อันที่จริงแล้ว ถ้าใครคลิกไปดูประวัติกระทู้เก่าๆ ที่ผมโพสต์ไว้จะพบว่า รถที่ผมกะจะหมายปองครอบครองไว้นั้นคือ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ซึ่งเป็นรถคนละตระกูล ห่างกันคนละโยชน์เลยกับรถคันที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ สิ่งที่ผมต้องการในตอนนั้น คือบ้านผมมี 7 คน และไปเที่ยวด้วยกันอยู่เนืองๆ จึงเริ่มมีความต้องการรถที่จะไปเที่ยวได้ในคันเดียว เงื่อนไขที่ผมต้องการคือ เมื่อมีการโดยสารเบาะแถวที่ 3 ต้องยังเหลือที่ว่างสำหรับวางกระเป๋าเดินทางสำหรับ 7 คนได้ ซึ่งรถแวน 7 ที่นั่งส่วนใหญ่หลุดออกจากความสนใจผมไปเพราะข้อนี้ คือพอกางเบาะครบแล้ว เหลือที่แค่พอวางคอนเน่ 3 ถุง รถที่ตอบโจทย์ได้จึงเป็น PPV
ผมตัดสินใจว่าจะซื้อแน่ๆ ตั้งแต่ปี 2010 ในเวลานั้น ปาเจโร สปอร์ต คือรถที่ถูกที่สุด ให้ออปชั่นได้ครบ ใช้งานได้หลากหลาย ตามสไตล์ PPV ถือว่าคุ้มค่าเงินที่จ่าย และบ้านผมก็อยู่ใกล้ศูนย์ของมิตซูแห่งหนึ่งที่ผมพูดได้ว่า กระแสตอบรับจากผู้ใช้ ดีที่สุดในศูนย์มิตซูบิชิทั้งหมดในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ มิตซู ออโต้ซิตี้ ปาเจโรสปอร์ตจึงเป็นตัวเต็งที่ผมควรจะได้ซื้อ แต่ก็ถูกเบรกเอี๊ยดดดดดดดดด ด้วย Defect จำนวนมากในรถรุ่นนี้ ทั้งพาวเวอร์รั่ว จอหนังดับ SCV Valve วูบ เฟืองท้ายหอน สนิมกินขอบ ฯลฯ อีกทั้งไม่ได้รีบ จึงตัดสินใจ รอ รอจนกว่าปัญหาที่สำคัญจะได้รับการแก้ไข
รอไปรอมา เวลาก็ล่วงเลยมาถึงปี 2012 ปีที่มีความพร้อมจะซื้อจริงๆ และตัดสินใจจองรุ่น 2.5GT 2WD ไป แต่!!!!!!! ไม่ได้จองกับศูนย์ออโต้ ซิตี้ ผมไปจองกับศูนย์บริการอีกแห่งหนึ่งในย่านถนนบางนา-ตราด เพราะมายื่นข้อเสนอที่เย้ายวนใจ ของแถม เพียบ!!!!! ชนิดที่ออโต้ซิตี้ให้ไม่ถึงครึ่งของที่นี่ (สปอยเลอร์ สครับเพลท กล้องมองหลัง กรองป้าย ผ้ายาง ขัดเคลือบ พ่นกันสนิม และส่วนลด50% ฟิล์ม V-Kool Elite Package รอบคัน และอีก 2-3 อย่าง ถือว่าเยอะมากในช่วงนั้น ไม่ใช่แค่ออโต้ซิตี้ แต่แทบทุกศูนย์เลยที่ไปเจอมา ให้ไม่ได้) แถมยังรับรถได้เร็วกว่าออโต้ซิตี้เป็นเดือน จึงแอบนอกใจ ไปจองกับศูนย์นั้น
ผมเลือกติดฟิล์ม V-Kool Elite ซึ่งได้ของแถมเป็นส่วนลดครึ่งราคา ราคากลางจากสำนักงานใหญ่วีคูลกำหนดมาในขณะนั้น อยู่ที่ 26,500 บาท แต่ทว่า เรื่องก็มาเยือนผมถึงที่ หลังจากจองไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เซลล์ก็โทรมาแล้วบอกผมว่า ฟิล์มวีคูล รุ่นนั้นมีมูลค่า 60,000 บาท ลดราคา 50% เหลือ 30,000 บาท.............................
