฟท้ายก้อนเดียว ปี 1994 และกาแลนต์รุ่นแรกที่เกินพิกัด คือโฉมกาแลนต์อัลติม่า ปี 1992) ส่วนโตโยต้า เลือกที่จะทำ Camry ให้ใหญ่เกินพิกัด และตรึงขนาดของ Corona ไว้ที่เดิม ส่วนนิสสันเองก็คล้ายๆ กันโดยทำ Cefiro ให้ใหญ่เกินพิกัด และตรึงขนาด Bluebird ไว้ที่เดิม

          เมื่อ Corona และ Bluebird ไม่ยอมขยายขนาดตัวเองตามกระแสนิยม จึงตกบัลลังก์ จากเดิมที่เคยได้ชื่อว่าเป็น D-Segment เต็มตัว กลายเป็นรถก้ำกึ่ง CD-Segment ไป และรายการคู่แข่งในตลาดจากเดิมที่เคยเป็น Corona/Accord/Bluebird/Galant ก็กลายเป็น Camry/Accord/Cefiro/Galant แทน และหลังจากนั้นประมาณสิบปี โคโรน่าและบลูเบิร์ดก็ยุติการผลิตไปในที่สุด

          ต่อมา นิสสันทำ Nissan Pulsar รุ่นใหม่ขึ้นมา (ซึ่งเป็นรถขนาด C-Segment ระดับเดียวกับ Civic/Lancer/Corolla) โดยออกแบบให้หรูหราเกินราคา ให้กลายเป็นรถเล็กที่หรูพอๆ กับรถใหญ่ แต่ในขณะนั้นมันยังเป็นเรื่องใหม่ จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงคำว่า "หรูเล็ก" ซึ่งขณะนั้นก็เป็นจังหวะเหมาะที่ Nissan Bluebird กำลังจะถูกยกเลิกพอดี จึงโละชื่อ Pulsar ทิ้งไป ยืมชื่อ Bluebird มา แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า Sylphy กลายเป็นชื่อ Nissan Blurbird Sylphy โดยใช้คำว่า Bluebird สื่อถึงความหรูหรา และใช้ Sylphy สื่อถึงความกะทัดรัด (อารมณ์คล้ายๆ คำว่า Bluebird Mini) ใช้รหัสตัวถังว่า N16

          กลับมาที่เมื่องไทย สยามกลการ เลือกที่จะเลิกใช้บริการ Nissan Sunny ตัวจริง แล้วนำ Bluebird Sylphy มาขายแทน แต่ครั้นจะใช้ชื่อนั้นก็กลัวอะไรสักอย่างขึ้นมา ดังนั้นเฉพาะในประเทศไทย ฮ่องกง จึงโละชื่อ Bluebird Sylphy ทิ้งไป แล้วแปะป้ายใหม่ว่า Sunny NEO

          งง!!!! ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรครับ ผมเองต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจตรรกะการตั้งชื่อของค่ายนี้ ปัจจุบันผมก็ยังเข้าใจไม่หมดเลยครับ นิสสันในช่วงนั้น รถรุ่นเดียวกัน ตัวถังเดียวกัน แต่จับใส่ชื่อมั่วไปหมด ซึ่งในบทความทดลองขับ Nissan Almera คุณ J!MMY ก็ได้เขียนสาธยายความสับสนไว้เหมือนกัน

อ้างจาก: J!MMY
เมามันส์และมึนงงกว่านี้ ก็เคยมีมาแล้ว เช่น การนำ Skyline R31 ไปผลิตขายในออสเตรเลีย ด้วยชื่อ Pintara พอถึงปี 1988 ก็นำBluebird ATTESA U12 ทำตัวถัง Hatchback เป็นพิเศษ มาสวมป้ายชื่อ Pintara ขายต่อ

หรือ ตระกูลรถยนต์ Compact Hatchback เพื่อตลาดยุโรป อย่าง Pulsar ก็เคยขายทั้งในชื่อ Sunny และ Cherry มาแล้วก่อนหน้านี้ ยังไม่นับรุ่นพิเศษ 2 ประตู ที่ชื่อว่า EXA อีกนะ

ตัวอย่างสุดท้ายก็คือชื่อ Laurel อันเป็นรถยนต์ขนาดกลางขับล้อหลัง ที่ยกระดับความหรูจากตระกูล Bluebird อีกนิด ปี 1982 Nissan อยากเพิ่มเวอร์ชันหรู ให้กับ Sunny FF B11 เลยตกแต่งซะพิสดาร เบาะกำมะหยี่อย่างแพง แล้วใช้ชื่อรุ่นว่า Nissan Laurel Spirit (เคยมีเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย เป็นรุ่นพิเศษ 300 คันด้วยนะ!) พอทำขายรวม 2 เจเนอเรชัน ขายไม่ค่อยดี เลยเลิกไป แต่ Nissan ยังไม่เข็ด ยังนำชื่อ Laurel ไปสวมให้กับ Nissan Cefiro A31 สำหรับตลาดในแถบตะวันออกกลางในชื่อ Nissan Laurel Ultima อีกด้วย!!!

          รถคันนี้ มีความยาว 4,470 มิลลิเมตร, กว้าง 1,695 มิลลิเมตร, สูง 1,445 มิลลิเมตร, ความยาวฐานล้อ 2,535 มิลลิเมตร, ความกว้างช่วงล้อ 1,470 มิลลิเมตรที่ล้อหน้า และ 1,450 มิลลิเมตรที่ล้อหลัง ซึ่งจัดว่าค่อนข้างเล็กกว่าคู่แข่งหลายเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่ยาวทะลุ 4500 มิลลิเมตรและมีความยาวฐานล้อ 2600 มิลลิเมตรกัน

          หน้ารถใช้กระจังหน้าโครเมียม ไฟหน้ามัลติรีเฟลกเตอร์ตามปกติของรถยุ่น “พร้อมไฟตัดหมอกหน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่น GL” เป็นสิ่งที่หาได้ยากในรถ C-Segment ในยุคนั้น




          เส้นสายด้านข้างชัดเจนว่าเน้นความหรูหรา รถดูผิดแผกไปจากรถอื่นๆ คือรถดูบวมใหญ่ ในขณะที่รถยุ่นหลายๆ เจ้าในยุค 1990-2000 ตั้งแต่ B จนถึง D Segment ส่วนใหญ่ยังมีสไตล์การออกแบบที่ทำให้รถดูแบนเตี้ย (ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่เล็กเลย) ถึงแม้ว่าอันที่จริงแล้วการออกแบบรถให้บวมใหญ่กำลังเบ่งบานแอบซ่อมอยู่ในแผนกพัฒนารถรุ่นใหม่ของหลายค่ายหลายยี่ห้อ ก่อนจะโผล่มาตูมพร้อมๆ กันในช่วง 1-2 ปีหลังจากการเปิดตัวของนีโอ (ทำให้รถป้ายแดงปี 2002 ดูต่างยุคกับรถปี 2000 ราวกับอายุอานามห่างกันนับสิบปี)


ออฟไลน์ Ji.Cl.

