จากบทความนี้ คิดว่าเป็นไปได้หรือเปล่าครับ
http://www.thairath.co.th/content/474241เรื่องน้ำมันราคาถูกลงอย่างต่อเนื่องนี่ ถ้าไปถามคุณทนง ขันทอง บรรณาธิการอาวุโสของกลุ่มเนชั่น และ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ก็น่าจะได้คำตอบ เพราะทั้งสองท่านเป็นคนไทยที่ได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ไปดูงานและเรียนรู้เรื่อง fuel cell หรือเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งเป็นพลังงานไฮโดรเจน 10 วันเต็ม เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2552
ที่จริง ญี่ปุ่นแอบพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนมานานหลายสิบปี แต่ไม่ได้เปิดความก้าวหน้าและผลสำเร็จต่อโลกภายนอกนักเท่าใด ผู้รู้หลายท่านให้เหตุผลว่า น่าจะมาจากการที่ญี่ปุ่นยังเกรงอิทธิพลของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่และของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เมื่อบุชได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นบุชผู้พ่อ หรือบุชผู้ลูก ญี่ปุ่นจะทำตัวเงียบเชียบเรื่องเซลล์เชื้อเพลิง เพราะครอบครัวตระกูลบุชทำธุรกิจที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับน้ำมัน
กระทั่งหมดสมัยของบุชผู้ลูก วันแรกที่นายโอบามาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นก็เชิญนักเขียนจากอินเดีย จีน ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง มัลดีฟส์ ฯลฯ ประเทศละคนสองคน รวมแล้วสิบกว่าคนไปดูความก้าวหน้าของเซลล์เชื้อเพลิงทันที พ่อเล่าว่า เมื่อดูงานเสร็จ พวกนักเขียนแถวหน้าของประเทศต่างๆเหล่านั้นยังคุยกันเลยว่า ถ้าเมื่อไรรถยนต์ที่วิ่งด้วยพลังงานไฮโดรเจนออกวางจำหน่าย ราคาน้ำมันก็จะร่วงลงอย่างมาก
และก็เป็นความจริงครับ ขณะนี้มีผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ผลิตรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนหรือเซลล์เชื้อเพลิงออกมาจำหน่าย องค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับเซลล์เชื้อเพลิงถูกแอบศึกษาวิจัยและพัฒนาจนจะสามารถมาแทนที่น้ำมันได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้
อนาคตไม่น่าจะเกิน 20 ปี เมื่อใครพูดถึงน้ำมัน ก็จะเป็นการพูดถึงเรื่องในอดีตที่แสนเชย เหมือนกับคนอวดว่ามีบุตรหลานจบปริญญาตรี-โท-เอก วิศวกรรมศาสตร์ทางโทรเลขในสมัยนี้นั่นแหละครับ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โทรเลขยังมีประโยชน์ แต่พอถึงวันนี้ เป็นเรื่องล้าสมัย เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลัง พ.ศ.2540 ไม่มีใครรู้จักโทรเลขแล้วครับ
สิบกว่าปีก่อน นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ เป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ได้ชักชวนให้พ่อผมเป็นที่ปรึกษา รมช.ต่างประเทศ พ่อผมแนะนำให้ท่านพาคณะไปดูงานพลังงานทดแทนที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ท่านปรีชายังให้พ่อผมบรรยายรับใช้ข้าราชการไทยที่ทำงานในหน่วยงานของไทยในภาคพื้นยุโรปฟังที่เยอรมนี ตอนนั้นพ่อผมก็พูดเรื่องเซลล์เชื้อเพลิงหรือพลังงานไฮโดรเจนนี่แหละครับ
คอลัมน์หน้า 2 ของ 1 มกราคม 2548 ซึ่งเขียนโดย ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ก็เขียนเรื่องพลังงานไฮโดรเจน ผมไปอ่านเปิดฟ้าส่องโลกย้อนหลังดูใน
www.nitipoom.media อ่านแล้วก็ทราบว่า พลังงานไฮโดรเจนมีพัฒนาการมาอย่างไร ซึ่งผมขออนุญาตยกบางข้อความมารับใช้นะครับ ย้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่านี่เป็นข้อความในเปิดฟ้าส่องโลกเมื่อ 10 ปีก่อน
“อีกพลังงานหนึ่งซึ่งกำลังมาแรงก็คือ พลังงานไฮโดรเจน ที่เหนือกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่น เพราะมีคุณสมบัติที่เคลื่อนย้ายได้เหมือนพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) เป็นเชื้อเพลิงได้ หมายความว่า สามารถเผาไหม้ ให้พลังงานความร้อน ใช้หุงต้มได้ หรือจะใช้สันดาปภายในเหมือนน้ำมันก็ได้ ไฮโดรเจนยังสามารถกลับมารวมตัวกับออกซิเจน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยตรง”
“อนาคตจะเป็นโลกของไฮโดรเจนที่ใช้ทำเซลล์เชื้อเพลิง”
“พลังงานทดแทนไฮโดรเจนจะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกได้มากยิ่งกว่าพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งได้ปฏิวัติวิถีมนุษย์มาแล้ว”
“มหาเศรษฐีโลกกลุ่มใหม่จะเป็นพวกที่เข้าใจพลังงานทดแทนประเภทไฮโดรเจนอย่างถ่องแท้” “รัฐบาลครับ ผู้อ่านที่เคารพครับ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทุ่มสุดตัวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทนประเภทไฮโดรเจน”
พรุ่งนี้ ผมขออนุญาตกลับมารับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพกันต่อครับ ว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ ซึ่งตอนนั้นเดินทางร่วมกับคุณทนง ขันทอง บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น ได้ไปเรียนรู้พลังงานทดแทนหรือพลังงานไฮโดรเจนอะไรมาบ้างที่ญี่ปุ่น
ในอนาคตน้ำมันจะถูกกว่านี้มาก บาร์เรลละ 50 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ผลิตน้ำมันร้องโอดโอยโหยหวนนี่ ก็ยังแพงไปครับ