« ตอบกลับ #5 เมื่อ: ธันวาคม 22, 2011, 05:02:23 »
ต้องแยกประเภทให้ออกครับ เพราะที่ถามมามันใช้คนละวัตถุประสงค์กัน
1. HID ย่อมาจาก High Intensity Discharge เราเรียกกันว่าหลอดไฟ "ประเภท" HID
ซึ่งสาเหตุก็เพราะวิธีการกำเนิดแสงของหลอดไฟชนิดนี้ คล้ายกับหลอด Fluorescence หรือที่เราเรียกกันว่าหลอดนีออน
คือใช้ประจุไฟฟ้ากำลังสูงจากสองขั้วที่อยู่ใกล้กันในหลอดแก้ว แล้วทำให้ก๊าซซีนอนกำเนิดเป็นแสงขึ้นมาครับ
และเพราะก๊าซภายในหลอดแก้วเป็นก๊าซซีนอน คนถึงเรียกกันว่า "หลอด Xenon" กันจนเกลื่อน มั่วไปเป็น Zenon ก็มี
หลอดไฟ HID เอาไว้ใส่ในโคมไฟหน้า เพื่อส่องสว่างในตำแหน่งไฟต่ำ
ปัญหาที่ไม่ได้เอาไปใส่โคมไฟสูงในช่วงแรกแรก ก็เพราะหลอด HID ใช้เวลานานกว่าจะให้ความสว่างเต็มที่
คิดคิดแล้วก็เหมือนไฟถนนที่เป็นสีส้มส้มนั่นแหละครับ ถ้าไฟสูงติดช้าสว่างช้า เวลาเรายกไฟสูงให้ทาง
หรือยกไฟสูงให้สัญญาณ กว่ามันจะสว่างวาบขึ้นมา เราก็คงผ่านจุดนั้นไปแล้ว เอาง่ายง่ายว่ามันไม่ทันใช้
ดังนั้น รถรุ่นแรกแรกที่ใส่ไฟ HID มาจากโรงงาน จะเป็น HID ที่ไฟต่ำ และฮาโลเจนที่ไฟสูง
แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น มีวิธีการเร่งประจุให้หลอด HID สว่างเร็วขึ้น
ก็เริ่มมีการใช้หลอด HID ในตำแหน่งไฟสูงด้วย แต่ต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพง
ที่ทำให้หลอด Xenon สว่างวาบขึ้นอย่างรวดเร็ว และสว่างเต็มที่ในเวลาอันสั้น
วิธีการที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน ก็คือ Bi-Xenon
นั่นคือมีหลอดเดียวนั่นแหละ เวลาเปิดปกติจะอยู่ที่ตำแหน่งไฟต่ำ
แต่พอเรากดก้านยกไฟสูง ชุดแม่เหล็กที่ก้นหลอดจะขยับหลอดให้ถอยหลังมาระยะหนึ่ง
โดยที่จุดกำเนิดของแสงนั้น จะตรงกับตำแหน่งที่โคมไฟออกแบบมาไว้ให้สะท้อนไฟสูงพอดี
แสงจากหลอดเดิมที่เคยแผ่กว้างและเรียบเป็นไฟต่ำ ก็จะกลายเป็นแสงพุ่งตรงเป็นลำไปข้างหน้าเป็นไฟสูงครับ
บ้านเราชอบเรียกกันว่า "หลอดสไลด์" ก็เพราะเวลากดไฟสูงแล้ว หลอดมันจะเด้งเข้าเด้งออกได้นั่นเอง
ข้อดีของหลอด HID ก็คือ ให้แสงที่มีความเข้มของแสงสูง ทำให้เห็นวัตถุชัดเจนกว่า
แสงปกติ เป็นแสงที่ใกล้เคียงกับสีจากแสงของดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นวัตถุได้เป็นธรรมชาติ
นี่ว่ากันระดับ 4,300K นะครับ ไม่ใช่ 6,000 8,000 12,000 22,000K อะไรพวกนั้น
ข้อดีอีกอย่างคือ ในเมื่อหลอดมันไม่มีไส้ มันก็ทนทานกว่าหลอดฮาโลเจนแบบเดิมเดิม
ข้อเสีย เนื่องจากมันมีความเข้มของแสงมาก และตำแหน่งกำเนิดแสงก็ไม่ได้ตรงกับหลอดฮาโลเจนทั่วไป
ดังนั้น มันต้องใช้ร่วมกันกับโคมที่ออกแบบมาให้เท่านั้น การนำหลอด HID ไปใส่โคมไฟฮาโลเจน
แล้วบอกว่ากดต่ำต่ำก็ไม่แยงตาชาวบ้าน มันไม่ใช่ครับ เพราะยังไงแสงก็ยังฟุ้งแยงตาอยู่ดี
เป็นคำพูดของคนไม่ค่อยรับผิดชอบมากกว่า ยกเว้นว่าคุณจะก้มโคมไฟจนกลายเป็นรถไฟ pop-up
ม้วนลงไปใต้ฝากระโปรงนั่นล่ะ แล้วค่อยมาบอกละกันว่าไม่แยงตา....
