ผู้เขียน หัวข้อ: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg  (อ่าน 8341 ครั้ง)

ออฟไลน์ yodtao

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 5
บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 19:36:10 »
ผมเห็นว่าน่าสนใจดี เลยลองแปลมาให้อ่านกันนะครับ ผิดพลาดตรงไหนบอกได้นะครับ เดี๋ยวตามมาแก้ให้  :)
ใครถนัดภาษาอังกฤษ สามารถเข้าไปอ่านต้นฉบับได้ที่ลิ้งค์นี้ครับ
Sixty Million Car Bombs: Inside Takata’s Air Bag Crisis


คาร์บอมบ์ 60 ล้านคัน: รายงานพิเศษวิกฤตถุงลมนิรภัยของ Takata
เรื่องราวความล้มเหลวของบริษัทที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์คร่าชีวิตและการเรียกคืนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัตศาสตร์วงการยานยนต์

2 มิถุนายน 2016
โดย ซูซาน เบอร์ฟิลด์, เครก ทรูเดล, มาร์กาเร็ต โครนิน ฟิสก์, เจฟ พลันจิส
จาก Bloomberg Businessweek

คาร์ลอส โซลิส (Carlos Solis) กำลังขับรถไปบนเส้นทางประจำระยะทางไม่กี่ไมล์จากบ้านของเขาไปยังอพาร์ทเมนต์ของน้องชายนอกเมืองฮุสตันในวันอาทิตย์ของเดือนมกราคมปีที่แล้ว พร้อมกับลูกพี่ลูกน้องของเขานั่งไปข้างๆ และสุนัขอีกหนึ่งตัวบนเบาะหลัง ขณะที่กำลังเลี้ยวเข้าสู่อพาร์ทเมนต์ รถยนต์ Honda Accord ปี 2002 ของเขาก็ถูกชน แต่เป็นแค่การชนที่ความเร็วต่ำที่ทำให้รถเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถุงลมนิรภัยด้านหน้าทั้งสองใบกางออก ลูกพี่ลูกน้องของโซลิสลงมาจากรถโดยที่ไม่เป็นอะไรเลย แม้แต่สุนัขของเขาก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ แต่โซลิสกลับไม่ขยับ เขาได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในตอนแรกนั้นยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ลูกพี่ลูกน้องของเขาโทรเรียก สก็อต (Scott) น้องชายของโซลิส ซึ่งรีบวิ่งมาที่รถทันที สก็อตพยายามห้ามเลือดที่กำลังไหลออกจากบาดแผลลึกที่คอของโซลิส หน่วยกู้ชีพที่เพิ่งมาถึงก็พยายามทำเช่นเดียวกัน แต่ความพยายามนั้นไร้ผล โซลิสเสียชีวิตภายในที่เกิดเหตุ

ผลการชันสูตรศพ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกศาลในปัจจุบัน ระบุว่ามีเศษโลหะทรงกลมขนาดประมาณลูกพัคฮ็อคกี้พุ่งออกมาจากถุงลมนิรภัยของรถยนต์ Accord เฉือนลำคอของโซลิสเข้าไปฝังอยู่ระหว่างกระดูกก้านคอและหัวไหล่ โลหะชิ้นนี้ตัดหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำที่คอและทำให้หลอดลมของเขาฉีกขาด โซลิส ซึ่งเป็นพ่อของลูกวัยรุ่นสองคน เสียชีวิตในวัย 35 ปี โดยเป็นเหยื่อรายที่ 6 ในสหรัฐอเมริกาที่เสียชีวิตเนื่องจากการระเบิดของถุงลมที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Takata


ชุดจุดระเบิด (Inflator) ของถุงลมนิรภัย Takata ซึ่งทำงานในปี 2014 ทำให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตเนื่องจากเศษโลหะ
ที่มา: Didier Law Firm P.A.


-----------------------------
สองสัปดาห์หลังจากการเสียชีวิตของโซลิส ภรรยาของเขาจึงได้รับจดหมายแจ้งการเรียกคืนถุงลมนิรภัย การเรียกคืนครั้งแรกของ Takata เกิดขึ้นเมื่อเจ็ดปีก่อนหน้านั้นในปี 2008 โดยจำกัดอยู่ที่ถุงลมนิรภัยในรถยนต์ของ Honda ประมาณ 4,000 คัน หลังจากนั้น ได้มีความพยายามในการเรียกคืนเพิ่มขึ้นอีก 20 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และถือเป็นการเรียกคืนครั้งใหญ่ที่สุดและซับซ้อนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา การเรียกคืนครั้งนี้ครอบคลุมถุงลมนิรภัยจำนวนมากกว่า 60 ล้านชุดในรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ตั้งแต่ BMW, Ford, Honda, Tesla, Toyota และยี่ห้ออื่นๆ อีก 12 ยี่ห้อ หรือเท่ากับมีการเรียกคืนรถยนต์เป็นจำนวนหนึ่งในห้าคันจากรถยนต์ทั้งหมดที่ยังมีการใช้งานอยู่ในสหรัฐอเมริกา การเรียกคืนครั้งนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อรถยนต์อีกมากกว่า 100 ล้านคันทั่วโลก เศษวัสดุจากอุปกรณ์ถุงลมนิรภัยได้คร่าชีวิตคนไปแล้ว 13 ราย โดย 10 รายอยู่ในสหรัฐฯ รวมทั้งยังทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 100 ราย

การสอบสวนโดยวุฒิสภาและการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้นำไปสู่การเปิดเผยเอกสารของบริษัทที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารของ Takata เพิกเฉยต่อข้อกังวลจากพนักงานของบริษัทเอง รวมถึงมีการปกปิดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายไม่ให้ Honda ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัท รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ทราบอีกด้วย โฆษกของ Takata แถลงผ่านทางอีเมลว่า “ปัญหาเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่สะท้อนจากเอกสารบางส่วนที่คณะกรรมการวุฒิสภานำมาอ้างอิงและถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้และทางบริษัทจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นหรือปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำอีก” แต่ปัญหาดังกล่าวนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้ชุดจุดระเบิดถุงลมนิรภัยแตกออก ทางบริษัทปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม

Takata และบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยสามปีในการผลิตถุงลมนิรภัยให้มีจำนวนเพียงพอสำหรับนำมาเปลี่ยนแทนถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง สารเคมีที่นำมาใช้ในถุงลมนิรภัยเป็นสาเหตุที่ทำให้อุปกรณ์ของ Takata มีความเสถียรน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ซึ่งนั่นหมายความว่า มีผู้ใช้รถยนต์อีกนับล้านยังคงต้องใช้รถยนต์ที่อาจมีถุงลมนิรภัยที่ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง

-----------------------------
บริษัท Takata ก่อตั้งขึ้นโดยตระกูลทาคาดะในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยเป็นบริษัทผลิตผ้าที่รับงานผลิตร่มชูชีพให้กับกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาในปี 1960 Takata ได้เริ่มผลิตเข็มขัดนิรภัยให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหัวเรือในการขยายตัวทางอุตสาหกรรมของประเทศในขณะนั้น Takata เป็นเพียงบริษัทเดียวที่สามารถผลิตเข็มขัดนิรภัยผ่านมาตรฐานการทดสอบการชนของหน่วยงานบริหารทางด้านความปลอดภัยทางจราจรบนถนนหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHTSA: National Highway Traffic Safety Administration) ในปี 1973