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 680
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 23, 2013, 18:44:01 »
          ทว่า... กระจกมองข้าง ฐานกระจก เป็น พลาส ติก สี ดำ ด้าน



          อุบ่ะ!!! สีดำด้านราวกับกันชนรถในยุค 1980 ฉุดกระชากลากดิกรีความหรูของเส้นสายเสียจมดิน สรุปว่ามันจะหรูหรือไม่หรูฮึ?? ซึ่งนี่คือสิ่งหนึ่งที่จะแยกความแตกต่างของนีโอได้ เฉพาะนีโอยุคแรกเท่านั้นที่จะใช้ฐานกระจกสีดำด้าน ยุคอื่นๆ จะพ่นสีรถมาให้

          มือจับเปิดประตู ยังเป็นแบบง้าง ชุบโครเมียม ต่างจากรถสมัยใหม่ที่เป็นแบบ Grip-Type (ดึง)



          บั้นท้าย ไฟท้ายและทับทิม ดูหรูหรา ออกแนววัยรุ่น ซึ่งส่วนตัวผม มันดูสวยกว่าเจ้าท้ายแตงโม ยุคที่ 3-5 เยอะมาก แต่... ป้ายรุ่น และรุ่นย่อย เป็นแบบคลาสสิก


          กุญแจ นิสสันให้กุญแจรีโมทมาทุกรุ่นย่อย หน้าตาเหมือน Cefiro บนรีโมทมีปุ่มล็อกและปลดล็อกประตู ปุ่มเปิดฝากระโปรงหลัง และปุ่มสีแดงๆ คือปุ่ม Panic เมื่อกดปุ่มนี้ค้างไว้ รถจะส่งเสียงเหมือนบีบแตรดังสนั่น อาจใช้เมื่อหารถไม่เจอ หรือในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ว่า ถ้าท่านมีรถรุ่นที่มีปุ่มนี้ แล้วใช้ปุ่มนี้พร่ำเพรื่อ ท่านอาจได้รับอันตรายจากคนรอบข้างหรือเพื่อนบ้าน



          ล้อแม็ก นีโอทั้ง 5 ยุค ใช้ล้อแม็กขนาด 15 นิ้ว และยางเบอร์มาตรฐานกำหนดไว้เป็น 195/60R15 ลมยางขณะยางเย็น 29 สี่ล้อ แต่ลายล้อแม็กจะเปลี่ยนไปตามยุคและรุ่นย่อย แต่สำหรับนีโอรุ่นแรก ใช้ล้อแม็กลายทึบทุกรุ่นย่อย ซึ่งดูไม่ค่อยเข้ากับรถเท่าไหร่



          เปิดฝากระโปรงท้ายขึ้นมา จะพบช่องเก็บของขนาดไม่ใหญ่เท่าไหร่ และถูกเบียดอีกเล็กน้อยด้วยตู้อ่านแผ่น CD Changer ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป แต่ก็ยังสามารถบรรทุกสัมภาระได้พอประมาณในการใช้งานจริง



          เปิดแผ่นรองขึ้นมาจะพบที่เก็บยางอะไหล่ ไซส์เต็ม 195/60R15 นอนอยู่ เป็นยาง Michelin Vivacy ซึ่งเป็นยางที่ติดรถมาทั้ง 4 ล้อในตอนที่ออกจากศูนย์



          เปิดประตูมาจะพบลายไม้สีอ่อนสะท้อนแวววับมาแต่ไกล การก้าวขึ้น-ลง ถือว่าไม่ยากทั้งบานหน้าหลัง เส้นสายบนบานประตูหลังที่พยายามหลบบริเวณเหนือเบาะนั่งช่วยเอื้อพื้นที่ในการหย่อนก้นได้ดีพอสมควร เท่าที่ใช้มา สมาชิกทุกคนในครอบครัวผมยังไม่มีใครหัวโขกขอบประตูเลย และบานประตูเปิดได้กว้างตามมาตรฐานรถทั่วไป



------------------------------------------------------------------

         ภายใน ประดับตกแต่งหรูหราด้วยลายไม้ ตั้งแต่คอนโซลกลาง เกียร์ ครอบสวิทช์กระจก จนถึงกรอบมือดึงประตู ซึ่งในปี 2000 จนถึง 2001 ครึ่งปีแรก ที่คนไทยยังไม่รู้จัก Corolla ALTIS E120 (ปี01-07) มันเป็นรถที่ตกแต่งภายในได้หรูหราเกินหน้าเกินตารถ C-Segment มากเลยทีเดียว



          ผมเป็นคนที่ชื่นชอบหลงไหลการตกแต่งภายในรถด้วยลายไม้โทนสีเหลือง มากกว่าการตกแต่งแบบเคฟล่า เมทัลลิก หรือกระทั่งเปียโนแบล็กที่หลายคนชอบ รถคันไหนก็ตามที่ตกแต่งลายไม้มักจะทำให้ผมตาลุกวาวได้ (แต่ยกเว้นรถที่ไปหาลายไม้ตามคลองถมมาแปะเองนะครับ)

          อย่างที่เห็นในรูปคือนีโอมาพร้อมการตกแต่งลายไม้ ชดช้อยสวยงามน่ามอง ดูหรูหราน่าสุนทรีย์ ทว่าในการโดยสารและการขับจริง ไม่ได้รื่นรมณ์สุนทรีย์อย่างที่คิดจินตนาการวาดฝันไว้ เพราะรอบตัว นอกจากเบาะแล้ว แทบไม่มีอะไรนุ่มเลย!!!!! ที่เท้าแขนทั้งฝั่งแผงประตูและกล่องเก็บของเป็นวัสดุแข็ง บ่าข้างประตูก็เป็นวัสดุแข็ง (กัดลายสากๆ อีก) คอนโซลหน้าทั้งแผงก็แข็ง รอบตัวมีเพียงเบาะ วงพวงมาลัย (เฉพาะวงนะครับ เพราะฝาแตรก็แข็ง) กับแผงประตูเฉพาะส่วนที่บุผ้าเท่านั้นที่นุ่ม ที่เหลือ เคาะดังก๊อกๆ หมดเลยครับ ดังนั้น ถึงแม้ว่ารถคันนี้เมื่อดูผ่านรูปเผินๆ แล้วน่าขับ แต่พอขับจริงๆ แล้วคุณจะไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่กับท่า Relax ทั้งหลาย แต่จะแฮปปี้กว่ากับท่ามาตรฐานที่ออกเกร็งนิดๆ คนขับก็ขับท่าปกติ คนนั่งก็เลื้อยได้หน่อยๆ






          ดังนั้นถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นผู้โดยสาร หรือมีผู้โดยสาร ที่จะมีความสุขเมื่อได้เอาแขนขาไปแปะยุ่บยั่บทั่วรถ ตรงโน้นแขนนึง ตรงนี้ขานึง




          ผมคิดว่าคุณคงไม่น่าชอบรถรุ่นนี้ครับ

          ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะตรงข้ามใน Tiida และ Sylphy ไม่แน่ใจว่าเพราะโดนด่าจากรถรุ่นนี้รึเปล่า เท่าที่ผมเคยนั่งในรถสองรุ่นนี้ พอหย่อนก้นและปิดประตูผมก็ถูกห้อมล้อมด้วยความนิ่มนวลรอบทิศทางได้ขนาดนั้น

          เบาะนั่งเป็นเบาะหนัง สีน้ำตาล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะยุคที่ 1 สรีระที่นั่งคนขับถือว่าใช้ได้ การรองรับแผ่นหลัง ก้น ต้นขา ผมถือว่าดีมาก รับสรีระผมได้ดี สบาย แต่ยังสู้เบาะกำมะหยี่ไม่ได้ ใครที่มีรถรุ่นเก่าๆ ที่ใช้เบาะกำมะหยี่ (ไม่ใช้เบาะผ้านะครับ กำมะหยี่ต้องขนฟูๆ) น่าจะจำความสบายราวโซฟาบ้านของมันได้ดี แต่ถึงจะเป็นเบาะหนัง มันก็ไม่เมื่อยอย่างที่คิด การขับรถทางไกล สัญญาณความเมื่อยเริ่มมาหลังจากผมขับต่อเนื่องชั่วโมงครึ่งขึ้นไป

