ไปขุดข่าวปี 2009 มาครับไม่รู้จะยังเนตามนี้อยู่ไม๊
ข่าวในประเทศ - จังหวะเหมาะ-เงื่อนไขลงทุนเข้าทาง จับตา! โฟล์คสวาเกน เอจี ทุ่มหมื่นล้านดันไทยฐานผลิตแห่งใหม่ หลังบีโอไอเปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ใหม่ จัดแพกเกจพิเศษสุดล่อใจให้เข้ามาลงทุน แต่เงื่อนไขดูเหมือนปิดประตูรายเก่าที่อยู่ในไทย จัดให้เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่เท่านั้น แม้โฟล์คสวาเกนจะเคยชักเข้าชักออกไทยหลายรอบ แต่คราวนี้โอกาสเปิดมากกว่า อีโคคาร์ เสียอีก และยิ่งดูความเคลื่อนไหวคู่ค้าสำคัญ คอนติเนนทอล และ ZF ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของยุโรป เพิ่งจะพากันตัดริบบิ้นเปิดโรงงานในไทยอย่างเป็นทางการ แถมข่าวลือสะพัดภาครัฐและบีโอไอจับเข่าคุยกับโฟล์คสวาเกนมาแล้ว ทำให้โฟกัส 1 ใน 2 ราย ที่รับคำสนใจลงทุน ต่างพุ่งไปที่เบอร์หนึ่งค่ายรถเมืองเบียร์ทันที
ด้วยยอดขายระดับ 6.3 ล้านคันทั่วโลกในปี 2551 เป็นรองเพียงแค่ โตโยต้า กับ จีเอ็ม ที่สำคัญผลประกอบการยังออกมาแบบฟันกำไรสูงสุดเป็นประวิติการณ์ 4,700 ล้านยูโร หรือประมาณ 235,000 ล้านบาท และแม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่โฟล์คสวาเกนแห่งเยอรมนี ยังมั่นใจในศักยภาพว่าไม่เกิน 9 ปีนับจากนี้ จะขึ้นแท่นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก!
เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่งของยุโรป ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยียานยนต์และเงินทุน (มีปอร์เช่ถือหุ้นเกิน 50%) เล็งแผนเพิ่มกำลังผลิตในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน หรืออเมริกาใต้ ขณะเดียวกันในแถบอาเซียน โฟล์คสวาเกนก็ไม่ละทิ้งความสำคัญเช่นกัน เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามเจรจากับรัฐบาลในหลายประเทศแถบนี้ เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อป้อนตลาดในประเทศ พร้อมส่งออกไปในทั่วเอเชียแปซิฟิก
ในไทยแม้โฟล์คสวาเกน ยังออก ลูกกั๊กพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการไม่ตัดสินใจลงทุนขึ้นไลน์ผลิตปิกอัพในไทย รวมถึงการไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ (ด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี) แต่การที่โฟล์คสวาเกนยังไม่เลือกฐานผลิตแห่งใหม่ในภูมิอาเซียน นั่นจึงยังไม่ใช่การตัดไทยออกจากตัวเลือกแต่อย่างใด เพียงอาจจะรอเงื่อนไข หรือโครงการที่ให้สิทธิ์ประโยชน์คุ้มกับการลงทุนเท่านั้น
ดังนั้นการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ (10 มิ.ย.) เห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ขึ้นใหม่ ภายใต้เงื่อนไขต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท สร้างไลน์ผลิตรถยนต์ใหม่ และเป็นรถที่ใช้เทคโนโลยีใหม่(อาทิ ไฮบริด, ไฟฟ้า หรือพลังงานทดแทน) มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 100,000 คันต่อปี ภายใน 5 ปีแรก โดยต้องยื่นโครงการภายในปี 2553 ทั้งยังเปิดเผยอีกว่ามีผู้ประกอบการสนใจแล้ว 2 ราย
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ค่ายรถยนต์ จะได้รับหากเข้าร่วมโครงการนี้ คลอบคลุมทั้งยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี หากมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปี หากมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะตั้งในเขตใด ทั้งนี้ ให้ได้รับเพิ่มเติมอีก 1 ปี หากยื่นคำขอภายในปี 2552
เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการลงทุน ที่วางระดับเม็ดเงินไว้มหาศาลกว่า 10,000 ล้านบาท ที่สำคัญต้องยื่นของส่งเสริมภายในปี 2553 ก็พอจะมองได้ว่าด้วยเงื่อนเวลาและเงินลงทุน คงยากที่ผู้ผลิตรถยนต์ในไทย(รายเดิม) จะเข้าโครงการ ส่วนหนึ่งเพราะได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโปรเจกต์อื่นๆไปมากแล้ว รวมถึงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและตลาดรถซบเซาคงมีสภาพคล่องทางการเงินจำกัด และที่สำคัญยังมีการบ้านใหญ่อย่างอีโคคาร์ รออยู่เต็มๆ...
