Twin-turbo และ Bi-turbo ความเหมือนที่แตกต่าง
เครื่องยนต์เทอร์โบสมรรถนะสูงระดับหัวแถวจากหลายสำนัก ปัจจุบันเปิดเผยออกมาแล้วว่า ใช้เทอร์โบมากกว่า 1 ตัว
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขนาดเทอร์โบที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่เมื่อเราสำรวจเอกสารจากบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ
ก็มีคำถามตามมาอีก คำว่า Twin-turbo และ Bi-turbo มันต่างกันตรงไหน..!?!
ในเมื่อ Twin มันก็แปลว่า คู่ ส่วน Bi ก็หมายถึง สอง ความหมายแบบไทย ๆ มันก็น่าจะเหมือนกัน
ในที่สุดเราก็หาคำตอบได้ ทั้ง Twin-turbo และ Bi-turbo ต่างกันที่การจัดวาง หรือการจัดเรียงเทอร์โบ
Twin จะเป็นการเล่นกับเทอร์โบต่างขนาด ส่วน Bi จะเป็นการใช้เทอร์โบขนาดเท่ากันจำนวน 2 ตัว
Twin-turbo เป็นการนำเทอร์โบขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มาวางต่อกัน ตัวเล็กทำงานในรอบต่ำ และตัวใหญ่ทำงานในรอบสูง
ทั้ง 2 เทอร์โบจะอัดอากาศไปรวมกันที่ท่อร่วมไอดี (Intake Manifold) ก่อนที่จะแจกจ่ายไปยังกระบอกสูบต่าง ๆ
Bi-turbo แตกต่างที่จะแบ่งเทอร์โบแยกออกไปตามจำนวนกระบอกสูบเลย เช่น เครื่องยนต์ V6 สูบ เทอร์โบตัวแรกรับผิดชอบ 3 กระบอกสูบฝั่งซ้าย
เทอร์โบตัวที่สองรับผิดชอบอีก 3 กระบอกสูบฝั่งขวา ทั้ง 2 เทอร์โบ จะเป็นอิสระในการทำงานต่อกัน เทอร์โบรับไอเสียมาจากกระบอกสูบไหน
ก็อัดอากาศเข้าสู่กระบอกสูบนั้น การทำงานของเทอร์โบที่จัดวางในลักษณะนี้จึงต้องเสถียรพอ (Stable)
เพราะต้องสร้างสมดุลในการรับไอเสียและอัดอากาศให้เท่ากันแบบเป๊ะ ๆ ทั้ง 2 ฝั่ง และเพื่อรับประกันความเสถียรในการทำงานของเทอร์โบ 2 ตัว
เครื่องยนต์ V6 เทอร์โบใน GT-R จึงใช้แนวคิดที่แยบยลกว่า เทอร์โบตัวซ้ายจะรับแรงดันไอเสียจากห้องเผาไหม้ฝั่งซ้าย
แล้วอัดอากาศไปเข้า อินเตอร์คูลเลอร์ตัวที่ 1 เพื่อลดอุณหภูมิ เพิ่มความหนาแน่นของมวลอากาศ ก่อนส่งอากาศแรงดันสูงไปเข้าห้องเผาไหม้ฝั่งขวา
เช่นเดียวกัน เทอร์โบตัวขวา จะรับแรงดันไอเสียจากห้องเผาไหม้ฝั่งขวา แล้วอัดอากาศไปผ่าน อินเตอร์คูลเลอร์ตัวที่ 2
ก่อนส่งอากาศแรงดันสูงไปเข้าห้องเผาไหม้ฝั่งซ้าย หรือสรุปสั้น ๆ เทอร์โบตัวซ้ายอัดอากาศเข้าห้องเผาไหม้ข้างขวา
เทอร์โบตัวขวาอัดอากาศเข้าห้องเผาไหม้ข้างซ้าย เป็นการสมดุลแรงดันเทอร์โบทั้ง 2 ตัวแบบง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งเอามาก ๆ
การพัฒนาเครื่องยนต์เทอร์โบ ไม่ได้หยุดเพียงแค่ Twin-turbo หรือ Bi-turbo ในรถสมรรถนะจัดจ้าน มีให้เห็นแล้วทั้ง Tri-turbo และ Four-turbo
การใช้เทอร์โบ 3 ตัว Mercedes เคยซุ่มพัฒนาใช้กับขุมพลังดีเซลที่ตระเตรียมประจำการกับรถสปอร์ตในสังกัด (ประมาณ SLK-Class และ SL-Class)
การทำงานใช้หลักการเดียวกับ Twin-turbo เพียงแต่นำเทอร์โบตัวที่สามมาช่วยเพิ่มความต่อเนื่องในการตอบสนองของเครื่องยนต์
ส่วนการใช้เทอร์โบจำนวน 4 ตัว คงผ่านหูผ่านตามาบ้างใน BUGATTI Veyron 16.4 เจ้าคันนี้ใช้เครื่องยนต์ W16 สูบ
ใช้การจัดวางเทอร์โบในลักษณะ Bi-turbo คือ เทอร์โบ 1 ตัว รับผิดชอบ 4 สูบ แบบ 4 สูบใคร 4 สูบมัน
ผลลัพธ์ที่ออกมานะหรือ หึ..หึ...เริ่มต้นที่ 1,001 แรงม้า กับความเร็วปลายกว่า 407 กม./ชม. เท่านั้นเอง
ที่มา
http://racingweb.net ครับ
ข้อมูลเรื่องเทอร์โบ ครับ
http://www.headlightmag.com/webboard2011/index.php?topic=20084.0