สามหมื่นบิดาท่าน!!!!!!!!!!!!!!!!!! ฟิล์มรุ่นเดียวกัน แต่แพงกว่ากัน 2 เท่ากว่า โก่งราคากันเห็นๆ กลายเป็นว่า เงื่อนไขเสียเปรียบเกือบทุกศูนย์มิตซูเท่าที่ผมเคยเจอมา เหมือนเราติดฟิล์มเอง (แถมยังต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มอีก 3,500) แต่ได้แค่ของแถมจุกจิกไม่กี่อย่าง เหมือนเราซื้อของแถมเองทุกอย่างด้วยซ้ำ หลังจากสู้กันอยู่ 2-3 ยก จนสุดท้ายเราจึงได้พูดคำนี้....... ถอนจอง!!!!!!!!!!!!!!!!!!!! อันที่จริงมันอาจเป็นคำที่เซลล์อยากได้ยิน เพราะการเอารถคันนี้ไปขายให้ลูกค้าเงินผ่อนน่าจะได้กำไรมากกว่าขายให้ผม แต่การจะยอมรับเงื่อนไขที่เสียเปรียบขนาดนั้นผมก็ไม่เอา ขนาดเรื่องขายยังมาหัวหมอกับผม ถ้าอนาคตเราต้องเคลมอะไรนี่ข้าพเจ้าจะฝากความหวังอะไรไว้กับท่านได้?
หลังจากนั้น มันก็เป็นจังหวะชีวิตที่ผลิกผัน แผนการเรื่องรถจึงเปลี่ยนจากรถ PPV คันเดียว เป็นรถกระบะ+รถเก๋งมือสองอย่างละคัน ซึ่งรถเก๋งมือสองที่ว่านี่ก็คือ Nissan Sunny N16 1.6 Super NEO นอนทับที่ของเจ้าปาปอดไปเรียบโร้ยยยยยยยย
------------------------------------------------------------------ หนึ่งในเอกลักษณ์ของ NEO ที่ผมนึกถึง นอกจากเรื่องความหรูหรา คือ การที่ไมเนอร์เชนจ์ มินิเชนจ์ เยอะสุดๆ ในตัวถังเดียว แบ่งได้ 5 ยุค (1 มินิเชนจ์ 3 ไมเนอร์เชนจ์) ดังนั้น ผมจะขอไล่เรียงนีโอ ตั้งแต่ยุคแรก ถึงยุคสุดท้าย ให้มันดูชัดเจนกันเสียก่อน
ยุคแรกของ Sunny NEO เปิดตัวในเดือนกันยายน 2000
วิธีสังเกตที่ชัดที่สุดคือสีเบาะ นีโอรุ่นแรกสีเบาะกำมะหยี่จะเป็นสีเทา ส่วนรุ่นเบาะหนังจะสีออกน้ำตาลแก่ๆ โดยในช่วงแรกของการเปิดตัวจะมีแค่ 2 รุ่นย่อยเท่านั้น คือ
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto) เป็นรุ่นต่ำ เบาะกำมะหยี่ มีทั้งเกียร์กระปุกและออโต้
-Super NEO (1.6 Auto) เป็นรุ่นท็อป มีเฉพาะเกียร์ออโต้ สิ่งที่จะได้เพิ่มจากรุ่น GL คือ เบาะหนัง ดิสก์เบรกหลัง ถุงลมฝั่งคนขับ ABS BA
คล้อยหลังมาปี 2001 คู่แข่งหลายรายเริ่มเปิดตัว ทั้ง Corolla E120, Civic Dimension, Lancer CeDia ทำให้นิสสัน ออกรุ่นท็อปกว่ามาเกทับ ทำให้รายชื่อรุ่นย่อยจากต่ำไปสูงเป็นดังนี้
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto)
-Super NEO (1.6 Auto)
-Almera SX (1.8 Auto)
