สวัสดีครับเพื่อนๆ HLM ทุกท่าน
ไม่ได้มาแวะห้องนี้นานมากๆแล้ว 5555+ รอบแล้วรีวิวรถ รอบนี้ขออนุญาติรีวิวของชิ้นนึง ที่ในรถทุกคันมี (แหงแหละ ไม่มีจะมารีวิวได้ไงหวา...) และทุกคนก็จะมีคำถามบ่อยๆ นั่นก็คือ "โช้คอัพ" ครับผม ซึ่งวันนี้ โช้คอัพที่ผมจะมารีวิวนั่นก็คือ Bilstein รุ่น B6 นั่นเองครับผม
***ถ้าขี้เกียจอ่าน Version ยาว รูดลงไปด้านล่างเลยครับ มีสรุปแบบสั้นๆให้ฟังครับ***ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักโช้คยี่ห้อ Bilstein โดยคร่าวๆกันก่อนดีกว่าครับ
Bilstein เป็นบริษัทเก่าแก่ของเยอรมัน อายุตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 143 ปีแล้วครับ โดยมร. ออกุส บิลสไตน์ ได้ก่อตั้งบริษัทครั้งแรกในปี คศ. 1873 แรกเริ่มก็ผลิตพวกชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ และในที่สุดปี คศ. 1957 ทางบริษัท ได้เริ่มผลิตช็อคอัพระบบแรงดันแก็สให้กับบริษัท Mercedes-Benz AG เป็นครั้งแรกครับผม
หลังจากนั้น Bilstein ก็พัฒนาโช้คอัพมาเรื่อยไปครับ โดยพัฒนาให้กับบริษัทรถทั้งหลายมากมาย เช่น Mitsubishi, Nissan, Porsche, Subaru เป็นต้น
***ขอบคุณข้อมูลและรูปบางส่วนจากเวปไซต์
www.bilsteinthailand.com ด้วยครับ***
นอกจากผลิตให้รถโรงงานแล้ว ก็ยังพัฒนาโช้คให้กับวงการ Motorsport ด้วยครับ ดังจะเห็นอยู่ในรถแข่งรายการดังๆเช่น 24Hrs Nurburgring เป็นต้น
มีอะไรให้เลือกบ้าง???จริงๆ Line up สิ้นค้าของ Bilstein มันมีเยอะมากกกกกกครับ แต่ผมจะขออนุญาติคัดตัวที่มีขายในบ้านเรา และในรถยนต์นั่งที่ไม่ใช่กระบะนะครับ
Bilstein B4เริ่มจาก B4 ครับ เอาง่ายๆว่า B4 เป็นโช้คอัพสำหรับใส่ของเดิมโรงงาน สเปคการวาล์วมาเท่ากับโรงงาน พูดง่ายๆคือของโรงงานนั่นแหละครับ ใส่แล้วก็ได้ฟีลเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงครับ มีทั้งโช้คที่เป็นแบบธรรมดา และ Upside down ครับผม ซึ่งแล้วแต่รุ่นกันไป
Bilstein B6ตัวนี้ครับ พระเอกของเรา B6 ขอเรียกสั้นๆแบบนี้นะครับ ตัวนี้จุดประสงค์หลักคือ ทำมาเพื่อให้ฟีลลิ่งการขับที่ดีกว่าโช้คเดิม โดยที่ไม่เสียความนุ่มนวลไป พูดง่ายๆคือให้หนึบกว่าเดิม เกาะถนนและปลอดภัยมากกว่าเดิม ซึ่งในทฤษฎีจริงๆเป็นไปได้ยากพอสมควรอยู่นะครับ 5555+ เวปไซต์ฝรั่งเค้าก็โฆษณาไว้ว่าแบบนั้น ก็เดี๋ยวค่อยไปดูกันต่อครับว่าจะจริงแบบที่เค้าว่าหรือไม่ หน้าตาโช้คก็จะเป็นลักษณะเหมือนของโรงงานครับใส่แล้วความสูงรถก็ยังคงเท่าเดิมระยะ Stroke ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งโช้คอัพตัวนี้ใช้กับ