ไม่กี่ปีหลังจากนั้น Honda ได้ขอให้ทาง Takata ลองศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตถุงลมนิรภัย โดยทาง Honda มีการถือหุ้นของ Takata อยู่เล็กน้อย ทำให้ทั้งสองบริษัทมีการร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด เมื่อ Honda เปิดโรงงานใหม่ในอังกฤษ Takata เองก็เปิดโรงงานใหม่ขึ้นในไอร์แลนด์ และเมื่อ Honda เปิดประตูเข้าสู่ตลาดในประเทศจีน Takata เองก็ก้าวเดินเคียงคู่กันไปด้วยเช่นกัน “ทั้งสองบริษัทเดินเคียงคู่กันมาติดๆ ในการยึดครองตลาดทั่วโลก” สก็อต อัพแฮม ซึ่งเคยทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Takata ในเมืองออเบิร์นฮิลส์ (Auburn Hills) รัฐมิชิแกนตั้งแต่ปี 1994 ถึง 1996 กล่าว ในปัจจุบันเขามีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Valient Market Research ถึงแม้ว่า Honda จะแสดงความกระตือรือร้นอย่างมากในส่วนของถุงลมนิรภัย แต่จูอิชิโระ ทาคาดะ (Juichiro Takada) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อจากพ่อของเขาในปี 1974 กลับลังเล ถุงลมนิรภัยกางออกโดยอาศัยการระเบิดแบบควบคุม การออกแบบถุงลมนิรภัยใช้พื้นฐานเดียวกันกับจรวดและกระสุนปืน ซาบุโระ โคบายาชิ (Saburo Kobayashi) อดีตวิศวกรของ Honda เขียนถึงความกังวลของทาคาดะเอาไว้ในบันทึกชีวประวัติเมื่อปี 2012 “ถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับถุงลมนิรภัยขึ้นมา Takata จะต้องล้มละลาย” นี่คือคำพูดของทาคาดะจากในหนังสือฉบับนี้ “เราไม่สามารถที่จะข้ามสะพานที่เต็มไปด้วยอันตรายแบบนี้ได้” แต่ในที่สุด ทาคาดะก็ยอมถอย

การกางออกของถุงลมนิรภัยไม่ได้เกิดจากการอัดด้วยอากาศ แต่เกิดจากการอัดด้วยก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของสารขับดัน (Propellant) สารขับดันนี้ถูกนำมาใช้กับเครื่องบินเจ็ทเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน รวมถึงภายในรังเพลิงของปืนและในการขุดเหมืองและการระเบิดทำลาย สารขับดันของถุงลมนิรภัยจะถูกอัดเป็นเม็ดขนาดเท่ายาแก้ปวด ซึ่งบรรจุอยู่ภายในท่อโลหะที่เรียกว่าชุดจุดระเบิด (Inflator) เมื่อเกิดการชน เม็ดสารขับดันจะถูกจุดชนวนและแปลงสภาพจากของแข็งกลายเป็นก๊าซ ซึ่งจะปะทุออกจากชุดจุดระเบิดเข้าสู่ถุงลมในเวลาเพียงไม่กี่มิลลิวินาที กฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดให้รถยนต์ทุกคันต้องติดตั้งระบบถุงลมนิรภัยนับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมาและหน่วยงานรัฐได้มีการระบุว่าถุงลมนิรภัยสามารถช่วยรักษาชีวิตคนเอาไว้ได้มากถึง 2,500 รายในแต่ละปี ถึงแม้จะมีจุดประสงค์ในการรักษาชีวิตเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ถุงลมนิรภัยแตกต่างจากยารักษาโรคก็คือ ถุงลมนิรภัยนั้นไม่มีขั้นตอนกระบวนการรับรองใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

“รถยนต์หนึ่งคันมีส่วนประกอบประมาณ 10,000 ชิ้น” อัพแฮมกล่าว “ถุงลมนิรภัยน่าจะเรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ซับซ้อนที่สุด ซับซ้อนมากกว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยซ้ำ” ถุงลมนิรภัยต้องมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาเพียงพอที่จะติดตั้งไว้ภายในพวงมาลัยและพื้นที่แคบส่วนอื่นๆ รวมทั้งยังต้องสามารถกางออกด้วยแรงที่เหมาะสมพอดีอีกด้วย บรรดาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสารขับดันมักจะเป็นสาเหตุให้สำนักงานสิทธิบัตรแทบจะไม่มีเวลาว่าง พวกเขามักจะคิดค้นสูตรใหม่ๆ ที่ให้ประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ราคาถูกลงอยู่เสมอ และแน่นอนว่าแต่ละสูตรนั้นเป็นสูตรเฉพาะของแต่ละบริษัท บริษัทผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายใหญ่ของโลกทั้งห้าบริษัทต่างก็มีการพัฒนาคิดค้นสารประกอบทางเคมีเป็นของตัวเอง

ในการผลิตวัตถุระเบิดให้ได้ผลดีที่สุด สถานที่ผลิตจะต้องมีความชื้นต่ำ Takata เริ่มผลิตชุดจุดระเบิดถุงลมนิรภัยในสหรัฐอเมริกาในปี 1991 ณ โรงงานในเมืองโมเสสเลค (Moses Lake) รัฐวอชิงตัน โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับฐานทัพอากาศเก่าของสหรัฐฯ ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาคาสเคด (Cascade Range) ซึ่งมีอากาศแห้งเนื่องจากมีลักษณะเป็นที่ราบสูง Takata ร่วมทุนกับบริษัทที่มีชื่อว่า Rocket Research และเมื่อดูเหมือนว่าธุรกิจนี้จะไปได้ดี Takata จึงซื้อหุ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ มาร์ค ลิลลี่ (Mark Lillie) วิศวกรสารขับดันที่เริ่มทำงานกับ Takata ในปี 1994 กล่าว เขาได้ออกมาเปิดเผยถึงประสบการณ์การทำงานที่บริษัทแห่งนี้ “บริษัทลงทุนหลายร้อนล้านดอลลาร์ไปกับโรงงานนี้” เขากล่าว “Takata ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะตามตลาดให้ทันและแย่งส่วนแบ่งตลาดมาให้ได้โดยชูจุดเด่นในด้านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ทันสมัย เราเติบโตเร็วมาก เร็วจนน่ากลัว แต่ก็น่าตื่นเต้นด้วยเหมือนกัน”

สารขับดันรุ่นแรกของ Takata มีพื้นฐานมาจากสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปเรียกว่า โซเดียมเอไซด์ (Sodium Azide) ซึ่งได้มาจากสูตรที่กองทัพพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการปล่อยตอร์ปิโดและขีปนาวุธ อย่างไรก็ตาม การทำงานกับโซเดียมเอไซด์ภายในโรงงานนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นสารที่เกิดการระเบิดได้ง่ายเมื่อสัมผัสโดนอากาศ แสง หรือการกระแทก สารนี้เป็นพิษต่อร่างกายเมื่อสูดดม รวมทั้งยังทิ้งเศษตกค้างไว้ภายในรถหลังจากที่ถุงลมกางออกอีกด้วย ดังนั้น บริษัทส่วนใหญ่ที่เคยใช้สารนี้จึงมองหาตัวเลือกอื่นที่จะนำมาทดแทน

สารขับดันรุ่นที่สองของ Takata เริ่มถูกนำมาใช้ในปี 1996 โดยมีพื้นฐานมาจากสารเคมีที่เรียกว่า เททราโซล (Tetrazole) ซึ่งปลอดภัยกว่าโซเดียมเอไซด์ แต่ให้ประสิทธิภาพในระดับเดียวกัน ทีมนักวิจัยตั้งชื่อรหัสให้กับสูตรนี้ว่า 3110 โดยบริษัททำตลาดสารตัวนี้ในชื่อ Envirosure Takata เป็นรายแรกที่นำเททราโซลมาใช้ สารเคมีตัวนี้ช่วยให้บริษัทได้ลูกค้าใหม่อย่าง Ford และ General Motors ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เททราโซลคุณภาพสูงนั้นมีอยู่จำกัดและมีราคาแพง “ปริมาณสินค้าที่ Takata ทำสัญญาไว้กับลูกค้านั้นมากเกินกว่าที่สายการผลิตวัตถุดิบในขณะนั้นจะรองรับไหว” ลิลลี่กล่าว “วัฒนธรรมของบริษัทก็คือ ให้คำสัญญากับลูกค้าไปก่อน จากนั้น ค่อยมาเร่งหาวิธีทำให้ได้ตามสัญญาทีหลัง”