2. Daytime Running Light (ไม่ใช่ Daylight อันนั้นหมายถึงแสงเปรียบเสมือนแสงอาทิตย์ครับ)
เป็นไฟที่ในอเมริกา หรือประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศแย่นั้นบังคับใช้มานานแล้ว ถ้างงว่าคืออะไร
ให้คิดว่ามันคือ ไฟหน้ามอเตอร์ไซค์ ที่เปิดอัตโนมัติทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่อง และมันก็ทำหน้าที่แบบเดียวกันจริงจริง
ในสมัยก่อน รถอเมริกันทั้งหลายจะมีโคมไฟสีส้มอยู่ในไฟหน้า แยกออกมาจากไฟต่ำและไฟสูง
ไฟนี้จะติดตลอดเวลา (เหมือนอีซูซุดีแมกซ์เปิดไฟหรี่) เพื่อเป็นจุดสังเกตให้กับเพื่อนร่วมทางในเวลากลางวัน
บางคันถ้าไม่มีโคมไฟแยก ก็จะใช้หลอดไฟสูงบ้าง ไฟต่ำบ้าง แต่หรี่ความสว่างลง เหมือนใส่ Dimmer switch เข้าไป
พอรถเริ่มพัฒนามา อีไฟแบบสีส้มอำพัน หรือเหลืองแจ๋แจ๋เหมือนหลอดไฟใกล้พังมันก็ไม่สวยงาม
บริษัทรถเลยเริ่มสรรหาวิธีการเพิ่มความสวยงามกับไอ้ไฟนี่ กลายเป็นไฟวงแหวน CCFL ของ BMW
ย่อมาจากคำว่า Cold Cathodes Fluorescent Lighting วิธีการทำงานหาเอาเองนะครับ ผมไม่ทราบเหมือนกัน
แล้วก็เริ่มกลายมาเป็นหลอด LED ที่ใส่อยู่ตาม Porsche, Mercedes, Nissan GT-R และอีกสารพัดแม้กระทั่ง Ssangyong Stavic
หลอดพวกนี้ ถ้าติดตั้งจากโรงงาน มันจะมีความสว่างค่อนข้างมาก เพื่อสู้กับแสงอาทิตย์ตอนกลางวันแสกแสก
แต่พอพลบค่ำ เมื่อมีการเปิดไฟหรี่หรือไฟต่ำ หลอดพวกนี้ก็จะหรี่ความสว่างลง ให้เป็นแสงอ่อนอ่อน ไม่แยงตา
ดังนั้น พวกเอามาติดเอง แล้วติดกันมั่วซั่ว มักจะกลายเป็นว่าเป็น DRL ตอนกลางวันจริง แต่พอตกกลางคืน
กลายเป็นไฟกวนประสาท แยงตาคนอื่น หรือบางคนทะลึ่งไปติดเป็นไฟแทนไฟตัดหมอกไปเสียอีก
ซึ่งมันคนละเรื่อง การกระจายแสงก็คนละแบบ แต่รับรองว่าแยงตาชาวบ้านเป็นยิ่งนัก
3. รถญี่ปุ่นที่มีไฟ DRL
มีเพียบครับ เห็นชัดชัดตอนนี้ก็ GT-R 2012 จุดใหญ่ใจความมันไม่เกี่ยวกับว่ารถสัญชาติไหน
แต่มันเกี่ยวกับว่ารถคันนั้นจะถูกส่งไปขายที่ไหนครับ ถ้ากฎหมายในรัฐหรือประเทศนั้น ระบุว่าต้องมี DRL
ก็ต้องมีครับ รถที่อเมริกานี่ Civic, Camry, Accord อะไรก็มีทั้งนั้นครับ