         เบาะนั่งคนขับ ปรับสูง-ต่ำได้ แต่จะมีข้อติ คือ กระเป๋าจิงโจ้หลังเบาะคู่หน้า มีข้างซ้ายฝั่งเดียว กระเป๋าจิงโจ้หลังเบาะคนขับไม่มี... ไม่มีแม้แต่ในรุ่น VIP ออกจะกระจอกเกินไปหน่อยสำหรับรถระดับนี้ แต่ก็ยังดีที่เอาไว้ฝั่งคนนั่ง เพราะจะได้เป็นที่พึ่งพิงเก็บของให้คนขับ หยิบจับของได้ง่าย ซึ่งกระเป๋านั่นผมใช้เก็บแผงบังแดดหน้า พอจอดเสร็จก็เอื้อมหยิบง่าย ถ้าใครจะทำกระเป๋าจิงโจ้ข้างเดียวอีก หวังว่าคงไม่มีใครเจ้าไหนเอาไปไว้หลังเบาะคนขับนะครับ และกลางเบาะหลังมีที่เท้าแขนดึงลงมาได้ ซึ่งในยุคที่ 3 เป็นต้นไป บนที่เท้าแขนจะเจาะช่องวางแก้วไว้ให้ พร้อมปิดด้วยลายไม้ แต่นี่เป็นยุคแรก เอาหมอนเปล่าๆ ไป



          แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็มีเรื่องด่าอยู่ดี เกี่ยวกับเบาะหนัง ผมสาบานได้ว่านี่คือเบาะหนังที่ติดตั้งจากโรงงาน และเช็คแล้วว่านีโอทุกคันเป็นแบบนี้ คือ เผยให้เห็นซิป และเทปตีนตุ๊กแกในหลุมใต้ที่เท้าแขนหลังชัดเจน





          บ้าที่สุด!!!!!!!!!!!

          หน้าปัทม์ ชัดเจนว่าออกแนววัยรุ่น (แต่เครื่องไม่วัยรุ่นด้วย) พื้นขาว ตัวอักษรดำ จอแสดงผลดิจิตอลข้างล่าง แสดงผลได้คือแสดงเวลาที่ด้านขวา และด้านซ้ายแสดงระยะทาง Trip A, Trip B, ระยะทางทั้งหมดของรถที่แล่นมา

          พวงมาลัย 4 ก้าน มีถุงลมนิรภัยให้ 1 ลูก

          อันที่จริงแล้ว หลังจากที่ผมอ่านรีวิว Kia Soul ไปแล้ว ก็มีประโยคหนึ่ง ที่ตามหลอนผมไปทุกที่ ทุกครั้งที่ผมนั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถคันใดก็ตามที่เป็นพวงมาลัย 4 ก้าน ประโยคนั้นก็จะผุดขึ้นในหัวทุกครั้งอย่างอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ นั่นคือประโยคที่ว่า
อ้างจาก: J!MMY
พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน หน้าตาเหมือน
ตาแพน Commander CHENG ของเรา กำลังก้มลง พร้อมกับกางแขนออกกำลังกาย .....!!!



          อีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้ คือสวิตช์ใบปัดน้ำฝน ในยุคแรก ทั้งนีโอและอัลเมร่าจะเป็นสวิตช์ปกติ ไม่สามารถตั้งเวลาของจังหวะปัดหยุดได้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น VIP NEO หรือ Almera Young ก็ตาม ตัวปรับตั้งเวลาจังหวะปัดหยุดเริ่มใส่เข้ามาในยุคที่ 2 และใส่มาตั้งแต่รุ่นต่ำสุด GL NEO นะครับ

          หลังคา บุด้วยผ้า แต่ลึกลงไปก็เป็นวัสดุเนื้อก็ยังแข็งอยู่ดี

          แผงบังแดด ฝั่งคนขับไม่มีอะไร แต่ฝั่งคนนั่งมีกระจกแต่งหน้าขนาดใหญ่พร้อมไฟส่องสว่าง

          แผงบังแดดมีการติดสปริงไว้ให้เด้งกลับเองได้ ทำให้เวลาจะพับเก็บแผงบังแดด ไม่ต้องเอื้อมมือส่งขึ้นสุด ผลักไปแค่ครึ่งทางมันก็จะเด้งไปเอง ฟังดูดีนะ แต่.... มันจะไปกระแทกกับแผงเพดานดัง ปั้งงงงงงงงง!!!!!!!!!!!!!!!! ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าวัสดุทำเพดานจะแข็งไปไหน เสียงแผงบังแดดกระแทกเป็นเสียงที่ไม่ควรมีในรถคันใดก็ตาม

          สวิตช์กระจกไฟฟ้า ก็เป็นแบบสมัยปัจจุบัน ไม่ได้แปลกแยกพิสดาร ครอบด้วยลายไม้ มือจับเปิดประตูและกลอนชุบโครเมียม น่าจะเป็นเจ้าแรกของ C-Segment

          คอนโซลกลาง ตกแต่งด้วยลายไม้ กับแผงคอนโซลสีดำ

          แอร์เป็นปุ่มบิดทั้งหมด ตั้งแต่สวิทช์ความเร็วลม ตั้งอุณหภูมิ ส่วนการปิดคอมเพรสเซอร์หรือ A/C Off คือการบิดสวิทช์ตั้งอุณหภูมิไว้ร้อนสุด ไม่เป็นปุ่มกด ไม่มีฟังก์ชั่นแอร์เป่าเท้า ปิดแอร์ 2 ช่องกลางไม่ได้ (ออกจะโบราณไปหน่อยนะครับ) สวิทช์รับอากาศภายนอกแบบรางเลื่อน ปุ่มกดเดียวในแผงแอร์คือสวิตช์ไล่ฝ้า ซึ่งมีระบบตัดการทำงานอัตโนมัติ ป้องกันกระจกร้อนเกินไป นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถของผมคันนี้ยังมีไล่ฝ้าที่ทำงานได้ทุกเส้น แม้เจ้าของเก่าจะวิ่งมา 2 แสนกิโลเมตรแล้วก็ตาม



          เครื่องเสียง นี่คือเครื่องเสียงเดิมจากโรงงาน เป็น Kenwood เป็นวิทยุเทป Full-Logic ดิจิตอลเต็มรูปแบบ พร้อมรีโมทคอนโทรล ใส่เทปแบบเปิดหน้ากาก มีตัวนับเวลาเป็นวินาทีแสดงบนหน้าจอ ลำโพง 4 ตัว คู่หน้าอยู่ที่ตาตุ่ม คู่หลังอยู่บนศีรษะ ซึ่งต่างจากระปัจจุบันที่ลำโพงมักอยู่ที่ตาตุ่มทั้งคู่หน้าและคู่หลัง



          วิทยุเทปที่ให้ หน้าตาดูเหมือนวิทยุซีดี แต่ความจริงคือเป็นวิทยุสำหรับเล่นเทปคาสเซทท์ แต่ได้สร้างฟังก์ชั่นจากโรงงานมาให้สามารถเชื่อมต่อกับตู้ CD Changer ได้ และพิเศษเฉพาะรุ่น VIP NEO, Almera SX และ Almera Young จะติดตั้งตู้ CD Changer ที่ว่ามาเสร็จสรรพจากโรงงาน อยู่บริเวณใต้แผงสวิทช์แอร์ แต่สำหรับ GL NEO และ Super NEO จะสร้างฟังก์ชั่นไว้ให้เฉยๆ ใครอยากติดไปติดเอง ซึ่งเจ้าของเก่าก็ติดมาแล้วเรียบร้อย