เมื่อครั้งที่ทาคาดะแวะเยี่ยมโรงงานในเมืองโมเสสเลคในปี 1997 เขาได้พาทีมผู้จัดการโรงงานไปเลี้ยงมื้อเย็นเพื่อเป็นการขอบคุณที่ทุกคนช่วยให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าได้ตามโควต้าแม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ลิลลี่เล่าว่า ทาคาดะเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ทุกคนฟัง: ครั้งหนึ่งในอดีต ทีมนักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ทดลองปลูกวาซาบิภายในห้องแล็บและฟาร์มทดลอง ซึ่งถึงแม้ว่าต้นวาซาบินั้นจะงอกงามดีแต่กลับไร้ซึ่งรสชาติใดๆ ต้นวาซาบิในธรรมชาติมักจะเติบโตอยู่ตามหน้าผาสูงชัน ซึ่งในที่สุด ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบว่า “ความเครียด” ที่เกิดกับต้นวาซาบินั้นคือสิ่งที่ทำให้เกิดรสชาติเฉพาะตัวขึ้น ลิลลี่เล่าต่อว่า “จากนั้น จูอิชิโระก็หันมาที่กลุ่มของเราแล้วพูดว่า: ‘พวกคุณนี่แหละคือต้นวาซาบิ! คุณผ่านเรื่องยากๆ พวกนี้มาได้ และนั่นคือสิ่งที่จะทำให้คุณแข็งแกร่งยิ่งขึ้น!’ ”

-----------------------------
Takata ยังมีศูนย์วิจัยย่อยที่มีชื่อว่า Automotive Systems Labs (ASL) ใกล้กับเมืองดีทรอยต์ โดยศูนย์แห่งนี้มีหน้าที่ในการพัฒนาสูตรสารขับดันที่มีราคาถูกลงและผลิตได้ง่ายกว่า Envirosure ซึ่งจะช่วยให้ถุงลมนิรภัยมีขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบาลง “ASL ทดสอบสารประกอบเคมีทุกชนิดที่มนุษย์รู้จัก” อัพแฮมกล่าว และหนึ่งในนั้นคือสารที่เรียกว่า แอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) ซึ่งเป็นสารเคมีทำระเบิดเชิงพาณิชย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดโดยให้แรงระเบิดเทียบเท่ากับไดนาไมต์ ทิโมธี แมคเวห์ (Timothy McVeigh) [ผู้ก่อการร้ายชาวอเมริกัน] ใช้สารเคมีชนิดนี้จำนวน 2,000 ปอนด์เพื่อวางระเบิดอาคารที่ทำการรัฐบาลกลาง อัลเฟรด พี. เมอร์ราห์ (Alfred P. Murrah) ในรัฐโอคลาโฮมาในปี 1995



อัพแฮม ผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลสิทธิบัตรด้วยเช่นกัน ให้ข้อมูลว่า แอมโมเนียมไนเตรทนั้นมีราคาเพียงหนึ่งในสิบของเททราโซล แต่อย่างไรก็ตาม แอมโมเนียมไนเตรทมีข้อบกพร่องสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายอื่นๆ เลือกที่จะใช้สารเคมีชนิดอื่น: แอมโมเนียมไนเตรทเป็นสารที่มีห้าสถานะ ซึ่งแต่ละสถานะจะมีความหนาแน่นแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การรักษาสารชนิดนี้ให้อยู่ในสภาพที่เสถียรเมื่อเวลาผ่านไปจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สารขับดันที่ทำจากแอมโมเนียมไนเตรทจะมีการบวมและหดตัวตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งทำให้เม็ดสารขับดันสลายตัวเป็นผงเมื่อเวลาผ่านไป น้ำและความชื้นจะยิ่งส่งผลให้กระบวนการสลายตัวเร็วยิ่งขึ้น สารขับดันในรูปผงจะเผาไหม้ได้เร็วกว่าในรูปเม็ด ดังนั้น สารขับดันที่สลายตัวแล้วจึงอาจทำให้ถุงลมนิรภัยกางออกรุนแรงเกินไป การระเบิดแบบควบคุมจึงแปลงสภาพกลายเป็นการระเบิดที่ไร้ซึ่งการควบคุม “บริษัทอื่นทุกแห่งเลือกเดินบนถนนสายเดียวกัน มีแต่ Takata เท่านั้นที่เลือกถนนอีกเส้นหนึ่ง” โจเชน ซีเบิร์ต (Jochen Siebert) ผู้ที่ติดตามวงการอุตสาหกรรมถุงลมนิรภัยมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 และมีตำแหน่งในปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการของ JSC Automotive Consulting กล่าว “ถ้าคุณได้ลองอ่านเอกสารการประชุมจากช่วงนั้น คุณจะเห็นทุกคนพูดเหมือนกันว่า ‘ไม่ๆ คุณไม่ควรเลือกถนนสายนี้ มันอันตรายมาก’ ”



เมื่อลิลลี่และวิศวกรคนอื่นๆ ของโรงงานในเมืองโมเสสเลคเข้าประชุมร่วมกับเพื่อนร่วมงานจาก ASL ในเดือนธันวาคมของปี 1998 เพื่อตรวจสอบถุงลมนิรภัยแบบใหม่ที่ใช้แอมโมเนียมไนเตรท ลิลลี่เล่าว่า เขาและวิศวกรคนอื่นๆ ได้รับแจ้งว่าปัญหาความเสถียรทางสถานะได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาตัดสินใจไม่อนุมัติการออกแบบดังกล่าว เนื่องจาก ASL ไม่สามารถที่จะให้หลักฐานทางเอกสารเพื่อยืนยันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งนั่นเป็นคำให้การในฐานะพยานของลิลลี่เมื่อเดือนมกราคม ปี 2016 ในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก Takata และ Honda “ไม่มีหลักฐานใดๆ ไม่มีผลการทดสอบใดๆ ไม่มีรายงานการทดสอบใดๆ ไม่มีอะไรเลยที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาแก้ปัญหาความเสถียรทางสถานะของสารได้แล้ว” ลิลลี่ให้การ

“ในระหว่างการประชุม คำพูดของผมคือ ถ้าเรายอมไฟเขียวให้กับเรื่องนี้ จะต้องมีคนตายแน่นอน” ลิลลี่กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการย้ำถึงคำให้การของเขา หลังจากตรวจสอบการออกแบบดังกล่าวแล้ว ลิลลี่กล่าวว่า เขานัดพูดคุยนอกรอบกับวิศวกรที่ทำหน้าที่เป็นคนประสานงานกับสำนักงานใหญ่ของ Takata ในกรุงโตเกียว “คำพูดที่ผมได้รับในวันนั้นก็คือ ‘ได้ๆ ผมจะส่งต่อความเห็นของคุณไปให้ แต่อย่าไปหวังว่าจะมีอะไรดีขึ้นนะ เพราะว่าทางโน้นได้ตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้ว’ ” หัวหน้าของ ASL คือ พาเรช คานดาห์เดีย (Paresh Khandhadia) ซึ่งจบปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเคมี และ “เป็นนักพูดลิ้นทองคนหนึ่ง” ลิลลี่กล่าว “สำนักงานใหญ่ในโตเกียวให้ความสำคัญกับชื่อของเขาเป็นอย่างมาก” ทั้งคานดาห์เดีย ซึ่งออกจาก Takata ในปี 2015 และทนายความของเขาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แม้แต่ในระหว่างการให้การในปีที่แล้ว คานดาห์เดียแทบจะไม่เปิดปากพูดเลย โดยขอใช้สิทธิ์ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมข้อที่ห้า (Fifth Amendment) ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในการปฏิเสธการให้การเป็นพยานยืนยันความผิดของตนเอง

ลิลลี่กล่าวว่า เขาออกจาก Takata ในปี 1999 ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทเลือกที่จะเพิกเฉยต่อคำเตือนของเขาเกี่ยวกับแอมโมเนียมไนเตรท เขากล่าวว่า ทั้งผู้บริหารและพนักงานของ Takata ไม่มีความพร้อมสำหรับกระบวนการออกแบบและการผลิตที่ซับซ้อนเช่นนี้ “วิศวกรของ Takata อ้างว่าพวกเขามีเวทมนต์พิเศษ” เขากล่าว “คนอื่นๆ ไม่มีใครที่จะหาคำตอบได้ แต่พวกเขาทำได้”