-VIP NEO (1.6 Auto)
-Almera Young (1.8 Auto)
โดยที่คำว่า Almera กับ NEO จะต่างกันที่กระจังหน้า (Almera แยก, NEO ชิ้นเดียว), ไฟท้าย, เครื่องยนต์ (Almera ใช้เครื่อง 1.8 ฝาสีแดง, NEO ใช้ 1.6 ฝาสีขาว), ลายล้อ (Almera ลายปลาดาว, NEO ลายก้านถี่), และการตกแต่งภายใน (NEO ใช้ลายไม้, Almera ใช้เมทัลลิก) อัลเมร่า ได้ฐานกระจกมองข้างสีรถ ฯลฯ
แต่สำหรับออปชั่นความสะดวกสบายและความปลอดภัยนั้น Almera SX=Super NEO และ Almera Young=VIP NEO ครับ
รูปซ้าย เป็น NEO และรูปขวา เป็น Almera
ทีนี้มาดูรถแต่ละรุ่นย่อยกัน
ตัวอย่าง GL NEO เบาะกำมะหยี่ ไม่มีถุงลม (ถ้าใครดูไม่เป็น ดูอย่างง่ายที่สุด รถที่มีถุงลมคนขับ จะมีคำว่า SRS Airbag สลักไว้บนฝาแตรพวงมาลัยครับ ซึ่งจะไม่เห็นในรุ่น GL NEO)
ตัวอย่าง Super NEO เบาะหนัง ถุงลมคนขับ
ตัวอย่าง Almera SX 1.8 ถุงลมคนขับ สิ่งที่ได้เพิ่มเมื่อเทียบกับ Super NEO คือ CD Changer ที่ใต้แผงสวิตช์แอร์ และพวงมาลัยหุ้มหนัง แต่ออปชั่นโดยรวมถือว่าเท่ากัน
ตัวอย่าง VIP NEO เป็นเครื่อง 1.6 ฝาขาว ออปชั่นที่เพิ่มจาก Almera SX คือถุงลมฝั่งคนนั่ง ถ้าเข้าไปดูในเว็บรถมือสองนะครับ รถนีโอเกือบทุกคัน หน้าคนนั่งทางซ้ายจะมีหลุมเปล่าๆ อยู่บนคอนโซล แต่ VIP นีโอ หลุมนั่นจะกลายเป็นฝาปิดตันๆ ใต้ฝาตันๆ นั่นแหละครับคือถุงลม
ตัวอย่าง Almera Young ออปชั่นเท่า VIP NEO
------------------------------------------------------------------ ยุคที่ 2 ของนีโอ มาในเดือนเมษายน 2002 บอดี้ตัวเดิมเป๊ะ ฝากระโปรงหน้า กระจังหน้า ไฟท้าย เหมือนยุคแรก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ
*NEO เสาอากาศเปลี่ยนจากแบบมือดึงที่เหนือศีรษะผู้ขับขี่เป็นแบบไฟฟ้าที่ด้านหลังขวาของรถ ฐานกระจกมองข้างเปลี่ยนจากสีดำด้านเป็นสีเดียวกับตัวรถ ภายในเปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีเบจอ่อน หัวเกียร์ออโต้จากสีดำเป็นแบบชุบโครเมียม ฐานเกียร์ออโต้เปลี่ยนจากสีดำเป็นสีเรซินเมทัลลิก และที่สำคัญ เฉพาะรุ่น Super NEO เปลี่ยนลายล้อ เป็นลายปลาดาว แบบเดียวกับใน Almera (แต่รุ่น GL NEO จะใช้ล้อลายทึบเหมือนเดิม)
*Almera เปลี่ยนแปลงน้อยกว่า ภายในยังเป็นสีเทา ฐานเกียร์ดีสำ เปลี่ยนเฉพาะเสาอากาศไฟฟ้า ส่วนฐานกระจกข้างสีรถ ปุ่มปลดเกียร์โครเมียม อัลเมร่ามีตั้งแต่ยุคที่ 1 แล้ว