สปริงเดิมนะครับ ****ย้ำ****
สปริงเดิม ซึ่งเป็นจุดตายของหลายๆคนที่ไม่รู้จะเรียกพลาดได้ไหม เพราะก่อนซื้อผมพยายามอ่านรีวิวแทบจะพลิกแผ่นดิน Google ก็หารีวิวแบบที่ถูกต้องตามที่โรงงานอยากจะให้เป็นยากเหลือเกินครับ พบว่าคนส่วนใหญ่มักจะเอา B6 ไปจับกับ
สปริงโหลด ซึ่งเกิดอะไรขึ้น??? ทำให้ระยะยุบที่ควรจะเริ่มจาก 0 มันไม่เป็นไปตามนั้น พอระยะยุบเปลี่ยน อาการรถจะเปลี่ยนซึ่งส่วนใหญ่จะกระด้างกว่าเดิม และผลต่อมาคือ "พัง" ครับ เพราะเหมือนเรากดให้โช้คมันยุบเยอะๆอยู่ตลอดเวลาจากสปริงที่มันโหลดลงมานั่นแหละ ดังนั้นใครจะเอารุ่นนี้ไปใช้ กรุณาใช้กับสปริงโรงงานนะครับ ซึ่งทั้งหมดนี้ คู่แข่งชนตรงตัวเลยก็คือ KYB New SR กระบอกฟ้าๆนั่นแหละครับ
Bilstein B8จากข้อที่แล้ว... ที่ผมบอกว่า B6 ใช้กับสปริงโหลดไม่ได้ใช่ไหมครับ... นี่ครับ โช้คอัพสำหรับสปริงโหลด Bilstein เค้าก็ทำมาให้ชื่อรุ่น B8 ครับผม สังเกตุได้ว่า แกนโช้คจะสั้นกว่าตัวบน ใช้สำหรับสปริงโหลดครับ ซึ่งข้อมูลที่ผมพยายามหาพบว่า การ Valving ของ B6 และ B8 เหมือนกันเป๊ะๆ เพียงแต่ B6 ใช้กับสปริงเดิม B8 ใช้กับ สปริงโหลด เลือกใช้กันให้ถูกนะครับ เพราะกระบอกมันสีเหลืองมันกันเป๊ะๆ ถ้าไม่เอามาวางเทียบกันจะค่อนข้างตอบลำบากเลยทีเดียวครับ
Bilstein B12ตัวนี้คืออะไร??? มันคือโช้คอัพ B8 นั่นแหละครับ ไม่มีอะไร ผมเคยค้นแล้วสรุปว่า Part มันตรง B8 เป๊ะๆ เพียงแต่ Bilstein เค้าเลือกสปริงมาจับคู่ให้เรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันเค้าเลือกยี่ห้อ Eibach มาให้ครับ ฉะนั้นการทำงานระหว่างสปริงโหลดกับโช้คอัพ ก็น่าจะเข้ากันมากขึ้นในความคิดผมนะ เพราะไม่เคยลอง 555+
Bilstein B14ตั้งแต่ B14 เป็นต้นไปจะเป็น Coilover ละครับ คือ เป็นโช้คอัพที่มาพร้อมกับสปริงหลอด ปรับค่า Preload ได้ ปรับความสูงได้ แต่ปรับความหนืดไม่ได้ เค้าเซทมาให้แล้ว
Bilstein B16อันนี้หน้าตาเหมือน B14 ครับ ทำได้เหมือนกัน แต่ที่ต่างคือสามารถปรับความหนืดได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคำว่า "PSS" ตามหลังและตามด้วยเลขอีกทีครับ เท่าที่เคยเห็นมีสองแบบคือ PSS9 และ PSS10 คือปรับความหนืดได้ 9 และ 10 ระดับตามลำดับครับ
Credit :
www.bilstein.com/en ทำไมต้องเอา B6???รถที่ผมใช้เป็น Subaru WRX STi ปี 2015 ด้วยบุคลิครถแล้ว ถ้าเจ้าของ(คนอื่น)จะซื้อโช้คทั้งที ส่วนใหญ่หวยก็น่าจะออกที่ Coilover นะครับ เช่น Ohlins DFV , KW V3,Tein Monosport หรือ แม้แต่ Bilstein B16 เองก็ตาม แล้วทำไมผมมาเอาโช้คระดับกลางแบบนี้ล่ะ... เหตุผลแจกเป็นข้อๆคงประมาณนี้ครับ