-----------------------------
ระหว่างที่โรงงานในเมืองโมเสสเลคกำลังเตรียมการผลิตชุดจุดระเบิดที่ใช้แอมโมเนียมไนเตรทเป็นสารขับดัน อดีตเพื่อนร่วมงานของลิลลี่หลายคนเริ่มแสดงความวิตกกังวล “เราถูกบอกอยู่เสมอว่าต้องข้าม ข้าม และข้ามขีดจำกัดให้ได้” ไมเคิล บริททอน (Michael Britton) วิศวกรสารขับดันที่ออกจาก Takata ในปี 2000 กล่าว ลิลลี่ให้การว่า วิศวกรของ Takata ไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบชุดจุดระเบิดที่แตกออกในระหว่างการทดสอบ และเมื่อเขาคัดค้านในเรื่องนี้ เขาก็ถูกสั่งย้ายให้ไปรับผิดชอบงานในส่วนอื่น ผู้จัดการฝ่ายคุณภาพบอกกับลิลลี่ว่า เขาถูกผู้บริหารของโรงงานในโมเสสเลคกดดันให้ปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบขึ้นมา “แก้ข้อมูลจนกว่ามันจะใช่” คือชื่อเล่นที่ทีมวิศวกรตั้งให้กับวิธีการนี้  ลิลลี่กล่าวในคำให้การ โฆษกของ Takata แถลงว่า ASL ได้ทำการทดสอบ “ขั้นสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมในขณะนั้น” และไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญกับประสิทธิภาพหรือคุณสมบัติทางกายภาพของสารขับดัน และสถาบันวิจัยในเยอรมนีเองก็ได้ทำการทดสอบสารขับดันด้วยเช่นกันและไม่พบหลักฐานว่าสารดังกล่าวมีการสูญเสียความเสถียรทางสถานะ เขายังกล่าวอีกว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่าลิลลี่ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการนำแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้ รวมทั้งไม่มีหลักฐานว่าผู้บริหารของ Takata เพิกเฉยต่อข้อกังวลดังกล่าว

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2000 ทอม เชอริแดน (Tom Sheridan) ซึ่งเป็นวิศวกรการผลิตของ Takata ในขณะนั้น ได้เขียนบันทึกข้อความส่งให้หัวหน้าของเขาเกี่ยวกับข้อมูลการทดสอบของ Honda โดยในบันทึกข้อความระบุว่า “จดหมายปะหน้าฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่ารายงานการทดสอบของ Honda มีข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้อมูลซึ่งไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ ข้อมูลที่มีการระบุไม่ถูกต้อง หรือข้อมูลที่ไม่เคยมีอยู่เลย” บันทึกข้อความฉบับนี้ได้ถูกส่งมอบให้กับทนายความฝ่ายโจทก์ที่เป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทั้งสองบริษัท เชอริแดน ซึ่งออกจาก Takata ในปี 2002 ให้การว่า หลังจากที่ส่งรายงานดังกล่าว ไม่มีหัวหน้าของเขาแม้แต่คนเดียวที่มาพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับปัญหาที่ถูกยกขึ้นมา โฆษกของบริษัทกล่าวว่า “Takata มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รายงานข้อมูลการทดสอบยืนยันไม่ถูกต้อง” แต่ผลการทดสอบนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้ชุดจุดระเบิดเกิดการแตก


เศษโลหะจากถุงลมนิรภัยที่บกพร่องของ Takata ถูกนำมาแสดงในการแถลงข่าวในปี 2015 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพถ่ายโดย: Chip Somodevilla/Getty Images
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 07, 2016, 19:55:07 โดย yodtao »

ออฟไลน์ yodtao

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 5
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 19:42:35 »
จนกระทั่งถึงปี 2001 Takata ยังคงมั่นใจว่า บริษัทได้พัฒนากระบวนการที่ปลอดภัยในการผลิตถุงลมนิรภัยที่ใช้แอมโมเนียมไนเตรท และได้มีการจำหน่ายถุงลมนิรภัยดังกล่าวให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายต่างๆ รวมถึง Honda และ Nissan ในช่วงดังกล่าว บริษัทได้เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานแห่งใหม่ในเมืองมอนโคลวา (Monclova) ประเทศเม็กซิโก ซึ่งค่าแรงคนงานถูกกว่า แต่คนงานเองก็มีประสบการณ์ในการทำงานกับวัตถุระเบิดน้อยกว่าเช่นกัน Takata จ้างผู้จัดการเป็นคนท้องถิ่นและปล่อยให้พนักงานดูแลกันเองเกือบทั้งหมด อัพแฮมกล่าว เอกสารรายงานที่ส่งให้หน่วยงานกำกับดูแลระบุว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2001 จนถึงปลายปี 2002 คนงานของโรงงานแห่งนี้ปล่อยให้สารขับดันบางส่วนที่อัดเม็ดแล้วสัมผัสโดนความชื้นโดยไม่มีการควบคุม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้เกิด “การเผาไหม้รุนแรงกว่าปกติ” ได้ Takata แจ้งต่อ NHTSA ในภายหลังว่า ทางบริษัทได้ทำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการผลิตแล้ว

ในปี 2004 ถุงลมนิรภัยใบหนึ่งของรถยนต์ Honda Accord ระเบิดกางออก ส่งผลให้เศษโลหะพุ่งกระเด็นออกมาและทำให้คนขับได้รับบาดเจ็บ Takata เรียกอุบัติเหตุในครั้งนั้นว่า เหตุการณ์ไม่ปกติ แต่อุบัติเหตุในรัฐแอละแบมาในครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอุบัติเหตุอีกมากกว่า 100 ครั้งที่เกิดขึ้นตามมา Honda แถลงว่าได้บรรลุข้อตกลงทางคดีความกับผู้ขับแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยเงื่อนไขในข้อตกลงดังกล่าว

ในช่วงเวลาเดียวกัน อดีตผู้บริหารอาวุโสของ Takata ในทวีปยุโรปกล่าวว่า เขาได้ตั้งคำถามกับคานดาห์เดียเกี่ยวกับการนำแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้ แต่คานดาห์เดียนั้นได้รับการสนับสนุนจากทางโตเกียว ผู้บริหารคนดังกล่าว ซึ่งยังคงทำงานกับบริษัทต่อไปอีกหนึ่งทศวรรษ ไม่ต้องการให้เปิดเผยตัวตนเนื่องจากยังทำงานอยู่ในวงการยานยนต์ในปัจจุบัน ในยุโรปไม่ได้มีเพียงผู้บริหารคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นว่าการนำแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้นั้นมีความเสี่ยงมากเกินไป Renault เองก็ปฏิเสธที่จะสั่งซื้อถุงลมนิรภัยที่ใช้สารขับดันชนิดนี้ อดีตผู้บริหารคนนี้เลือกที่จะแก้ปัญหาทางอ้อมแทนที่จะปะทะกับคานดาห์เดียตรงๆ เขาเล่าว่า เขาได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสารขับดันอีกคนหนึ่งให้เข้ามาช่วยพัฒนาสูตรที่มีความเสถียรมากขึ้นโดยใช้กัวนิดีนไนเตรท (Guanidine Nitrate) และตั้งแต่ประมาณปี 2008 เป็นต้นมา Takata ยุโรปได้ทำการจำหน่ายถุงลมนิรภัยที่ใช้สารขับดันสูตรนี้ เขายังกล่าวอีกว่า Takata ประเทศจีนได้นำสูตรดังกล่าวไปใช้ด้วยเช่นกัน

บ็อบ ชูเบิร์ต (Bob Schubert) วิศวกรสารขับดันของ Takata ในสหรัฐอเมริกา แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้แอมโมเนียมไนเตรทด้วยเช่นกัน จากคำกล่าวของอดีตผู้บริหารคนนี้ ในเดือนมกราคม ปี 2005 ชูเบิร์ตได้เขียนรายงานถึงหัวหน้าของเขาว่า บริษัทมีการ “ตกแต่ง” ข้อมูลที่ส่งให้กับ Honda เกี่ยวกับถุงลมนิรภัยให้ดูดีกว่าความเป็นจริง โดยในครั้งหนึ่ง ได้มีการระบุว่าอุปกรณ์ผ่านการทดสอบที่ไม่เคยเกิดขึ้นด้วยซ้ำ “ผมได้รับทราบถึงการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำไม่สามารถยอมรับได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดและน่าจะถือได้ว่าเป็นการฉ้อโกง” เขาเขียนข้อความดังกล่าวในอีเมลที่ถูกนำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดี ชูเบิร์ต ซึ่งในปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มงานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Takata ไม่ตอบรับคำเชิญขอสัมภาษณ์ Takata ได้ออกมาแถลงขอโทษสำหรับความผิดพลาดดังกล่าว แต่กล่าวว่า ความผิดพลาดนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียกคืนชุดจุดระเบิดในปัจจุบันแต่อย่างใด


เหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานของ Takata ในเม็กซิโกในปี 2006
ภาพถ่ายโดย: Gustavo Adolfo Rodriguez/Reuters


โรงงานในเมืองมอนโคลวาสั่นสะท้านจากการระเบิดสามครั้งในเดือนมีนาคมของปี 2006 ลูกไฟปะทุพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า กระจกหน้าต่างของบ้านเรือนใกล้เคียงแตกเป็นเสี่ยงๆ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานว่าทางการต้องอพยพผู้อยู่อาศัยจำนวนนับพันคนออกจากพื้นที่ แถลงการณ์ของ Takata กล่าวเพียงว่า คนงานปฏิบัติงานกับ “เศษสารขับดัน” ไม่ถูกวิธี และทางโรงงานได้ทำการปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับความปลอดภัยแล้วหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โรงงานกลับมาดำเนินงานตามปกติอีกครั้งภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน และลูกค้าของ Takata ก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการสะดุดของกระบวนการผลิต สื่อยานยนต์อย่าง Automotive News ให้นิยามการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วในครั้งนี้ของ Takata ว่า “น่าทึ่ง”

ทีมวิศวกรของ Takata มีการยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการต่างๆ ที่ช่วยปรับปรุงความเสถียรของแอมโมเนียมไนเตรท สิทธิบัตรฉบับหนึ่งอธิบายถึงการเคลือบอนุภาคเคมีด้วยพาราฟิน (Paraffin) เพื่อทำหน้าที่เป็นวัสดุหุ้มป้องกันความร้อนและความชื้น ลิลลี่พูดถึงสิทธิบัตรที่เขาเป็นผู้ตรวจสอบ สิทธิบัตรอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารขับดันแอมโมเนียมไนเตรทที่มีความเสถียรทางสถานะ “แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติทางการระเบิดที่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ” และชุดจุดระเบิดถุงลมนิรภัยนั้นอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ รวมถึง “การเกิดแรงดันสูงเกินไปภายในชุดจุดระเบิด ซึ่งส่งผลให้เกิดการแตก” Takata เคยแถลงก่อนหน้านี้ว่า บริษัท “ทราบอยู่แล้วถึงผลกระทบจากความชื้นที่อาจมีต่อคุณลักษณะการเผาไหม้ของแอมโมเนียมไนเตรท แต่สารขับดันแอมโมเนียมไนเตรทที่มีความเสถียรทางสถานะนั้นมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับการนำไปใช้ในชุดจุดระเบิดของถุงลมนิรภัย หากมีการออกแบบทางวิศวกรรมและกระบวนการผลิตที่เหมาะสม”

ในปี 2006 ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของ Takata ได้ส่งอีเมลถึงเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการปกปิดหรือเพิกเฉยต่อข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซึ่งพบในระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์: “นี่มันเรื่องโง่ๆ อีกเรื่องที่คอยให้เราต้องจัดการ ไม่มีวิธีอะไรจะมาแก้ปัญหาได้จริงๆ สักที โรงงานนี้มันควรจะตะโกนบอกทุกคนว่าเป็นฆาตกรตั้งนานแล้ว” โฆษกของ Takata พูดถึงหลักฐานชิ้นนี้ว่า ปัญหาเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้และทางบริษัทจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก แต่ปัญหาดังกล่าวนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสาเหตุที่ทำให้ชุดจุดระเบิดถุงลมนิรภัยแตกออก

Takata เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน โดยตระกูลทาคาดะและทรัสต์ยังคงถือหุ้นเป็นจำนวนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ (ในปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์) แผนการสืบทอดบริษัทได้เริ่มต้นขึ้นในปีถัดมา จูอิชิโระ ทาคาดะขึ้นรับตำแหน่งประธานบริษัท โดยยังคงดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารจนกว่าจะถึงเวลาสืบทอดบริษัทให้แก่ ชิเกะฮิสะ (Shigehisa) บุตรชาย (อายุ 41 ปีในตอนนั้น) ซึ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นประธานกรรมการ อะกิโกะ ทาคาดะ (Akiko Takada) มารดาของชิเกะฮิสะ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการและเข้ารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา แนวทางของทาคาดะผู้พ่อและบุตรชายนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จูอิชิโระ หรือที่พนักงานชาวอเมริกันเรียกชื่อเล่นว่า จิม มักจะลงไปตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงงานด้วยตนเอง ลิลลี่พูดถึงชิเกะฮิสะว่าเป็นคนงุ่มง่าม ไม่ค่อยพูด และถือยศถืออย่าง ครั้งที่ชิเกะฮิสะแวะมาที่โรงงานในเมืองโมเสสเลคในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เขาไม่ยอมใส่แว่นป้องกันดวงตา ลิลลี่จึงไม่อนุญาตให้ชิเกะฮิสะเข้าไปภายในบริเวณโรงงาน

-----------------------------
Honda ประกาศเรียกคืนรถยนต์ครั้งแรกจำนวน 3,940 คันในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 โดยให้เหตุผลว่า ความชื้นปริมาณมากได้ส่งผลต่อสารขับดันแอมโมเนียมไนเตรทที่โรงงานของ Takata ในเม็กซิโก Takata ยืนยันกับ Honda และหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐว่า ปัญหาการผลิตดังกล่าวเกิดขึ้นในวงจำกัดและได้รับการแก้ไขแล้ว อันที่จริง Takata ได้ทำการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสารขับดันไปแล้วก่อนหน้านี้โดยเติมสารดูดความชื้น (Desiccant) ซึ่งทำหน้าที่ดูดน้ำ ทีมวิศวกรเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้แอมโมเนียมไนเตรทเสื่อมสภาพและเกิดการระเบิด

อีกแปดเดือนต่อมา ชิเกะฮิสะ ทาคาดะ ต้องแก้ต่างให้กับบริษัทของตนต่อหน้าผู้บริหารของ Honda ในระหว่างการประชุม ณ สำนักงานของ Honda นอกตัวเมืองลอสแอนเจลิส การประชุมดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้เป็นอีเมลภายในบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ใช้ในการฟ้องร้องคดี ชิเกะฮิสะถูกถามว่าเขาเข้าใจถึงความสำคัญของสถานการณ์อันเลวร้ายนี้หรือไม่ ผู้บริหารของ Honda กล่าวว่าตัวเขาเอง “เป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา” เพราะดูเหมือนว่า Takata จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้ “จัดการระบบภายใน Takata ให้เข้มงวดขึ้นอีกรอบ” ผู้บริหารของ Honda กล่าว จากคำบันทึกในอีเมล วิศวกรของ Honda เสริมว่า Takata มีการแก้ไขปัญหาช้าเกินไป “ทำไมมันถึงระเบิด ? ผมต้องการรู้ความจริง”

หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เริ่มกระบวนการสอบสวนกรณีของ Takata ในช่วงปลายปี 2009 และปิดการสอบสวนในอีกหกเดือนต่อมา โดยระบุว่าบริษัทได้พบสาเหตุของปัญหาแล้วว่าเกิดจากความผิดพลาดของกระบวนการผลิตจากโรงงานอีกแห่งหนึ่งในเมืองโมเสสเลค และ Honda ได้ประกาศเรียกคืนถุงลมนิรภัยดังกล่าวแล้ว “ในความคิดของผม ถ้าหาก NHTSA เลือกทำสิ่งที่ถูกต้องและสืบสวนกรณีของ Takata ให้ลึกลงไปอีก พวกเขาน่าจะเจอต้นเหตุได้เร็วกว่านี้มาก และเราคงไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” คลาเรนซ์ ดิทโลว์ (Clarence Ditlow) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรไม่หวังผลกำไร Center for Auto Safety ให้ความเห็น “Takata ได้ทำเรื่องผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการยานยนต์เลยทีเดียว”