ภายนอก Super NEO ยุคที่ 2 ล้อลายปลาดาว
และอีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เกียร์ ในรุ่น 1.6 ลิตร NEO โดนด่าสะท้านเมืองว่าอืดมาก แต่ครั้นจะให้ขยับไปเล่น Almera 1.8 มันก็เกินไป ยุคที่ 2 ปรับการทดเฟืองท้ายของ NEO ใหม่ ให้รอบจัดขึ้น รถนีโอยุคนี้ไปแล้วจะแรงขึ้นกว่านีโอยุคแรกพอสมควร
ในยุคที่สองนี้ สยามกลการได้ตัดรุ่นย่อยของนีโอและอัลเมร่าออกไปอย่างละรุ่น คาดว่าเพราะไม่ต้องการให้รถที่มีออปชั่นเท่ากันมาขายขัดกันเองถึง 2 คู่ จึงยุบ Almera SX เพื่อชู Super NEO เพียงหนึ่งเดียว และยุบ VIP NEO เพื่อชู Almera Young เพียงหนึ่งเดียว ทำให้รุ่นย่อย จากต่ำไปสูงของยุคนี้ประกอบด้วย
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto /
1.6 Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำสุด
-Super NEO (1.6 Auto)
-Almera Young (1.8 Auto)
สังเกตที่ไฮไลต์ไว้นะครับ ว่าในรุ่นต่ำสุด GL NEO มีตัวเลือก ที่ชื่อว่า LEAT เพิ่มขึ้นมา เป็นรุ่นย่อยของรุ่นย่อยอีกที ซึ่งนีโอในยุคแรกจะไม่มีตัวเลือกนี้ แล้วถ้าถามว่า GL LEAT คืออะไร? คำตอบคือ ออปชั่นเท่าตัว GL ปกติ แต่จะได้เบาะหนังออกจากโรงงานเกรดเดียวกับ รุ่นที่สูงกว่า
แต่นีโอยุคแรก ไม่มีรุ่น GL LEAT นะครับ ท่านใดที่หามือสองของนีโอยุคแรกสุด และพบรุ่น GL เบาะหนังสีเทา ให้สันนิษฐานได้ก่อนว่า เบาะหนังนั้นอาจเป็นของแถมจากเซลล์ในตอนนั้น หรืออาจเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ หรือเจ้าของเก่า ไปติดเอาข้างนอก ซึ่งก็น่าจะเป็นเบาะพลาสติกหนังเทียมเกรดต่ำ แต่พยายามทำให้ดูเหมือนเบาะโรงงาน ไม่มีเบาะหนังออกจากโรงงานอย่างแน่นอนครับ
ตัวอย่าง GL NEO สังเกตว่า GL ในยุคนี้โดนลดเกรดวิทยุ เป็น Kenwood อีกตัวที่โลว์เกรดกว่า
ตัวอย่าง Super NEO
ตัวอย่าง Almera Young ไม่มีความเปลี่ยนแปลงจากยุคแรก ยกเว้นเสาอากาศไฟฟ้า และวิทยุเป็นเคนวูดที่เล่นซีดีได้ในตัว
------------------------------------------------------------------ ยุคที่ 3 มาในเดือนกันยายน 2003 อันนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งคัน ไฟท้าย เปลี่ยนเป็นลูกกลมๆ หรือที่เรียกกันในวงการรถมือสองว่า ท้ายแตงโม กระจังหน้า ดูเผินๆ คล้ายของเดิม แต่โลโก้นิสสันย้ายลงมาจากเดิมที่แปะบนฝากระโปรงลงมาอยู่รวมกับกระจังหน้า ล้อแม็กเปลี่ยนลายเป็นลายซี่ๆ ทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นล่างยันท็อป ดูเผินๆ จะคล้ายแม็กของ Teana J31 ซึ่งส่วนตัวผมว่าสวยและเข้ากับรถดีกว่าแม็ก 2 แบบเดิมมาก