          ตู้ CD Changer และวิทยุเทปที่รองรับมัน เป็นออปชั่นหนึ่งของวงการเครื่องเสียงที่โผล่มาในช่วงเวลาสั้นๆ และลาตลาดไปในเวลาไม่กี่ปี ต่างจากวิทยุเทปแบบดั้งเดิม และวิทยุซีดีแบบสมัยใหม่ที่ยืนตลาดมาได้หลายสิบปี เพราะวิธีใช้ที่ออกจะยุ่งยาก คือต้องไปเปลี่ยนแผ่นที่ท้ายรถ กดปุ่มให้กล่องซีดีเด้งออกมา (ชื่อจริงๆ ของกล่องที่ว่า คือ แม็กกาซีน) แล้วก็ถึงสล็อตใส่แผ่นออกมาอีกรอบ ใส่สลอต ใส่กล่องซีดีกลับเข้าไปในตู้ จึงจะฟังเพลงจากซีดีได้ เจ้าของบางคนพยายามลดความยุ่งยากโดยการเอาตู้ไปติดไว้ใต้เบาะแทนที่จะติดไว้บนกระโปรงหลัง (แต่เอาเข้าจริง เผลอๆ จะยุ่งยากกว่าการติดที่กระโปรงหลังนะ มันต้องคลำ)



          สำคัญคือ มันไม่อ่านแผ่น MP3 การจะเขียนแผ่นซีดีเพลงต้องเขียนเป็นแผ่น Audio CD ธรรมดา ซึ่งแต่ละแผ่นจะใส่เพลงได้ไม่เกิน 80 นาที (ถ้าจะเอาตัวเลขละเอียดคือ 79 นาที 57 วินาที สำหรับแผ่นยี่ห้อ PRINCO) ด้วยความไม่สะดวกทั้งปวง เจ้าของจำนวนไม่น้อยจึงหาทางเลือกอื่นๆ เช่น เปลี่ยนเครื่องเสียงทั้งตัว หรืออะไรก็ตาม แต่ผมกลับดีใจที่เจ้าของเดิมคันนี้เลือกการติดตู้ เพราะผมต้องการรถเดิมๆ อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นความเดิมที่ไม่โบราณจนเกินไป ผมยอมแลกกับความยุ่งยากได้ครับ

-----------------------------------------------------------------

          เครื่องยนต์ นีโอ 1.6 ประจำการด้วยเครื่องยนต์รหัส QG16DE เครื่องยนต์หัวฉีด ความจุ 1,597 ซีซี Bore 76 มิลลิเมตร Stroke 88 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด 118 PS หรือ 87 กิโลวัตต์ ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14.6 กิโลกรัมเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที อัตราส่วนกำลังอัด 9.5 รองรับน้ำมันเฉพาะออกเทน 95 เท่านั้น ไม่สามารถเติม 91 ทุกชนิดได้ และยังไม่ใช่รุ่นใหม่พอที่จะเติม E20 หรือ E85 ดังนั้นเครื่องเดิมๆ ที่ไม่ได้ผ่านการดัดแปลง จะเติมน้ำมันได้ 2 ชนิด คือ เบนซิน 95 และแก๊สโซฮอล์ 95 เท่านั้น



          อย่างที่กล่าวไปว่านีโอมีทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ นีโอยุคที่ 1 นี้ มีอัตราทดเกียร์ตามนี้
รุ่นเกียร์ธรรมดา 5 เกียร์
เกียร์1 = 3.333
เกียร์2 = 1.955
เกียร์3 = 1.286
เกียร์4 = 0.926
เกียร์5 = 0.756
ถอยหลัง = 3.214
เฟืองท้าย = 4.176

รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 เกียร์
เกียร์1 = 2.861
เกียร์2 = 1.562
เกียร์3 = 1.000
เกียร์4 = 0.698
ถอยหลัง = 2.310
เฟืองท้าย = 4.072

          แต่รุ่นเกียร์อัตโนมัตินั้น จะทดเกียร์แบบนี้เฉพาะยุคแรกเท่านั้น เกียร์ของนีโอในยุคที่ 2 เป็นต้นไป ปรับอัตราทดเฟืองท้ายจาก 4.072 เป็น 4.342

          เมื่อเกียร์อัตโนมัติและเครื่อง QG16DE มารวมร่างกันนั้น ไม่รู้ว่าใครจะคิดยังไง แต่สำหรับผมแล้ว...

นี่คือผม ตอนขับรถทั่วไป:



และนี่คือผม ตอนขับ Sunny N16:


          มันอืดมาก!!!!!!!!!!!! อืดจริงๆ อืดได้โล่ รับประกันความอืดสุดชีวิต ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเป็นเกียร์ออโต้ตัวแรกก่อนปรับเฟืองท้ายด้วยแล้ว นี่จึงเป็นรุ่น “อืดพิเศษ” คือเป็นรุ่นย่อยที่อืดที่สุด ของรถรุ่นที่ได้ชื่อถึงความอืดเป็นอันดับต้นๆ ในปฐพีอีกทีหนึ่ง ดังนั้น การที่จะครอบครองรถรุ่นนี้ เจ้าของจะต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้พฤติกรรมของรถ และปรับตัวให้เข้ากับมัน เพราะรถจะไม่ตอบสนองตามเท้าเหยียบ ต่อให้เหยียบจนมิด มันก็เร่งไม่ขึ้น เพราะเหตุดังฉะนั้น ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนสไตล์การขับขี่อย่างฉีกแนวไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการเหยียบไปแบบอืดๆ นั่นแหละ กดเบาๆ ออกตัวแบบเต่าๆ ไล่ความเร็วไปแบบเฉื่อยๆ ลดการแซงเปลี่ยนเลน และใช้ความเร็วแบบรถไอติม ผมต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการค้นหาสไตล์การขับที่ทำให้ผมมีความสุขกับรถคันนี้ได้ ยิ่งโดยเฉพาะถ้าใครเคยขับรถดีเซลมาก่อน แล้วหารถนีโอมือสองรุ่นนี้มาคงจะยิ่งใช้เวลาปรับตัวนานมาก

          แต่เมื่อผมใช้เวลาสักพักจนเรียนรู้สไตล์การขับแล้ว ผมกลับพบว่า นีโออืดจริง แต่ความอืดของนีโอนั้นไม่ใช่ความอืดที่น่าหงุดหงิด เพราะสภาพแวดล้อมองค์ประกอบอื่นๆ ในตัวรถ ทั้งความนิ่มนวลของช่วงล่าง ทัศนวิสัยที่โปร่ง การตกแต่งภายในที่สว่างๆ มันทำให้ผู้ขับอารมณ์เย็น และขับไปแบบเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ มันคือรถ “อืด” ที่ทำให้คนขับ “ใจเย็น” ตามมันไป (ต่างจากรถบางรุ่นซึ่งผมเคยพบเจอมา ช่วงล่างดิบ ภายในดำ รุกเร้าให้ซิ่งแต่เครื่องอืด อันนี้จะเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดมาก)

          เมื่ออารมณ์เย็นลง ผมกลับรู้สึกว่าการขับนีโอไปแบบเรื่อยๆ ฟังเพลงเบาๆ กินลมชมวิวรอบทางในนีโอ มันสุนทรีย์ไม่น้อย ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดเฉพาะเมื่อผมขับนีโอเท่านั้น ผมลองไปขับรถคันอื่นแบบนั้น ผมกลับรู้สึกเหมือนมีอะไรอั้นๆ อยู่ในใจ (และในปลายเท้า) ไม่มีความสุขกับการกินลมชมวิวเท่า ปัจจุบัน ผมขับนีโอ จะขับแบบพยายามกดคันเร่งน้อยๆ ให้เกียร์มันค่อยๆ ไล่ขึ้นไปเอง ถ้าเจอทางโล่งบนมอเตอร์เวย์จะขับเต่าๆ อยู่ที่ 100-110 แต่ถ้า 130 ไปแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าไม่มีความสุข ทั้งๆ ที่รถไม่ได้ออกอาการน่ากลัวใดๆ แต่มันไม่มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก

          ดังนั้น อย่าจินตนาการความอืดของนีโอให้เลวร้ายนัก ถึงจะอืดจริงๆ และอืดมากๆ ด้วย ก็เถอะนะ