1. รถผมนิสัยโช้คเดิมๆเป็นอะไรที่แข็ง และเด้งมากๆ คือความแข็งนี้ผมรับได้ครับ ไม่งั้นคงไม่ซื้อคันนี้ แต่ที่รับไม่ได้คือ "เด้ง" คือเหมือนโช้คมันจับสปริงไม่อยู่ ขา Rebound มันเลยพุ่งพรวดขึ้นมา ทำให้ขับแล้วไม่สบายในบางจังหวะครับโดยเฉพาะข้างหลังนี่อาการหนักสุด คนนั่งหลังพูดเป็นเสียงเดียวกันครับ และภรรยาก็เริ่มบ่นว่ามันไม่สบาย 555+
2. จากข้อแรก ผมเลยไปเจ็บกับ Ohlins DFV ตัวใหม่ล่าสุด ซึ่งแรกๆก็ดีครับ ขับสบาย และคมกว่าเดิมมากๆ แต่ปัญหาคือ "อายุสั้น"ครับ ด้วยถนนเมืองไทยเป็นแบบที่ทุกท่านทราบกันดี ตัว Pillowball mount ด้านบนโช้ค มันลาโลกตั้งแต่ยังไม่ถึง 10,000 กิโลฯครับ ผมเลยต้องเสี่ยงทางไปกับโช้คตัวอื่นต่อ ซึ่ง Ohlins ไม่ขอพูดถึงในที่นี้ครับ
3. ผมต้องการความสูงรถเท่าเดิม ไม่ต้องการโหลดใดๆทั้งสิ้น
4. ผมต้องการโช้คที่อายุเป็นโช้คปกติซักหน่อย คือไม่สั้นเป็นข้อ 2 เป็นอันโอเคมากๆละครับ
5. ผมเป็นคนขับรถไม่ได้เร็วอะไรมาก ที่ซื้อคันนี้เพราะสนุกกับอัตราเร่งมันที่สุดแล้ว ดังนั้น โช้คอัพที่บอกว่าเคยใช้ Ohlins มันเลยดูเกินความจำเป็นสำหรับผมไปอยู่โขเลย และจากข้อ 1-4 เลยต้องการ Back to the basic ลองดูเลยมาจบที่ B6 ครับ
ฟีลลิ่งเป็นยังไงบ้าง???ไม่พูดถึงก่อนช่วงที่รันอินนะครับ คือ ผมไม่แน่ใจว่าต้องรันอินเท่าไหร่ แต่ตอนนี้วิ่งไปประมาณ 7-8 ร้อยกิโลแล้ว สภาพโช้คน่าจะพร้อมรบประมาณนึงแล้วแหละ จะขออนุญาติแจกแจงเป็นช่วงความเร็วนะครับ ผมคิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายและนึกภาพออกมากที่สุด
0-40 กม./ชม. ผมว่าใกล้เคียงโช้คเดิมนะครับ มีบางจังหวะที่แข็งกว่าบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกถนนที่มีรอยต่อคมๆ เช่น ฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เสมอกับพื้น รอยต่อคอนกรีตที่บวมๆจากระดับพื้นมาหน่อย แต่โดยรวมถือว่าทำได้ดีครับ จากรีวิวที่อ่านส่วนใหญ่คือจะบอกว่า แข็งไส้แตกมากๆ 555+ เอาเข้าจริงผมกลับไม่เห็นด้วยนะ ดีกว่าที่ผมคิดไว้เยอะพอสมควรเลย
40-70 กม./ชม. ถึงตรงนี้ผมว่า จุดต่างจากโช้คเดิมจะเริ่มเห็นผลครับ คือความแข็งมันเท่าเดิม แต่การคุมสปริงไม่ให้มันดีดกลับแรงๆตอนขา Rebound ผมว่าทำได้ดีกว่าโช้คเดิมมากๆ ขับได้ค่อนข้างสุนทรีย์ยิ่งขึ้น การมุดในช่วงความเร็วประมาณนี้ยังทำได้ดีเหมือนเดิมไม่ต่างจากโช้คเดิมครับ