เข้ามาภายใน สิ่งที่ชัดมากก็คือ ลายไม้ที่แผงประตู สองยุคแรกจะอยู่แค่เป็นกรอบรอบมือดึงประตู แต่ยุค 3 ไปแล้วจะลากยาวตลอดช่วงกว้างแผงประตู เพิ่มความหรูหราได้เยอะ ตัดลายไม้ที่ครอบสวิตช์กระจกและกรอบแอร์ทิ้งไปไม่ให้ดูล้น เบาะหนังเจาะรูระบายความร้อน (อลังการราวกับรถ D-Segment กันเลย) เปลี่ยนทรงพวงมาลัย เปลี่ยนทรงหัวเกียร์ออโต้ (เฉพาะ 1.8 )
รุ่นย่อยในยุคที่ 3 ก็มีรุ่นตามนี้
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำยันพื้นเช่นเดิม
-Super NEO (1.8 Auto) ได้ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag
-VIP NEO (1.8 Auto)
สังเกตว่าเครื่อง 1.8 เปลี่ยนจาก Almera มารวมอยู่กับ NEO ครับ ทำให้รถ 1.8 ที่แต่งตัววัยรุ่นขาดช่วงไปในตอนนี้ และอีกอย่างที่สำคัญคือ ถ้าคุณจะซื้อ NEO 1.6 ในช่วงนี้ หรูที่สุดที่ซื้อได้คือ GL LEAT ซึ่งก็ยังจัดเป็นตัวต่ำสุดอยู่ดี ได้แค่เบาะหนัง ไม่มีระบบความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้ดิสก์เบรกหลัง ไม่ได้ ABS BA ถุงลม ทั้งสิ้น คุณจะต้องซื้อ 1.8 เพื่อออปชั่นความปลอดภัย ซึ่งผมคิดว่าควรมีให้ผู้บริโภคได้เลือกบ้าง
ตัวอย่าง GL NEO รุ่นต่ำ ซึ่งมีการแอบลดต้นทุนอยู่ เพราะรุ่น GL ธรรมดา (ไม่ LEAT) ในรุ่นก่อนๆ จะใช้
เบาะกำมะหยี่ (ขนฟูๆ นุ่มๆ) แต่นับจากรุ่นนี้ไป จะใช้
เบาะผ้า (เตียนๆ)
ตัวอย่าง Super NEO ได้เพิ่มจาก GL คือวิทยุที่ดูไฮเทคกว่า (รึเปล่า), หัวเกียร์ทรงภูมิฐานกว่า ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag คนขับ
ตัวอย่าง VIP NEO ได้เพิ่มจาก Super คือถุงลมฝั่งคนนั่ง และลำโพงเสียงแหลม (ทวิตเตอร์) ที่เสาคู่หน้า
------------------------------------------------------------------ ยุคที่ 4 มาในเดือนพฤศจิกายน 2004 เป็นการไมเนอร์เล็กๆ เปลี่ยนแค่กระจังหน้าจากซี่ตั้งเป็นซี่นอน ส่วนที่เหลือเหมือนเดิมหมดครับ ทั้งการตกแต่งภายใน ภายนอก รุ่นย่อยและการจัดสรรออปชั่น