          แต่สำหรับท่านใดที่อ่านอยู่ แล้วเป็นผู้ปกครองของวัยรุ่นที่ชอบขับรถซิ่งๆ พออ่านตรงนี้แล้วคิดในใจว่า "ซื้อนีโอ 1.6 ให้มันขับดีกว่า" ผมอยากจะบอกว่า มีโอกาสสูงที่นีโอจะประสบความสำเร็จในการทำให้คนๆหนึ่งขับช้าลงและเรียบร้อยขึ้น แต่จะมีผลข้างเคียงอย่างหนึ่งสำหรับคนที่เคยขับซิ่งแล้วจู่ๆ มาเจอนีโอ คือ "ความง่วง" เป็นศัตรูที่ร้ายกาจกับผู้ขับขี่ การขับไปเรื่อยๆ รวมทั้งบรรยากาศที่ผ่อนคลายเกินไปในตัวรถบางทีก็ทำให้คนขับง่วงเอาได้ง่ายกว่ารถคันอื่น บางครั้งผมนอนมาเต็มอิ่มมาขับนีโอก็มีง่วงๆ บ้าง (แต่หากคนขับซดกาแฟวันละถังอยู่แล้ว จะไม่มีปัญหาครับ) ในการขับนีโอมีช่วงเวลาที่ตื่นตัวอยู่กรณีเดียวคือขณะเร่งแซง (ซึ่งจะไม่ใช่แค่ตื่นธรรมดา แต่ตาจะถลนออกมานอกเบ้า เมื่อเวลาผ่านไปสักพักผู้ขับหลายคนอาจจะเลือกที่จะไม่แซงเลยถ้าไม่จำเป็น) ดังนั้น คุณต้องชั่งใจให้ดีว่าระหว่าง "ซิ่ง" กับ "ง่วง" นะครับ

          การใช้รอบเครื่อง ที่เกียร์ 4 รอบเครื่อง 2000 rpm ได้ความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (นีโอรุ่นหลังจะได้ประมาณแค่ 80 เศษๆ) และที่ 2500 rpm จะได้ความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ออฟไลน์ Ji.Cl.

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 680
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ตุลาคม 23, 2013, 18:45:16 »
          ช่วงล่างหน้า เป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัทอิสระตามพิมพ์นิยมของรถสมัยใหม่ทั่วไป แม็กเฟอร์สันสตรัทคือการใช้โชคอัพ หุ้มด้วยสปริง แทนขายึดจับขาหนึ่งของล้อ ทำให้ช่วยประหยัดพื้นที่ได้

          ช่วงล่างหลังคือหัวข้อที่น่าสนใจในรถคันนี้ที่ลูกผสม คือการจับช่วงล่าง 2 ประเภทที่ต่างกันสุดขั้วมายำรวมกัน และพยายามปรับตั้งเพื่อดึงข้อดีจากช่วงล่างทั้ง 2 แบบออกมา นั่นคือช่วงล่างที่เรียกว่า “มัลติลิงค์ บีม” เกิดจากการรวมร่างของ มัลติลิงค์ และ ทอร์ชันบีม มาทำความรู้จักกับช่วงล่างทีละส่วนครับ

          ทอร์ชันบีม เป็นคานยึดเชื่อมล้อ 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน บิดตัวได้เล็กน้อย ผลของมันคือ เมื่อมีน้ำหนักกดลงมา ถ้าเป็นช่วงล่างที่ไม่ใช่คานบิด ล้อจะแบะออกตามน้ำหนักที่กด แต่ช่วงล่างคานบิดที่ยึดล้อไว้กับคานจะออกแรงกดล้อให้ตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา ทุกสถานการณ์ ทำให้ไม่หลุดจากการควบคุมง่ายๆ (เป็นข้อดีในทางวิศวกรรมไม่กี่ข้อของทอร์ชันบีม) แต่ก็จะทำให้ล้อขยับได้น้อย เมื่อมีแรงกระแทกต่อเนื่อง เช่นการวิ่งรูดรางรถไฟ (ถ้าใครบ้าพอจะทำ) หรือการขับรถผ่านถนนที่หลุมเยอะ ทอร์ชันจะแทบไม่ซับแรงสะเทือนเองเลย หน้าที่การซับแรงสะเทือนเป็นหน้าที่ของโชคอัพแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนั้นตัวคานที่เป็นของแข็งยังส่งแรงกระแทกโดยตรงไปที่ล้ออีกฝั่งหนึ่งทันที ทำให้การซับแรงสะเทือนของระบบทอร์ชันบีมถือว่าไม่ดี นอกจากนี้ การที่ล้อไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระต่อกัน ทำให้การตอบสนองขณะขับขี่นั้นไม่ถูกใจคนที่ชอบซิ่งรถสักเท่าใดนัก

          อันที่จริงแล้วส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นช่วงล่างที่ “ชั้นต่ำ” ที่สุด ถ้าค่ายใดเลือกใช้ช่วงล่างทอร์ชันบีม จะทำให้รถเสียเปรียบเรื่องการทรงตัวและการซับแรงสะเมือนไปทันที แต่สามารถตีตื้นได้ถ้าวิศวกรเชี่ยวชาญเทคนิคในการเซตโชคอัพ ก็สามารถทำให้การทรงตัวดีกว่ารถช่วงล่าง “ชั้นสูง” ที่เซตมาไม่ดีได้

          ในทางเศรษฐศาสตร์ ข้อดีของการใช้ช่วงล่างประเภทนี้หลักๆ มี 3 ข้อ คือ ราคาถูก ใช้พื้นที่น้อย และทนทาน ข้อดีสองข้อแรก ทำให้รถขนาดเล็กทุกรุ่นในตลาด ตั้งแต่ Jazz City Yaris Vios และ Ecocar ทุกรุ่นในตลาด “จำเป็น” ต้องใช้ทอร์ชันบีม (ถึงมันจะเป็นช่วงล่างที่ไม่ดีนัก) มิฉะนั้นจะทำให้รถแพงขึ้น และมีภายในที่เล็ก คับแคบเบียดเสียด ส่วนรถขนาดที่ใหญ่กว่านั้นบางเจ้าก็พบการใช้ทอร์ชันบีมเช่นกัน ด้วยข้อดีข้อที่สามคือความทนทานของช่วงล่าง โดยเฉพาะรถที่ต้องการชูจุดเด่นเรื่องค่าบำรุงรักษาต่ำ เช่น Corolla Altis, Nissan Sylphy จึงใช้ทอร์ชันบีม รวมไปถึง Chevrolet Cruze ก็ใช้ทอร์ชันบีมอย่างไม่ทราบเหตุผล? แต่ชดเชยด้วยการเซตโชคอัพอย่างยอดเยี่ยมทำให้รถมีการทรงตัวที่ดี

          มัลติลิงก์ เป็นการใช้แขนหลายๆ แขนยึดจับล้อไว้ รถรุ่นใดที่จะเลือกใช้มัลติลิงก์ ในขั้นตอนการออกแบบจะต้องร่างแบบและคำนวณตำแหน่งของแต่ละแขน รวมถึงค่าต่างๆ ของการเคลื่อนไหวของล้อในขณะใช้งานอย่างเข้มข้นที่สุด ทำให้การตอบสนองในขณะขับขี่ การทรงตัว และการดูดซับแรงสะเทือนมีแต้มต่อสูงที่สุดในบรรดาช่วงล่างทุกประเภท แต่แน่นอนว่า มัลติลิงก์จะมีราคาแพง กินพื้นที่ และความทนทานน้อยกว่า ทำให้ช่วงล่างมัลติลิงก์มักจะพบเฉพาะในรถราคาทะลุล้านขนาดยักษ์ๆ เช่น Accord, Teana เท่านั้น ส่วนรถราคาต่ำกว่าล้านนั้น ก่อนหน้านี้มีน้อย แต่ช่วงหลังๆ ก็เข้ามามากขึ้น ปัจจุบันเท่าที่ทราบมี Lancer EX, Civic FB, Mazda3 นะครับ