ดังนั้นน่าจะสรุปว่า โปรเจ็กต์นี้ไม่ใช่เรื่องของค่ายรถที่ดำเนินธุรกิจอยู่เดิม แต่เป็นเรื่องของน้องใหม่ล้วนๆ และนั่นจึงทำให้ทุกสายตา...โฟกัสไปที่ค่าย โฟล์คสวาเกน
ประเด็นนี้ วัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยกับ ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง ว่า เดิมรัฐบาลและ บีโอไอ มีการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจรถยนต์ อยู่ 3 ประเภทหลักคือ 1. โครงการอีโคคาร์ที่ถือว่าเงื่อนไขหินสุด เพราะบังคับทั้งเงินลงทุน สเปครถ และจำนวนผลิต แต่ก็ได้สิทธิประโยชน์สูงสุด อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้ฯ 8 ปี รวมถึงเก็บภาษีสรรพสามิต อัตราพิเศษเพียง 17%
2.โครงการรถยนต์นั่ง ที่ไม่ได้กำหนดสเปก แต่ต้องมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท พร้อมได้สิทธิประโยชน์อย่างยกเว้นภาษีเงินได้ฯ 5 ปี (แต่ไม่ได้ภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ) ซึ่งโครงการนี้ เอเอที (ฟอร์ด-มาสด้า)ขอรับไปเรียบร้อย และ 3. โครงการผลิตรถยนต์ทั่วไป ที่ต้องมีเงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท( อาทิ โครงการไอเอ็มวีของโตโยต้า) ซึ่งไม่ถูกยกเว้นภาษีเงินได้ฯ แต่ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร
ส่วนโครงการที่เพิ่งออกมาล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นประเภทที่ 4 นั้น บีโอไอมองว่า ในวิกฤตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์โลก หลายค่ายรถยนต์ชั้นนำ ต่างเล็งย้ายฐานการผลิตใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน จึงต้องเปิดขึ้นมาอีกประเภทเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน เพื่อไม่ให้ค่ายรถมองเพียงแค่จีนและอินเดียเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการลงทุนที่ต้องผลิต 100,000 คัน ภายใน 5 ปี จะไม่กำหนดว่าจะต้องทำเพียงรุ่นเดียว(ต่างจากอีโคคาร์ และบีคาร์ของฟอร์ด-มาสด้า) เพราะอาจจะผลิตหลายรุ่นรวมกัน และหนึ่งในนั้นจะต้องเป็นรถรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ก็ได้
ช่วงนี้หลายค่ายอยากย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ โดยมีจีนและอินเดีย เป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่กระนั้นการลงทุนในสองประเทศนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตและรองรับความต้องการในประเทศเท่านั้น เนื่องจากตลาดมีความใหญ่มาก ขณะที่ไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทักษะแรงงาน ศักยภาพของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่เป็นรองใคร รวมถึงการได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ดังนั้นคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าไทยพลาดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของค่ายรถต่างชาติไป วัลลภกล่าว
แหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยกับ ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่งว่า กว่าจะได้กรอบประเภทกิจการประกอบรถยนต์ขึ้นใหม่ ทางรัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบและบีโอไอได้เริ่มเจรจากับทางโฟล์คสวา เกน เอจี ไปบ้างแล้ว และการประกาศสิทธิประโยชน์ครั้งนี้ จะถือเป็นการสร้างความมั่นใจและ เร่งให้การตัดสินใจง่ายขึ้น
นอกจากนี้ในการเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ของโฟล์คสวาเกนในไทย นับว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะวานนี้(16 มิ.ย.) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลกสัญชาติเยอรมันอย่าง คอนติเนนทอล จีที เพิ่งทำพิธีเปิดโรงงานมูลค่า 5,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง อย่างเป็นทางการ และในสัปดาห์ถัดไป บริษัทผู้ผลิตระบบส่งกำลังชั้นนำของโลก ZF ก็เตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่เช่นกัน
โดยทั้งคอนติเนนทอล และ ZF ถือเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายสำคัญของยุโรป และเป็นคู่ค้าสำคัญของโฟล์คสวาเกนมาโดยตลอด การเคลื่อนไหวของผู้ผลิตชิ้นส่วนคู่บุญ จึงเสมือนกับการขยับของโฟล์คสวาเกนนั่นเอง?!