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำยันพื้นเช่นเดิม
-Super NEO (1.8 Auto) ได้ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag
-VIP NEO (1.8 Auto)
และเมื่อเข้ามาภายใน ข้อแตกต่างของนีโอยุคที่ 4 ที่เห็นได้ชัดมีเพียงอย่างเดียว คือลายไม้สีอ่อนกว่า ด้านกว่านีโอยุคที่ 3 และอัพเกรดวิทยุในรุ่น 1.8 ครับ
ตัวอย่าง GL NEO
ตัวอย่าง Super NEO
ตัวอย่าง VIP NEO
------------------------------------------------------------------ ยุคที่ 5 มาในเดือนมีนาคม 2005 เป็นการไมเนอร์ครั้งยิ่งใหญ่ ส่วนตัวผมคิดว่านี่คือการพัฒนาอย่างถูกทางของนิสสัน ว่าต้องการให้นีโอ เกิดมาเพื่อใคร เจาะตลาดกลุ่มไหน (จากเดิมที่รถเหมือนพยายามจะเจาะตลาดหลายกลุ่มเกินไปจนสไตล์หลายๆ ด้านของตัวรถขัดกันเอง ซึ่งจะกล่าวต่อไปในรีวิวครับ) โดยกระจังหน้าซี่นอน และไฟหน้า ขยายขนาดและปรับรูปทรงจนคล้าย Teana J31 ในขณะนั้น เมื่อรวมกับลายล้อแม็กที่คล้ายกันเข้าไปอีกดูเผินๆ ดูเป็น Mini Teana ได้สบายๆ จนคนที่ยังศึกษาเรื่องรถยังไม่ละเอียดพอมักจะแยกไม่ออก เรียกสับสนกัน ซึ่งผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น (ในราคาที่ถูกกว่าเกือบครึ่งล้าน และการกินน้ำมันที่ห่างกันคนละโยชน์)
การจัดไลน์อัพมีการปรับปรุงเล็กน้อย คือ
-GL NEO (1.6 Manual / 1.6 Auto / 1.6Auto LEAT) เป็นรุ่นต่ำยันพื้นเช่นเดิม
-Super NEO (
1.6 Auto / 1.8 Auto) ได้ดิสก์เบรกหลัง ABS Airbag
-VIP NEO (1.8 Auto)
มีการเพิ่มตัวเลือกเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเข้าไปในรุ่น Super NEO ซึ่งเป็นการคืนความปลอดภัยให้ผู้คนที่ไม่ต้องการเครื่อง 1.8 และนอกจากนี้ออปชั่นภายนอกภายในของ 1.6 Super และ 1.8 Super ยังเท่ากัน ถือเป็นสิ่งที่ดีครับ
ตัวอย่าง GL NEO
ตัวอย่าง Super NEO 1.6
ตัวอย่าง VIP NEO
หลังจากที่ใช้รถนีโอรุ่นแรกของผมแล้ว ถึงแม้ว่ามันจะดีในแบบของมัน แต่ผมรู้สึกได้ทันทีว่านีโอรุ่นสุดท้ายนี่แหละ คือนีโอที่ดีที่สุด ลงตัวที่สุด จุดยืนของตัวรถชัดเจนที่สุด
------------------------------------------------------------------ นี่ไม่ใช่รีวิวแรกของนีโอในเว็บบอร์ดนี้ครับ ก่อนหน้านี้มีสมาชิกท่านอื่นทำรีวิวนีโอไปแล้ว 2 ชุด คือ
1.NEO ยุคที่ 5 รุ่น GL NEO 1.6 Auto LEAT โดย Moza@135!!!