          ตามรูปนี้ ที่เห็นเป็นคานท่อนใหญ่ๆ ตรงนั้นไม่ใช่ทอร์ชันบีม แต่เป็นแขนๆ หนึ่งซึ่งยึดจับล้อรถไว้ และจะมีแขนเล็กๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ยึดจับล้อไว้ด้วยเช่นกัน

          อันนี้เป็นภาพช่วงล่างของ Lancer CeDia ตัวซ้ายคือแม็กเฟอร์สันสตรัท นิยมใช้กับล้อหน้า ส่วนตัวขวาคือมัลติลิงก์ที่เรากำลังสนใจ

          เมื่อดูรายละเอียดของช่วงล่างทั้งสองแบบ ก็ถึงเวลาจับยำแล้วครับ มัลติลิงก์ บีม ที่นิสสันพยายามโฆษณาหนักหนา คือการใช้ช่วงล่างทั้ง 2 แบบ ยัดลงไปในรถคันเดียวกัน



          ก้มดูใต้ท้องรถ จะเห็นคานเบ้อเริ่ม แสดงตัวตนชัดเจนว่าเป็นทอร์ชันบีม แต่ถ้าไปดูตรงใกล้ๆ ล้อ แทนที่จะโล่งๆ เห็นแค่โช๊คกับสปริงเหมือนในทอร์ชันบีมปกติ มันกลับแตกแขนขาระโยงระยางออกมา ตรงส่วนนั้นล่ะครับคือมัลติลิงก์

          ในทางทฤษฎี มันส่งผลอะไร? ก็ต้องตอบว่า ในเวลาเข้าโค้ง ส่วนดีของทอร์ชันบีมจะออกมา คือถ่วงลมดุล กระจาย ส่งต่อแรงกด และบังคับล้อให้ตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา ทำให้หน้าสัมผัสระหว่างยางกับพื้นดีขึ้น ท้ายไม่ปัด แต่เมื่อวิ่งบนถนนซึ่งขรุขระ มัลติลิงก์ก็จะออกโรงกลบข้อเสียของทอร์ชันบีม โดยการให้ตัว และซับแรงสะเทือนไว้ที่ตัวส่วนหนึ่ง แรงสะเทือนที่หลุดรอดไปจากมัลติลิงก์ จะถูกกลบด้วยโชคอัพ และบูชยาง ทำให้การโดยสารนุ่มนวลและตอบสนองใกล้เคียงรถช่วงล่างมัลติลิงก์แท้ๆ ซึ่งเท่าที่ทราบ นอกจากนีโอแล้ว ก็มี Cefiro A32, Cefiro A33 ที่ใช้ช่วงล่างแบบเดียวกันนี้

          อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองรถคันนี้ว่าเป็นช่วงล่างแบบทอร์ชันบีมอยู่ดี เพียงแต่มีมัลติลิงก์มาเป็นตัวช่วยเสริมเล็กๆ แค่นั้น ไม่ว่าจะมองมุมไหน มันก็ไม่ใช่ช่วงล่างอิสระ ไม่ต้องตั้งศูนย์ล้อครับ

          ในหัวข้อเรื่องช่วงล่าง ผมพบว่าโบรชัวร์ที่นิสสันทำออกมานั้น ไม่ได้ผ่านการคัดกรองเท่าที่ควร เพราะกราฟิกของรถขณะเข้าโค้ง โยนตัวผิดข้าง



          แต่ในการใช้งานจริง ช่วงล่างหลังจึงนุ่มนิ่มดีครับ แต่เมื่อไรเจอลูกระนาดจะเด้งเหมือนม้าพยศ ไปไหนมาไหนเวลาเจอลูกระนาดต้องแตะเบรกมากๆ เลยทีเดียว สาดโค้ง รถโยนมากกว่าที่หวังไว้กับช่วงล่างแบบนี้เล็กน้อย แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในขั้นดีมาก เข้าโค้งได้รวดเร็ว ทะมัดทะแมง ไม่มีเสียงยางร้อง เป็นรองแลนเซอร์ซีเดียเพียงรุ่นเดียว โดยรวมผมจัดว่าดีกว่าซีวิค ES และอัลติสหน้าหมูอยู่มาก

          พวงมาลัยพาวเวอร์แบบไฮโดรลิกส์ ซึ่งนี่คือจุดที่ผมชอบ คือระยะฟรีพวงมาลัย และความหนืดของพวงมาลัยในช่วงระยะฟรีนั้นดีมาก บางครั้งผมเอื้อมมือไปใส่เทป 1-2 วินาที เงยหน้ากลับมาแล้วรถยังวิ่งอยู่ในแนวเดิม ไม่เกยเลนชาวบ้าน ถือว่าดีมาก แต่น้ำหนักพวงมาลัยหลังพ้นระยะฟรีไปแล้วนี่สิ... จะเบาไปไหน เบาเป็นปุยนุ่น จุดนี้ผมไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก เพราะเวลาเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูงๆ เนี่ย มือมันหวิวๆ นะครับ

-----------------------------------------------------------------

          เบรก นีโอรุ่น GL จะใช้ดิสก์เบรกหน้า ดรัมเบรกหลัง ไม่มี ABS ส่วนรุ่น Super และ VIP จะได้ดิสก์เบรก 4 ล้อ การทำงานของเบรก ผมรู้สึกว่าเบรกควรจะสามารถสร้างแรงเบรกได้มากกว่านี้อีกสักหน่อยนะครับ ผมรู้สึกเหมือนกำลังขับรถหนักที่เบรกเล็กอยู่ ทำให้ไม่มั่นใจในการเบรกเท่าที่ควรถ้าขับเร็วๆ แต่เนื่องจากการใช้งานทั่วไปผมขับไม่เร็วนัก อีกทั้งมีระบบ ABS ไว้คอยช่วย โดยรวมผมจึงไม่มีปัญหากับเบรกเดิมโรงงานของรถรุ่นนี้ แต่คนที่เท้าหนัก (แต่ซื้อนีโอมาเพื่อเปลี่ยนเครื่องใหม่) ผมคิดว่าควรจะไปทำเบรกใหม่ครับ

          ความปลอดภัย ตัวถังรถคันนี้เป็นเหล็ก เหล็กจริงๆ ในขณะนั้นมีการโฆษณาว่าเหล็กตัวถังมีความแข็งและปลอดภัยได้มาตรฐานสูงสุด จากหน่วยงานเพื่อความปลอดภัยทางถนนของประเทศญี่ปุ่น ในการใช้งานจริงเท่าที่เคยเห็นอุบัติเหตุของนีโอ ก็พบว่าเหล็กแข็งดีจริง การยุบตัวของชิ้นส่วนน้อยกว่ารถคู่กรณี (ถ้าคู่กรณีเป็นแท่งปูน การยุบตัวก็น้อยกว่าที่คิดประเมินจากรอยครูด) การปกป้องผู้โดยสารและคนขับทำได้ดี แต่ว่า เทคโนโลยีที่เก่ากว่าก็คือเทคโนโลยีที่เก่ากว่า ในการทดสอบ Crash Test อย่างเป็นทางการของหน่อยงานแถบโลกตะวันตก ผลการทดสอบกลับดูงั้นๆ มาก ลองพิจารณาดูได้จากคลิปนี้