70-110 กม./ชม. ความเร็วประมาณนี้คือออกถนนทางหลวงแล้วถูกไหมครับ พวกที่เป็นลอนถนนป้านๆ บัมพ์หรืออะไรพวกนี้ B6 เก็บเรียบครับ คือมันรู้สึกดีกว่าโช้คเดิมมากๆ ส่วนเรื่องการสาดโค้งในความเร็วแถวๆนี้ผมว่าก็ยังคงดีกว่าโช้คเดิมนะ แต่อาจจะไม่ได้ชัดเจนขนาด คือมันยังมีจังหวะโยนแต่น้อยมากๆแล้วครับ มั่นใจกว่าเดิมอยู่บ้างแหละ ถ้าเทียบกับ Ohlins ที่เคยใช้ ผมว่ายังห่างกัน แต่ด้วยค่าตัวที่ถูกกว่ากันเอาราคา Ohlins หาร 3 เนี่ย ผมว่ารับได้มากๆแล้ว ไม่นึกด้วยซ้ำว่าโช้คราคาประมาณนี้จะทำได้เท่านี้
110 กม./ชม.+ โช้คตัวนี้ผมยังไม่ได้ซัดอะไรเยอะครับ มากสุดก็ประมาณ 140 ยังถือว่านิ่ง และแน่นกว่าโช้คเดิมอยู่ ขับได้สบายกว่าเดิม เหมาะสำหรับเดินทางไกลดังที่ผมตั้งใจเอาไว้อยู่ครับ เวลามุดเปลี่ยนเลนบนนทางหลวงที่ความเร็วสูงๆก็ไม่มีย้วย คุมรถได้คมกว่าเดิมพอสมควรเลยครับ
สรุปฟีลลิ่งโดยรวมมันลักษณะเหมือนรถยุโรปที่เซทมาแข็งๆหน่อยครับ แต่กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นก็ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง 555+ ถ้าเอาตามประสบการณ์ที่เคยขับรถยุโรปมา คิดว่าแข็งประมาณ VW Golf GTi กับ A250 AMG ครับ อยู่ระหว่างนี้
ข้อควรระวังในการอ่านรีวิวนี้...คือพอดีรถผมมีการเปลี่ยนของช่วงล่างเยอะพอสมควรในเวลาใกล้ๆกันเลยครับ คือ
1. แม็ก - ซึ่งของเดิมหนักวงละ 10.9 กิโลกรัม เหลือวงละ 8.3 กิโลกรัม - ซึ่งแน่นอนครับ ด้วย Unsrung weight ที่ลดลงมหาศาลขนาดนั้น ส่งผลต่อทั้งการขับขี่ และความสะเทือนที่ส่งมาห้องโดยสารพอสมควรครับ
2. ยาง - ของเดิม Dunlop SP Sport MAXX RT ระยะ 45000 โลซึ่งแก้มยางแข็งและดอกเริ่มหายไปบางส่วนแล้ว เปลี่ยนเป็น Michelin Pilot Sport 4 ขนาดยางเท่าเดิม
3. B6
ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ มันเปลี่ยนพร้อมกัน ทำให้ยากต่อการจับว่าตกลงจริงๆแล้วมันเป็นผลงานของใคร แต่ผมก็ยังเชื่อว่าเป็นผลงานของโช้คอัพอยู่ไม่น้อยกว่าครึ่งนึงแน่นอนครับ
Conclusionอ่ะ สรุปครับ...
โช้คตัวนี้จริงๆเหมาะสำหรับคนที่คิดว่า โช้คอัพรถเดิมมันเอาตัวคนขับไม่อยู่แล้ว อยากได้อะไรที่หนึบกว่าโช้คเดิมในราคาที่ไม่แพงมาก (ค่าเสียหาย 38,800 บาท สำหรับรุ่นผมนะ) ไม่อยากได้สตรัทปรับเกลียว ไม่อยากจุกจิกระวังว่าหัวบอลจะเสียจะพังจะเสียงดังอะไรไหม อยากได้โช้คที่ใช้งานนานๆหน่อย เสียก็เปลี่ยนต้นไปเลย ไม่ต้องเสียดายส่งร้านไปซ่อมไป overhaul ใหม่ โดยที่ไม่ได้แคร์ว่ารถตนเอง จะแข็งขึ้นมาอีกประมาณนึง รับได้กับแรงสะเทือนที่อาจจะสัมผัสขึ้นมาได้มากกว่าประมาณนึง
ถ้าตอบใช่หมดทุกข้อตามที่ผมเขียนเอาไว้ Bilstein B6 ก็เป็น 1 ในตัวเลือกที่ดีครับผม
สวัสดีครับ
ปล. มีข้อสงสัยอะไรถามไว้ด้านล่างครับผม ถ้าตอบได้จะพยายามมาตอบให้ครับผม