ชุดจุดระเบิดถุงลมนิรภัยของ Takata ที่ถูกเรียกคืน
ภาพถ่ายโดย: Joe Skipper/Reuters


อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2010 ถูกรายงานข่าวในวงกว้าง ขณะที่คริสตี้ วิลเลียมส์ (Kristy Williams) หยุดรถที่สัญญาณไฟแดงในเมืองมอร์โรว์ (Morrow) รัฐจอร์เจีย ถุงลมนิรภัยในรถยนต์ Honda Civic รุ่นปี 2001 ของเธอกางออกเนื่องจากความผิดพลาด ชุดจุดระเบิดแตกออกและเศษโลหะที่แตกออกมาพุ่งเข้ากระแทกลำคอของวิลเลียมส์และตัดหลอดเลือดแดงที่คอของเธอ เธอพยายามใช้สองนิ้วอุดบาดแผลเอาไว้เพื่อหยุดเลือดที่ไหลออกมาขณะรอรถพยาบาล ภาวะเสียเลือดทำให้เธอต้องเผชิญกับโรคลมหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีอาการชัก และอาการพูดผิดปกติอีกด้วย ตามคำระบุในคดีความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก Takata และ Honda ทั้งสองบริษัทตกลงความในคดีนี้โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

Honda ประกาศเรียกคืนรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย Takata เพิ่มเติมในปี 2009, 2010 และ 2011 ซึ่งในท้ายที่สุด มีจำนวนรถยนต์รวมกันถึง 2.5 ล้านคัน ในปี 2013 Takata ยื่นรายงานข้อบกพร่องต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ โดยระบุว่าถุงลมนิรภัยด้านผู้โดยสารบางชุดอาจแตกได้เนื่องจากความผิดพลาดในการผลิตและจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นหากถุงลมนิรภัยสัมผัสโดนความร้อนและความชื้น อีกหนึ่งปีต่อมา NHTSA ได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 10 รายเรียกคืนรถยนต์ที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย Takata จำนวน 7.8 ล้านคันในเจ็ดรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงในเปอร์โตริโกและหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ อีกด้วย หลังจากการประกาศดังกล่าว มีผู้คนเข้าตรวจสอบข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของ NHTSA เป็นจำนวนมหาศาลจนทำให้เว็บไซต์ของ NHTSA ล่ม Toyota ได้ออกประกาศแนะนำผู้ใช้รถว่าไม่ควรนั่งในที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าของรถยนต์หลายๆ รุ่นจนกว่าจะนำรถเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย

สถานการณ์ของโรงงานในเมืองมอนโคลวาย่ำแย่ลงจนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ สำหรับ Takata ในเดือนพฤษภาคมปี 2011 กิลเยร์โม อะพัด (Guillermo Apud) หัวหน้างานของโรงงาน ได้ส่งอีเมลต่อว่าคนงานเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานที่สะเพร่าและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เขาสังเกตเห็นว่า คนงานทำการ “แก้ไข” ชิ้นส่วนที่บกพร่องจากสายการประกอบชุดจุดระเบิดแทนที่จะคัดออกแล้วนำไปตรวจสอบในภายหลัง “ห้ามทำการแก้ไขใดๆ ในสายการประกอบ!!! เราจะปล่อยให้หัวหน้าทีม/ฝ่ายวัสดุ/คนงาน/เจ้าหน้าที่มาทำการแก้ไขผลิตภัณฑ์ตามใจชอบโดยที่ไม่ควบคุมไม่ได้ นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้มีสินค้าบกพร่องหลุดออกมาตลอด เราต้องหยุดพฤติกรรมนี้เดี๋ยวนี้!” ในปี 2012 คนงานประกอบชิ้นส่วนที่ไม่ถูกต้องเข้าในชุดจุดระเบิด ทำให้ต้องมีการเรียกคืนรถยนต์สามยี่ห้อเป็นจำนวนมากกว่า 350,000 คัน Takata แถลงว่า อะพัดแค่ต้องการแสดงให้ลูกน้องเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพและความปลอดภัย และต้องการให้แน่ใจว่ามีการผลิตชุดจุดระเบิดอย่างถูกต้อง

ในเดือนมีนาคม ปี 2012 ขณะที่แอนเจลลินา ซูจาตา (Angelina Sujata) กำลังขับรถยนต์ Honda Civic รุ่นปี 2001 ของเธอที่ความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมงใกล้กับเมืองโคลัมเบีย (Columbia) รัฐเซาท์แคโรไลนา รถยนต์คันที่อยู่ข้างหน้าก็เหยียบเบรกกะทันหัน รถของสาววัย 18 ปีคนนี้ชนกับรถคันข้างหน้า สิ่งต่อมาที่เธอจำได้คือความรู้สึกเจ็บแปลบที่หน้าอก “หน้าอกของฉันมีแผลถูกเฉือนเปิดออกจนถึงกระดูก” เธอให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ซูจาตาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์ที่ทำการรักษาสามารถดึงเศษโลหะหลายชิ้นออกมาจากตัวเธอ อีกหนึ่งปีต่อมา ซูจาตาได้รับจดหมายแจ้งเกี่ยวกับการเรียกคืนถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง เธอจึงตัดสินใจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก Honda และ Takata และกำลังรอนัดหมายวันพิจารณาคดีอยู่ในปัจจุบัน

กว่าที่ Takata จะยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเป็นวงกว้างกว่าที่คาดไว้ก็ต้องรอจนถึงปี 2015 และ NHTSA จึงได้ออกประกาศเรียกคืนชุดจุดระเบิดประมาณ 22 ล้านชุดทั่วประเทศ “Takata แจ้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อหน่วยงานกำกับดูแลมาเป็นระยะเวลานานเกือบทศวรรษ” ไบรอัน โทมัส (Bryan Thomas) โฆษกของ NHTSA กล่าว “ถ้าบริษัทพูดความจริงตั้งแต่แรก Takata ก็น่าจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นวิกฤตระดับโลกได้” Takata ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 07, 2016, 19:56:15 โดย yodtao »

ออฟไลน์ yodtao

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 5
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 19:46:48 »
ชิเกะฮิสะ ทาคาดะ เข้ารับช่วงบริหารงานบริษัทหลังจากที่จูอิชิโระเสียชีวิตในปี 2011 ชิเกะฮิสะในวัย 45 ปีทำงานที่ Takata มาตลอดทั้งชีวิตและส่วนใหญ่เป็นการทำงานภายใต้เงาของพ่อตนเอง หลังจากการเรียกคืนครั้งแล้วครั้งเล่า เขาได้ออกมาขอโทษผ่านทางแถลงการณ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและผ่านทางโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อบริษัทถูกเรียกไปให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ทาคาดะได้ส่งตัวแทนไปให้การแทนทั้งสี่ครั้ง กว่าที่ทาคาดะจะออกมาแถลงขอโทษต่อสาธารณชนด้วยตนเองเป็นครั้งแรกก็ต้องรอจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2015 หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เขาโค้งคำนับและพูดกระซิบเบาๆ “บริษัทที่ควรจะเป็นผู้มอบความปลอดภัยกลับกลายเป็นผู้ที่ทำร้ายผู้ใช้รถเสียเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเสียใจอย่างสุดซึ้ง” เขายังคงยืนยันว่าถุงลมนิรภัยของ Takata นั้นปลอดภัย แต่กลับไม่ได้พูดถึงการที่ Takata พยายามจะแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนสูตรของสารขับดันในปี 2008 เขาทำให้มันดูเหมือนกับว่าต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่มีใครทราบได้

“บริษัทยังคงปฏิเสธต่อไปว่าแอมโมเนียมไนเตรทไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา” อัพแฮมกล่าว “พวกเขาบอกว่าตนเองยังคงกำลังหาสาเหตุของปัญหาอยู่ นี่มันไม่ต่างอะไรกับการที่ โอ.เจ. [ซิมป์สัน] พูดว่าเขาจะหาตัวฆาตกรที่ฆ่านิโคล [อดีตภรรยา] มาให้ได้”


แถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชนของชิเกะฮิสะ ทาคาดะในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2015
ภาพถ่ายโดย: Yoshikazu Tsuno/AFP/Getty Images