http://www.headlightmag.com/webboard2011/index.php/topic,20010.0.html2.NEO ยุคที่ 3 รุ่น GL NEO 1.6 Manual โดย NONT4477
http://www.headlightmag.com/webboard2011/index.php/topic,16502.0.html------------------------------------------------------------------
เอาล่ะ ถึงเวลาเริ่มพูดถึงรถคันนี้กันแล้วล่ะครับ จากบรรดานีโอ 5 รุ่นที่กล่าวไป รถคันนี้เป็นนีโอยุคที่ 1 รุ่น Super NEO 1.6 Auto รถรุ่นนี้มีรหัสตัวถังคือ N16 ซึ่งถึงแม้ว่าจะแปะชื่อว่า Sunny แต่ตัวจริงของมันไม่ใช่ Sunny มันไม่ใช่รุ่นที่พัฒนาต่อมาจาก B14 โฉมพระอาทิตย์ แต่ชื่อที่แท้จริงของมันคือ Nissan Bluebird Sylphy
จากที่ผมทราบมานั้น ต้องท้าวความย้อนกลับไปในยุคปี 1990 ขณะนั้น Nissan Bluebird เป็นรถขนาดกลาง ทำตลาดแข่งกับ Toyota Corona, Honda Accord, Mitsubishi Galant และคู่แข่งรายเล็กอื่นๆ ในตลาด ซึ่งขณะนั้นคู่แข่งทั้งหมด ออกแบบขนาดตัวถังรถไม่ให้เกินพิกัดที่กำหนด (ยาวไม่เกิน 4.7 เมตร กว้างไม่เกิน 1.7 เมตร เครื่องไม่เกิน 2.0 ลิตร) เพื่อเหตุผลด้านภาษีของรถ แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อตลาดเริ่มต้องการรถที่ใหญ่ขึ้น Honda Accord และ Mitsubishi Galant จึงทำรถรุ่นใหม่ให้ใหญ่เกินพิกัดโดยยอมเสียภาษีแพง (แอคคอร์ดรุ่นแรกที่เกินพิกัดคือรุ่นไฟท้ายก้อนเดียว ปี 1994 และกาแลนต์รุ่นแรกที่เกินพิกัด คือโฉมกาแลนต์อัลติม่า ปี 1992) ส่วนโตโยต้า เลือกที่จะทำ Camry ให้ใหญ่เกินพิกัด และตรึงขนาดของ Corona ไว้ที่เดิม ส่วนนิสสันเองก็คล้ายๆ กันโดยทำ Cefiro ให้ใหญ่เกินพิกัด และตรึงขนาด Bluebird ไว้ที่เดิม
เมื่อ Corona และ Bluebird ไม่ยอมขยายขนาดตัวเองตามกระแสนิยม จึงตกบัลลังก์ จากเดิมที่เคยได้ชื่อว่าเป็น D-Segment เต็มตัว กลายเป็นรถก้ำกึ่ง CD-Segment ไป และรายการคู่แข่งในตลาดจากเดิมที่เคยเป็น Corona/Accord/Bluebird/Galant ก็กลายเป็น Camry/Accord/Cefiro/Galant แทน และหลังจากนั้นประมาณสิบปี โคโรน่าและบลูเบิร์ดก็ยุติการผลิตไปในที่สุด
ต่อมา นิสสันทำ Nissan Pulsar รุ่นใหม่ขึ้นมา (ซึ่งเป็นรถขนาด C-Segment ระดับเดียวกับ Civic/Lancer/Corolla) โดยออกแบบให้หรูหราเกินราคา ให้กลายเป็นรถเล็กที่หรูพอๆ กับรถใหญ่ แต่ในขณะนั้นมันยังเป็นเรื่องใหม่ จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงคำว่า "หรูเล็ก" ซึ่งขณะนั้นก็เป็นจังหวะเหมาะที่ Nissan Bluebird กำลังจะถูกยกเลิกพอดี จึงโละชื่อ Pulsar ทิ้งไป ยืมชื่อ Bluebird มา แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า Sylphy กลายเป็นชื่อ Nissan Blurbird Sylphy โดยใช้คำว่า Bluebird สื่อถึงความหรูหรา และใช้ Sylphy สื่อถึงความกะทัดรัด (อารมณ์คล้ายๆ คำว่า Bluebird Mini) ใช้รหัสตัวถังว่า N16