          จริงอยู่ว่าการชนนั้นแรงกระแทกไปไม่ถึงคนขับ แต่ว่า... เสา A ยุบ กระจกเกือบแตก มันก็ไม่ได้ถือว่าปลอดภัยเลิศเลออะไรนัก แต่ก็ไม่ด้อยกว่าใคร เพราะอย่าลืมว่านี่คือรถที่อายุ 12 ปีแล้ว ถ้าย้อนไปดูผลการทดสอบรถ C Segment ระดับเดียวกันในยุคเดียวกัน ทั้ง Civic ES, Altis E120, Lancer Cedia จะพบว่าการปกป้องผู้โดยสารไม่ดีเท่า NEO

-----------------------------------------------------------------

          มาถึงหัวข้อสุดท้ายคือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คนมักจะกล่าวถึงนีโอในเรื่องนี้ราวกับเป็นหลุมดำ สวาปามสูบกินน้ำมันอย่างดุเดือดไม่สิ้นสุด มาดูกันว่าจริงไหม ในการขับของผม คือการขับบนเส้นทางการจราจรจริงๆ จากการใช้งานจริงๆ คือการขับไปเรียน-ขับกลับ ระหว่างบ้านผมที่อยู่บางนากับม.เกษตร เป็นระยะ 1 ถังเต็ม รถที่ผมเคยทำในลักษณะเดียวกันนี้ก็มี Honda Civic EF ทำได้ 12.55 กิโลเมตรต่อลิตร และ Toyota Corona AT171 เครื่อง 1.6 ลิตร ทำได้ 8.90 กิโลเมตรต่อลิตร (เครื่อง 1.6 ทดสอบได้ไม่ถึง 9 คงยืนยันได้อย่างดีว่านี่ไม่ใช่การทดสอบที่ให้ตัวเลขเกินจริงแต่อย่างใด นี่คือการทดสอบบนการใช้งานจริงๆ นะครับ)

          ว่าแล้วก็เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จนหัวจ่ายตัด อัดเพิ่มเพื่อปัดเศษอีก 10 บาท ที่ราคาน้ำมัน 37.63 บาทต่อลิตร วิ่งไปจนหมดถัง ก็เติมน้ำมันที่ปั๊มป์เดิม โดยยังมีราคาน้ำมันเท่าเดิมที่ 37.63 บาท ผลปรากฎว่า หัวจ่ายตัดหลังจากเติมน้ำมัน 1436.7 บาท



          แต่ว่าตอนเติมน้ำมันครั้งที่แล้ว หลังจากหัวจ่ายตัด ผมอัดน้ำมันเพิ่มไปอีก 10 บาทเพื่อเป็นการปัดเศษ ซึ่งผมต้องการรวมจำนวนนี้เข้าไปด้วย เพราะผมต้องการวัดปริมาตรน้ำมันที่เติม “จากหัวจ่ายตัด ถึงหัวจ่ายตัดครั้งต่อไป” ดังนั้นจึงถือว่าน้ำมันใช้ไป 1446.7 บาท คิดเป็นปริมาตรน้ำมัน 38.445 ลิตร ระยะทางที่วิ่งไปทั้งหมด 556.3 กิโลเมตร



          คิดเป็นอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.47 กิโลเมตรต่อลิตร ในเมือง!!!!!!!!!!!!! เป็นรถที่ประหยัดน้ำมันที่สุดที่ผมเคยสัมผัสมาในชีวิต มันช่างตรงข้ามกับสิ่งที่ผมเคยได้ยินมาอย่างสิ้นเชิง หลายคนที่บอกว่าเขาได้แค่ 8-9 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้นเอง แต่ว่าทำไมผมได้ตั้ง 14 กว่าๆ ขนาดนี้? อันที่จริง ผมคิดว่าผมมีคำตอบ

          ต้องย้อนไปในช่วงแรกๆ ที่รับรถคันนี้มา สองถังแรก กินน้ำมันมาก ประมาณ 9-10 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้น แต่หลังจากนั้นผมก็เริ่มพบตัวเองว่าสองถังนั้นผมขับแบบตะบี้ตะบันเหยียบเพราะไม่เคยชินกับอัตราเร่งที่อืดได้โล่ขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มปรับพฤติกรรม ลดการเร่งแซง ปรับจังหวะการขับขี่ใหม่ทั้งหมด รวมถึงเริ่มเช็คเจอสภาพจุดอ่อนในรถและจัดการซ่อมมันไปทีละจุดจนเสร็จ ถังต่อๆ มาผมก็เริ่มทำอัตราสิ้นเปลืองได้สูงขึ้น 10 11 12 ขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาเสถียรที่ 14-15 กิโลเมตรต่อลิตรดังที่รายงานอยู่นี้ (แต่ผมเคยเจอคนที่ทำได้ถึง 17 ในชีวิตจริงนะ)

          เครื่องและเกียร์ของนีโอนั้น จะไม่สามารถตอบสนองอัตราเร่งได้ จนกว่ามันจะคิกดาวน์ แต่มันจะไม่แสดงอาการตื้อ อื้อ หรือส่งเสียงใดๆ ให้ผู้ขับรู้ว่าอืด เพราะฉะนั้น ในจังหวะการออกตัว รวมถึงการเร่งความเร็ว เมื่อไรที่มันอืด คนขับมักจะกดลึกเกินจำเป็นโดยไม่รู้ตัว เครื่องจะสูบกินน้ำมันเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพื่อเค้นกำลังออกมาเพิ่มอีก ซึ่งก็เพิ่มได้น้อยนิด สู้ถอนคันเร่ง เหยียบคันเร่งให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำให้รถวิ่งเพิ่มความเร็วได้จะดีกว่า และพยายามอย่าเปลี่ยนเลนถ้าไม่จำเป็น หรือจังหวะการเร่งแซงก็ควรรอจังหวะที่ “กว้าง” กว่าที่เคยใช้กับรถคันเดิมประมาณ 2 เท่าตัว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเหยียบมิดมากนัก ถ้าถนนโล่งก็ขับสัก 110-120 พอแล้ว

          หรือพูดง่ายๆ ขับแบบใจเย็น เรื่อยๆ ไม่เร่ง ไม่เร็ว อัตราสิ้นเปลือง 14.47 กิโลเมตรต่อลิตรในเมือง ไม่ยากเกินไปนัก และคุณจะมีความสุขกับค่าน้ำมันที่ถูกลง และเห็นโลกในอีกแบบหนึ่ง คือการขับกินลมชมวิวไปเรื่อยๆ สวมวิญญาณโชเฟอร์รถลีมูซีนของพ่อของประธานบริษัท รวมกับการตกแต่งภายในและอารมณ์ของรถแล้วมันใช่ มันเข้ากันครับ

-----------------------------------------------------------------

          ปัญหาที่พบจากการใช้นีโอ ตลอดหนึ่งปีที่ใช้มา ปัญหาหลักๆ ที่สำคัญมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ โคมไฟหน้าและไฟท้าย นีโอในยุคที่ 1 และ 2 พยายามออกแบบโคมไฟเพื่อให้เจ้าของสามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย จึงออกแบบเขี้ยวยึดต่างๆ ไว้อ่อนแอ และกว้างเกินไป ผลคือ ขับไปขับมา ลงมาดูอีกทีโคมหายครับ =='' พบพบปัญหานี้มาด้วยตนเองแล้วในช่วงหนึ่งปีเศษนี้ แต่นีโอยุคที่ 3 เป็นต้นไปได้แก้ไขปัญหานี้แล้ว

          อีกอย่างคือเรื่องเกียร์ ซึ่งจะเป็นเฉพาะรถยุคที่ 1 ที่ออกแบบเฟืองท้ายไว้ไม่ดี รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ส่งผลให้เกียร์พังไว ขณะรับรถมารถคันนี้มีไมล์ประมาณ 200,000 กิโลเมตรเศษ เจ้าของเก่าบอกไว้ว่าเคยเปลี่ยนเกียร์มาแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งปัญหานี้ไม่เกิดกับรถยุคที่ 2 เป็นต้นไป

          เซนเซอร์ต่างๆ เป็นอีกจุดที่ควรจะดูแล และคอยเช็คให้ดี รถคันนี้จะออกอาการเพี้ยนทันทีที่มีเซนเซอร์ตัวใดเพี้ยนไม่ส่งสัญญาณ

-----------------------------------------------------------------

          ถ้าคุณกำลังหารถมือสอง คู่แข่งของมันมีจุดเด่นและจุดด้อยอะไร?