-----------------------------
ห้าเดือนต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2015 หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า Takata จะต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 70 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังอาจต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มอีกถึง 130 ล้านดอลลาร์หากบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ได้ นอกจากนี้ Takata ยังต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบอิสระอีกด้วย NHTSA แถลงว่ามาตรการลงโทษทางแพ่งในครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่หน่วยงานนี้เคยมีมา และการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานตรวจสอบยังเป็นไปอย่างเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทาคาดะในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า บริษัทยอมรับมาตรการลงโทษดังกล่าว “เนื่องจากมีการเรียกร้องอย่างกว้างขวางทั้งจาก NHTSA และจากความวิตกกังวลของผู้ใช้รถ ถึงแม้ว่าบริษัทจะยังมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก็ตาม” ในวันเดียวกัน Honda ได้ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนว่า บริษัทผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายนี้น่าจะมีการปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบ เมื่อทาคาดะถูกถามถึงเรื่องดังกล่าวในระหว่างการแถลงข่าว เขากล่าวว่า “เราไม่ได้ทำแบบนั้น ผมคิดว่านะ”

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หน่วยงานกลางกำกับดูแลด้านความปลอดภัยได้แถลงว่า การสอบสวนทั้งหมดสามครั้งโดยหน่วยงานอิสระได้ผลสรุปเดียวกันเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยมรณะ: ความเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิและการสัมผัสโดนความชื้นเป็นระยะเวลานานสามารถทำให้สารขับดันแอมโมเนียมไนเตรทมีการจุดระเบิดที่รุนแรงจนเป็นอันตรายได้ “ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชุดจุดระเบิดเหล่านี้อาจเกิดความไม่ปลอดภัยได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป และจะยิ่งเกิดเร็วขึ้นเมื่อมีการสัมผัสโดนความชื้นสูงและมีการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิอย่างรุนแรง” มาร์ก โรสไคน์ (Mark Rosekind) ผู้อำนวยการของ NHTSA กล่าว NHTSA ยังออกประกาศเรียกคืนเพิ่มเติมจนมีถุงลมนิรภัยที่ถูกเรียกคืนทั้งหมดมากกว่า 60 ล้านชุด ซึ่งหมายถึงถุงลมนิรภัยทุกชุดที่ไม่มีการเติมสารดูดความชื้น ถุงลมนิรภัยที่ถูกเรียกคืนดังกล่าวจะต้องถูกนำเข้ารับการเปลี่ยนใหม่ภายในปี 2019 Takata มีเวลาจนถึงปลายปี 2019 เพื่อพิสูจน์ว่าถุงลมนิรภัยที่มีการเติมสารดูดความชื้นนั้นมีความปลอดภัย รายงานวุฒสภาในวันที่ 1 มิถุนายนระบุว่ามีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำนวนสี่รายที่ยังคงจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยที่บกพร่องและจำเป็นต้องนำเข้ารับการเปลี่ยน

ในประเทศญี่ปุ่นเองนั้นมีการเรียกคืนรถยนต์เพิ่มเติมอีกจนมีจำนวนเกือบ 20 ล้านคัน ซึ่งจำนวนรถยนต์ที่แน่นอนนั้นไม่สามารถระบุได้ เนื่องจาก Takata ไม่ได้เปิดเผยจำนวนถุงลมนิรภัยทั้งหมดที่จะต้องนำเข้ารับการเปลี่ยน สำนักข่าว Bloomberg News ได้ติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศออกมา ทำให้สามารถคำนวณตัวเลขรถยนต์ทั่วโลกที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านคัน

ชูเบิร์ต วิศวกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มงานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของ Takata ได้กล่าวในคำให้การว่า สารขับดันแอมโมเนียมไนเตรทจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา “จนกว่ากระบวนการเสื่อมสภาพจะดำเนินไปเป็นระยะเวลานานมาก จากนั้นจึงจะส่งผลให้เกิดการแตกระเบิดที่ค่อนข้างรวดเร็ว” เขาระบุว่ากระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลาถึง 10 ปี ในขณะที่ทนายความของผู้เสียหายบางรายกล่าวว่าการเสื่อมสภาพสามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี ซึ่งเป็นการอธิบายว่าทำไมการเสียชีวิตส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาในรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยที่ถูกผลิตขึ้นประมาณสิบปีก่อนหน้านั้น

จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกาได้มีการดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยของ Takata ไปแล้วเพียง 8.4 ล้านชุด ผู้ผลิตรถยนต์และตัวแทนจำหน่ายยังคงเผชิญกับปัญหาสองประการ ประการแรก ถึงแม้ว่า Takata จะใช้สารเคมีชนิดเดียวกันในการผลิตสารขับดัน แต่ถุงลมนิรภัยแต่ละรุ่นนั้นมีรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้การเปลี่ยนทำได้ยากมากขึ้น Takata กล่าวว่า บริษัทได้ “เพิ่มปริมาณการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ใหม่ขึ้นอย่างมาก” แต่ในขณะเดียวกันบริษัทคู่แข่งต่างก็ยินดีที่จะเข้ามาทดแทนการผลิตในส่วนที่เหลือ NHTSA ให้ข้อมูลว่าบริษัทอื่นๆ นั้นมีการผลิตชุดจุดระเบิดสำหรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์ของ Takata เป็นสัดส่วนมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ยังคงไม่เพียงพออยู่ดี

ปัญหาประการที่สอง คือความยากลำบากในหลายๆ กรณีในการติดตามหาตัวเจ้าของรถเก่า ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนเจ้าของไปแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งมือ เช่นในกรณีของคาร์ลอส โซลิส ซึ่งรถยนต์ Honda ของเขาผ่านเจ้าของมาแล้วก่อนหน้านั้นสองรายก่อนที่โซลิสจะซื้อรถคันนี้จากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มือสอง กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เก่าต้องมีการเก็บบันทึกรายชื่อเจ้าของในกรณีที่มีการเรียกคืนรถยนต์ที่กำลังรอจำหน่าย นับตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา Honda มีการใช้วิธีต่างๆ ทั้งขึ้นตัวอักษรบนป้ายสกอร์บอร์ดของสนามกีฬาและลงโฆษณาทั้งใน Facebook และ Twitter หรือแม้แต่จ้างนักสืบเอกชนให้ติดตามหาผู้ที่เป็นเจ้าของรถเก่า

Takata กำลังอยู่ในระหว่างการถูกสอบสวนทางอาญาโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Justice) รวมทั้งยังถูกรัฐฮาวายยื่นฟ้องในข้อหาปกปิดข้อบกพร่องของถุงลมนิรภัย (Takata กล่าวว่าทางบริษัทมีการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับกระทรวงยุติธรรม แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในส่วนของคดีฟ้องร้อง) นอกจากจะต้องเผชิญกับค่าปรับจากบทลงโทษแล้ว บริษัทยังอาจต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าดำเนินการด้านคดีความและค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังต้องตกลงในส่วนของค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยในปัจจุบัน นักวิเคราะห์จาก Jefferies [ธนาคารเพื่อการลงทุน] ระบุว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดอาจสูงกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ Takata ไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น ปัจจุบันบริษัทมีเงินอยู่ในมือเพียง 520 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตัวบริษัทเองมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 340 ล้านดอลลาร์ ไม่ถึงหนึ่งในสิบของมูลค่าสูงสุดของบริษัทในปี 2007 ซึ่งในขณะนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดถุงลมนิรภัยทั่วโลก 17 เปอร์เซ็นต์ อัพแฮมประมาณการว่า ส่วนแบ่งดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม Takata แถลงว่าบริษัทได้ว่าจ้าง Lazard [บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน] ให้เข้ามาช่วยระดมทุนและเจรจาต่อรองกับลูกค้าของบริษัท หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศโดยอ้อมว่า อนาคตของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนอื่นแล้ว ซึ่งไม่ว่าคนอื่นนั้นจะเป็นใครก็ตาม ตระกูลทาคาดะน่าจะต้องถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นลง รวมทั้งมีการเปลี่ยนตัวประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ “Takata ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้กระทำไว้” สก็อต น้องชายของคาร์ลอส โซลิส กล่าว “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะพวกเขาทำตัวเองทั้งนั้น”