กลับมาที่เมื่องไทย สยามกลการ เลือกที่จะเลิกใช้บริการ Nissan Sunny ตัวจริง แล้วนำ Bluebird Sylphy มาขายแทน แต่ครั้นจะใช้ชื่อนั้นก็กลัวอะไรสักอย่างขึ้นมา ดังนั้นเฉพาะในประเทศไทย ฮ่องกง จึงโละชื่อ Bluebird Sylphy ทิ้งไป แล้วแปะป้ายใหม่ว่า Sunny NEO
งง!!!! ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรครับ ผมเองต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจตรรกะการตั้งชื่อของค่ายนี้ ปัจจุบันผมก็ยังเข้าใจไม่หมดเลยครับ นิสสันในช่วงนั้น รถรุ่นเดียวกัน ตัวถังเดียวกัน แต่จับใส่ชื่อมั่วไปหมด ซึ่งในบทความทดลองขับ Nissan Almera คุณ J!MMY ก็ได้เขียนสาธยายความสับสนไว้เหมือนกัน
เมามันส์และมึนงงกว่านี้ ก็เคยมีมาแล้ว เช่น การนำ Skyline R31 ไปผลิตขายในออสเตรเลีย ด้วยชื่อ Pintara พอถึงปี 1988 ก็นำBluebird ATTESA U12 ทำตัวถัง Hatchback เป็นพิเศษ มาสวมป้ายชื่อ Pintara ขายต่อ
หรือ ตระกูลรถยนต์ Compact Hatchback เพื่อตลาดยุโรป อย่าง Pulsar ก็เคยขายทั้งในชื่อ Sunny และ Cherry มาแล้วก่อนหน้านี้ ยังไม่นับรุ่นพิเศษ 2 ประตู ที่ชื่อว่า EXA อีกนะ
ตัวอย่างสุดท้ายก็คือชื่อ Laurel อันเป็นรถยนต์ขนาดกลางขับล้อหลัง ที่ยกระดับความหรูจากตระกูล Bluebird อีกนิด ปี 1982 Nissan อยากเพิ่มเวอร์ชันหรู ให้กับ Sunny FF B11 เลยตกแต่งซะพิสดาร เบาะกำมะหยี่อย่างแพง แล้วใช้ชื่อรุ่นว่า Nissan Laurel Spirit (เคยมีเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย เป็นรุ่นพิเศษ 300 คันด้วยนะ!) พอทำขายรวม 2 เจเนอเรชัน ขายไม่ค่อยดี เลยเลิกไป แต่ Nissan ยังไม่เข็ด ยังนำชื่อ Laurel ไปสวมให้กับ Nissan Cefiro A31 สำหรับตลาดในแถบตะวันออกกลางในชื่อ Nissan Laurel Ultima อีกด้วย!!!
รถคันนี้ มีความยาว 4,470 มิลลิเมตร, กว้าง 1,695 มิลลิเมตร, สูง 1,445 มิลลิเมตร, ความยาวฐานล้อ 2,535 มิลลิเมตร, ความกว้างช่วงล้อ 1,470 มิลลิเมตรที่ล้อหน้า และ 1,450 มิลลิเมตรที่ล้อหลัง ซึ่งจัดว่าค่อนข้างเล็กกว่าคู่แข่งหลายเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่ยาวทะลุ 4500 มิลลิเมตรและมีความยาวฐานล้อ 2600 มิลลิเมตรกัน
หน้ารถใช้กระจังหน้าโครเมียม ไฟหน้ามัลติรีเฟลกเตอร์ตามปกติของรถยุ่น พร้อมไฟตัดหมอกหน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่น GL เป็นสิ่งที่หาได้ยากในรถ C-Segment ในยุคนั้น
เส้นสายด้านข้างชัดเจนว่าเน้นความหรูหรา รถดูผิดแผกไปจากรถอื่นๆ คือรถดูบวมใหญ่ ในขณะที่รถยุ่นหลายๆ เจ้าในยุค 1990-2000 ตั้งแต่ B จนถึง D Segment ส่วนใหญ่ยังมีสไตล์การออกแบบที่ทำให้รถดูแบนเตี้ย (ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่เล็กเลย) ถึงแม้ว่าอันที่จริงแล้วการออกแบบรถให้บวมใหญ่กำลังเบ่งบานแอบซ่อมอยู่ในแผนกพัฒนารถรุ่นใหม่ของหลายค่ายหลายยี่ห้อ ก่อนจะโผล่มาตูมพร้อมๆ กันในช่วง 1-2 ปีหลังจากการเปิดตัวของนีโอ (ทำให้รถป้ายแดงปี 2002 ดูต่างยุคกับรถปี 2000 ราวกับอายุอานามห่างกันนับสิบปี)