*Mitsubishi Lancer Cedia เท่าที่ได้สัมผัสรถเพื่อนมา ผมยกเรื่องความหนึบและนุ่มของช่วงล่างให้ซีเดียเป็นอันดับหนึ่ง เป็นรถที่ผมขับแล้วมีความสุข ฟินมากแม้ที่เคยขับจะเป็นรุ่น 1.6 ก็ตาม วัสดุดีน่าสัมผัส แต่อย่าลืมถึงข้อเสียจากการเป็นรุ่นแรกของเกียร์ CVT ในเมืองไทย ซึ่งก็มีปัญหาการซ่อมบำรุงกันเนืองๆ และอะไหล่ไม่ถูกนัก

*Honda Civic ES Dimension ช่วงล่างไม่น่ารื่นรมย์เท่าไรนัก ย้วยและเด้ง ไม่แฮปปี้นักทั้งคนนั่งและคนขับ ออปชั่นก็งั้นๆ เครื่องก็เฉยๆ แต่การซ่อมบำรุงเชื่อถือได้มากกว่า ความจุกจิกน้อยกว่า

*Toyota Corolla Altis E120 ช่วงล่างมหาย้วยแต่ไม่เด้ง ทำไว้เพื่อโดยสารเท่านั้น ในฐานะคนนั่งผมชอบช่วงล่างของรุ่นนี้มาก แต่ในฐานะคนขับผมไม่ชอบใจนัก แต่มีข้อดีที่ออปชั่นเยอะชนะเลิศขาดลอย

*Nissan Sunny NEO ช่วงล่างนุ่มหนึบแต่เด้ง เอาใจคนขับและคนนั่งอย่างละครึ่ง ดีเป็นรองๆ จาก Lancer ตัวถังแข็งกว่า ปัญหาความจุกจิกมีบ้างแต่ไม่เยอะเท่า Cedia แต่เครื่อง และวัสดุห้องโดยสารนี่มัน....

          สรุปขั้นสุดท้าย คือ ถึงจะน่าหงุดหงิดไปกับอัตราเร่งและวัสดุ แต่ตอนนี้ ผมถือว่าผม “พอใจมาก” ครับ เพราะทำให้ผมเห็นอีกด้านหนึ่งของบุคลิกรถ วันไหนอยากสนุกก็หยิบกุญแจ EF ไปขับ วันไหนอยากสัมผัสอารมณ์อีกด้านหนึ่ง กินลม ชมวิว เฉื่อยๆ อย่างมีความสุขก็หยิบ NEO ไปขับ ข้อเสียเล็กน้อยเรื่องวัสดุที่แข็งนั้นเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ ความทนทานของเครื่องยนต์และช่วงล่างถือว่าพอใช้ รวมไปถึงค่าน้ำมันที่ไม่แพงนัก สีภายในที่สว่างตากว่า รวมถึงอารมณ์โดยรวมที่สัมผัสได้ ถ้าคุณเข้าถึงอารมณ์ของรถมันจะเป็นรถที่สร้างความสุขในการขับขี่ไม่น้อยเลยทีเดียว


========= จบ =========

ออฟไลน์ Highway Star

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,934
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: ตุลาคม 23, 2013, 19:24:13 »
เคยนั่งอยู่หนนึงครับ มันอืดได้โล่จริงๆ แต่ว่าช่วงล่างมันก็นั่งนุ่มสบายนะ ผมว่ามันเหมาะเป็นรถจ่ายกับข้าวของผู้สูงอายุมากครับ
ขอบคุณที่เอามารีวิวให้ดูครับ เขียนได้ดีมากครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 23, 2013, 21:32:00 โดย birmax »

ออฟไลน์ PREM

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 4,190
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: ตุลาคม 24, 2013, 21:17:47 »
อ่านเพลินดีครับ รู้ทั้งประวัติแล้วก็รายละเอียดครบเลย
เพิ่งรู้ว่ามันมีการเปลี่ยนยิบย่อยขนาดนี้
2014 Mazda CX-5 2.5 S
2016 Volvo XC60 D4 
2019 Honda Jazz RS+
2020 Volvo V60 T8 Inscription
2022 Mazda CX-30 SP

ออฟไลน์ Biteonehand

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 137
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: ตุลาคม 24, 2013, 21:57:34 »
ข้าน้อยขอคารวะเทพจั๊กครัชชชช
ซื้อรถใหม่(หรือเก่าหว่า?) ไม่เห็นบอกเลย อิอิ

ออฟไลน์ jumpon77

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,372
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: ตุลาคม 25, 2013, 21:22:09 »
ชีอSunny NEOหรีอครับยินดีกับรถใหม่ครับบ
http://facebook.com/jumpon.hiranyanon
https://twitter.com/jumpon77     คุยได้นะครับ.
 Corolla Altis 1.8 E MT MY2008 Corolla Altis 1.6 J AT my2011 Isuzu D-MAX Spark my2003

ออนไลน์ Destiny_gun

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 372
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2013, 11:06:29 »
สุดยอดมากกกเลยครับ แม่ผมใช้ตัว 1.6 เหมือนกัน แต่เกียร์ธรรมดานะครับ สำหรับผมมันไม่ได้อืดเลยนะ แต่อาจจะเพราะใีตัวหนักที่ค่อยข้างหนัก ด้วยละมั้ง??? ระวังปัญหาอีกอย่างของรถอายุเยอะๆอย่างนี้คือช่วงล่างครับ เพราะเลข 2แสนโลแล้ว แปลว่าต้องเคยมีประวัติการซ่อมมาแล้วแน่นอน

ออฟไลน์ kudos

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 54
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2013, 11:17:06 »
 ;) full review รถมือสองเลยครับ
No Thing.

ออฟไลน์ archian

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,100
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: ตุลาคม 26, 2013, 11:25:11 »
ข้อมูลแน่นมาก   ขอบคุณครับ  ^^

ออฟไลน์ Bboomboom

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 174
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: ตุลาคม 27, 2013, 20:03:10 »
;) full review รถมือสองเลยครับ

ข้อมูลแน่นมากครับ รถเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้ง  ;D ;D

ออฟไลน์ nithiyod

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 518
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: ตุลาคม 29, 2013, 09:33:00 »
ขับเก่งมาก ยกนิ้วให้เรื่องคุมความประหยัด

ออฟไลน์ pandanoi

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 6
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: มกราคม 01, 2014, 19:10:06 »
ขอบคุณสำหรับ Review ครับ อ่านสนุกมากเลยครับ

ออฟไลน์ Gigabright

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 41
    • FB/IG: Gigabright Chongsukphatthee
    • อีเมล์
Re: Nissan Sunny N16 Super NEO 1.6 A/T 2001:Think Ahead
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2014, 15:16:05 »
ขอบคุณสำหรับรีวิวคับ ผมได้รู้จักรถตัวเองเยอะขึ้นมาก(ๆๆๆ)เลย  ;D
'80 BMW 316 E20
'96 BMW 318i E36
'04 Nissan Sunny Neo 1.8Super Neo
'05 Nissan Sunny Neo 1.6GL Neo (Sold)
'07 Nissan Teana 230JS
'09 Chevrolet Optra 1.6LS A/T (Sold)
'12 Nissan Tiid 1.6S Hatchback
'14 Nissan Sylphy 1.6SV