—ร่วมเขียนโดยยูกิ ฮากิวาระ



จบแล้วครับ  :D
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 07, 2016, 19:57:07 โดย yodtao »

ออฟไลน์ Arado_kung

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 5,070
    • อีเมล์
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 20:11:08 »
มาลงชื่อว่าอ่านจบแล้วครับ ข้อสรุปที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเปลี่ยนมาใช้แอมโมเนียมไนเตรทเป็นตัวจุดระเบิดบวกกับความบกพร่องในการประกอบชุดถุงลมนิรภัย ทำให้ถุงลมบางอัน(แต่เยอะ)จุดระเบิดรุนแรงเกินไปเวลาทำงานจนดันเอาตัว housing ที่เป็นโลหะบินออกมาเป็นใบมีดเชือดคนตาย เอิ่ม นี่มัน Final destination ชัดๆ

ปล. ผมแชร์ลงเฟสส่วนตัวไปแล้วนะครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 07, 2016, 20:20:59 โดย Arado_kung »

ออฟไลน์ kris-lack

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,763
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 20:21:34 »
ไม่มีเวลาอ่าน แต่ขอชมเชยและขอบคุณ คุณมีน้ำใจมากๆค่ะ

ออฟไลน์ a601970

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 802
  • ประชาธิปไตย หัวใจคือประชาชน
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 20:31:44 »
เป็นกระทู้ที่ดีมาก  :)
ขอบคุณมากครับ  :)

ออฟไลน์ Barracuda

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,395
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 20:47:38 »
ขอบคุณครับ

ออฟไลน์ SM.

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 27,426
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 21:30:19 »
เกรงว่า takata อาจจะถึงขั้นปิดกิจการเลยนะเนี่ยย

ออฟไลน์ Polonium

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 544
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 21:31:34 »
ขอบคุณครับ

ออฟไลน์ Number_One

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 100
    • อีเมล์
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 21:49:07 »
อ่านที่แปลมาเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นเลย ขอบคุณที่แปลให้คับ ภาษายิ่งแย่งๆอยู่ด้วยถ้าให้ผมไปอ่านต้นฉบับคงจะนานก้วาจะเข้าใจ5555 ขอบคุณมากๆๆคับ

ออฟไลน์ citrinecw

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 251
    • อีเมล์
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2016, 22:03:25 »
Takada, VW แล้วก็เคส Mitsubishi ล่าสุดเหมือนกับเป็นกระจกที่บอกทุกๆคนบนโลกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงทศวรรตที่ผ่านมามันอยู่ในโลกของการหลอกลวงครั้งใหญ่ 55555

ออฟไลน์ NONT4477

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 9,851
  • Let the SKYFALL
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 01:44:54 »
ขอบคุณครับ
Top Gear's Biggest FAN!!! (IN MY House)
I'm NAC1701  ^ ^

ออฟไลน์ KinGmO

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 189
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 02:44:53 »
ขอบพระคุณมากครับ แล้ว Civic 2013 แก้ไขหรือยังครับ เสียวคอ
Civic FB 2013

ออฟไลน์ V221

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 6,818
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 07:28:19 »
ขอบคุณมากๆครับ อ่านแล้วเสียวสันหลังจริงๆ จากอุปกรณ์ปกป้องกลายเป็นอาวุธทำร้ายชีวิตเสียงั้น ยิ่งไปอ่านดูรายชื่อรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมของTakataที่มีปัญหายิ่งอึ้งไปใหญ่ สงสัยต้องขายรถออกไปแล้วละครับ
http://www.nydailynews.com/autos/news/takata-airbag-recall-list-cars-article-1.2602999
BMW 750E M SPORT

ออฟไลน์ P็๊้ีhu

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 90
    • อีเมล์
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 09:12:20 »
ขอบคุณที่แบ่งปันข่าวสารข้อมูล  ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้รถยนต์  ยกเว้นในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา

ที่รัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อผู้บริโภค  ..........      (ประชด ....)

ออฟไลน์ boogie2020

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,041
    • อีเมล์
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 09:23:03 »
ขอบคุณมากคับ อ่านเพลินเลย
-----------------------------------------------------------
There is no spoon
-----------------------------------------------------------

ออฟไลน์ localgame

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,592
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 09:23:24 »
ขอบคุณครับ รีบหาเวลาไปเปลี่ยนairbagแบบด่วนๆ

ออฟไลน์ Dark Overlord

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 4,804
  • Hail to the darkside
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 10:58:16 »
ขอบคุณมากๆครับ อ่านแล้วเสียวสันหลังจริงๆ จากอุปกรณ์ปกป้องกลายเป็นอาวุธทำร้ายชีวิตเสียงั้น ยิ่งไปอ่านดูรายชื่อรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมของTakataที่มีปัญหายิ่งอึ้งไปใหญ่ สงสัยต้องขายรถออกไปแล้วละครับ
http://www.nydailynews.com/autos/news/takata-airbag-recall-list-cars-article-1.2602999

ขอให้คุณหมูช่วยทำ list ว่ารถในท้องตลาดปัจจุบัน มีรุ่นไหนไม่ใช้ถุงลม Takata บ้าง
เพราะแค่กระแทกเบาๆ แล้วถุงลมทำงานขึ้นมานี่ฆ่าเราได้เลยนะครับ
สงสัยคงต้องเปลี่ยนรถเช่นกัน

ปล เอาเฉพาะที่ขายในไทยนะครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 08, 2016, 11:01:58 โดย ณภัทร สุดยอด อ.ภาษาอังกฤษนักวาดการ์ตูน »

ออฟไลน์ Joii

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 940
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 12:03:53 »
ขอบคุณมากครับ อ่านจบแล้ว  8)

ออฟไลน์ Paul sa

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 174
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 12:43:28 »
ขอบคุณจริงๆ ที่ลำบากแปลมาให้อ่าน ยาวมากๆ อ่านถึงตอนที่บอกว่า บาดเข้าไปที่คอแล้วเสียวมากๆ

สังเกตุว่าเหตุการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่จะมีการแจ้งหรือ recall กันที่ต่างประเทศ ในไทยไม่ค่อยเห็นมี ตัวอย่างเช่น Toyota Corolla 2003-2011 มีอยู่ใน list นั้น แต่ผมไม่เห็น Toyota ในไทยแถลงเรื่องนี้ให้รถที่ผมใช้อยู่เลย และหลายเจ้าก็ชอบอ้างว่ารถที่ผลิตในไทยไม่ได้ใช้ parts พวกนั้น สมมติว่าค่ายรถเดียวกันใช้ Takata ในต่างประเทศ แล้วจะไม่ใช้ Takata ในไทยรึ แล้วก็ Takata จะไม่ผลิตหรือใช้สารจุดระเบิดแบบเดียวกันรึ

ทำอย่างไรถึงจะเชื่อถือได้ หรือจะหาข้อมูลจากไหนได้บ้างครับ

ออฟไลน์ YiiPooN

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 24
    • อีเมล์
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 15:29:04 »
ขอบคุณที่แปลมาให้อ่านนะครับ :D

ออฟไลน์ rut191

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,212
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #21 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2016, 17:38:21 »
แสดงว่าที่คนรุ่นเก่าบอกว่าAir bag จะระเบิดใส่คนขับตายก็เป็นเรื่องจริงน่ะสิ

ออฟไลน์ Arturoz

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #22 เมื่อ: มิถุนายน 09, 2016, 13:21:38 »
ขอบคุณมากๆครับ อุตส่าห์ตั้งใจแปลยาวมากๆ กว่าจะอ่านจบ 555

อยากรู้เหมือนกันครับว่าในไทยเรามีรถค่ายไหนรุ่นไหนบ้างที่มีความเสี่ยง
I am forever walking upon these shores,
Betwixt the sand and the foam,
The high tide will erase my foot-prints,
And the wind will blow away the foam.
But the sea and the shore will remain
Forever. -Kahlil Gibran-

promt

  • บุคคลทั่วไป
Re: บทความเรื่องถุงลม Takata จาก Bloomberg
« ตอบกลับ #23 เมื่อ: มิถุนายน 09, 2016, 17:21:16 »
กระทู้แปลที่ยาวมาก

ขอบคุณครับ