ผู้เขียน หัวข้อ: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version  (อ่าน 44697 ครั้ง)

ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 15:53:16 »
*****บทนำ

ก่อนอื่น บทความฉบับนี้ สารภาพตามตรงเลยครับว่า ทั้งลำดับการเรียงข้อมูล รูปแบบการนำเสนอข้อมูลนั้น ยกมาจาก Full Review ของทางเวบ แทบทั้งหมด จะมีก็แต่ภาษาที่เขียนนั้นพยายามใช้ภาษาในรูปแบบของผมเอง อย่างไรก็ตาม หลังจากลองอ่านดู มันก็ยังดูคล้ายกับรีวิวคุณจิมมี่อยู่ดี แต่รับประกันได้ว่าเนื้อหาทั้งหมด ไม่ได้ลอกแน่นอนครับ (เพราะยังไม่มีรีวิวรถรุ่นนี้นั่นเอง) เนื้อหาส่วนใหญ่......ไม่สิ แทบจะทั้งหมดนั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น ทั้งหมดมีผมเป็นผู้แปลแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นอาจจะมีความคลาดเคลื่อนบ้างจากการแปล  และเพราะเหตุผลข้างต้น บทความชิ้นนี้ ผมจึงไม่ได้นำไปเผยแพร่ที่ช่องทางอื่น


ขอบคุณครับ และขอให้สนุกกับบทความข้างล่างนี้ครับทุกท่าน
***และ เนื่องด้วยผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ทำให้ข้อมูลบางอย่างเริ่มจะไม่ถูกต้อง ตรงไหนที่มีปรับปรุง จะเขียน “***เพิ่มเติม” ไว้ข้างหน้าครับ
.
.
.
หลังจากเห็นหลาย ๆ ท่าน ได้รีวิวรถ Subaru ในครอบครองกัน ผมซึ่งเองก็ชื่นชอบในแบรนด์นี้เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ขับแบบจริงๆ จังๆ เสียที พอดีมีโอกาสได้เช่ารถเพื่อใช้เที่ยวในญี่ปุ่น จึงขอเอามาเขียนรีวิวการใช้งานคร่าว ๆ ?
Subaru Levorg 1.6GT…



มันคืออะไร ต่างจาก Legacy ยังไง เกี่ยวกับ Toyota มั๊ย ไปหาคำตอบกันครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2015, 16:19:21 โดย champyadme »

ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 15:55:25 »
*****ประวัติความเป็นมา



Subaru Levorg ถูกเปิดตัวเมื่อ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.2013 ในงาน Tokyo Motorshow ครั้งที่ 43 โดยที่รถยนต์รุ่นนี้จะถูกจำหน่ายเฉพาะตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น เป็นรถยนต์ทรง Station Wagon 5 ประตู ขนาด 5 ที่นั่ง พํฒนามาจาก Subaru Impreza เจเนอเรชั่นที่ 4 หรือรุ่นปัจจุบันที่มีการทำตลาดอยู่ (และยังถูกพัฒนามาพร้อม ๆ กับ Subaru WRX S4 หรือชื่อที่คุ้นเคยกว่าคือ Subaru Impreza WRX) ส่วนสาเหตุที่รถรุ่นนี้ไม่ได้ชื่อ Impreza touring นั้น เพราะ Subaru ต้องการวางตลาด Levorg ให้เหนือกว่า Impreza (ซึ่งจะเห็นได้จาก Impreza WRX รุ่นใหม่ก็ไม่ได้ใช้ชื่อ Impreza แล้ว เหลือแค่ WRX S4) ตำแหน่งการตลาดของรถรุ่นนี้ จึงมาถมช่องว่างระหว่าง Impreza และ Legacy
ส่วนที่มาของชื่อรถนั้น มาจาก

LEVORG=LEGACY、REVOLUTION、TOURING

ซึ่งสื่อได้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Legacy Touring
และจากการที่ Levorg มาแทนที่ตำแหน่งของ Legacy Touring ทำให้ Legacy รุ่นล่าสุดนั้น (เจเนอเรชั่นที่ 6) ในตลาดญี่ปุ่นมีรูปแบบตัวถังให้เลือกเพียงแค่ 2 แบบ คือ Sedan และ Outback (ยกสูง)
แล้วทำไมไม่ขาย Legacy Touring ต่อ ทำรถรุ่นใหม่ขึ้นมาทำไม?
เพราะว่าถนนญี่ปุ่นแคบครับ....
เหตุผลชวนน่าสงสัย แต่มันมีที่มาครับ เนื่องด้วย Subaru นั้น ตั้งใจทำ Legacy รุ่นใหม่เพื่อตอบสนองตลาดอเมริกัน
ทำให้ขนาดตัวถังใหญ่เทอะทะเกินไปสำหรับถนนในประเทศญี่ปุ่น



และอีกข้อหนึ่ง จากกราฟข้างบน สีน้ำเงินคือ ยอดขายที่ญี่ปุ่น สีเหลืองคือยอดขายที่อเมริกา เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ยอดขายนั้น สวนทางกันอย่างมาก
และเนื่องด้วยคนญี่ปุ่นนิยมรถทรงท้ายตัดมากกว่า  หวยจึงไปออกที่ Legacy Touring ในตลาดญี่ปุ่นถูกย่อขนาดกลายเป็น
Levorg ด้วยสัดส่วนที่สั้นลง 10 เซนติเมตร ระยะฐานล้อสั้นลง 10 เซนติเมตร ความสูงลดลง 7 เซนติเมตร แต่ถึงจะเล็กลง
แต่พื้นที่เก็บของท้ายรถได้รับการเคลมว่าเพิ่มขึ้นจาก Legacy Touring รุ่นที่แล้ว ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะลดขนาดตัวถังลง  แต่ Levorg ก็คงยังอยู่ในพิกัดรถขนาด Number 3 คือ กว้างกว่า 1.7 เมตร (ภาษีแพงกว่า Number 5 ที่ความกว้างตัวถังไม่เกิน 1.7 เมตร)
และรถรุ่นนี้ยังถูกสงวนไว้เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น นัยว่าทำโดยคนญี่ปุ่น เพื่อคนญี่ปุ่นกันเลย



*****การออกแบบ

จากบมสัมภาษณ์ของ chief design คุณ Kobayashi Masahiko (ผมหาชื่อภาษาอังกฤษไม่เจอ ไม่แน่ใจว่าชื่อนี้รึเปล่านะครับ) เป้าหมายการออกแบบ Levorg คือ “Innovation of Sport Tourer” เป็นการนำความ Sport ความคล่องตัว ความโฉบเฉี่ยว ของ WRX Sti มารวมกับความอเนกประสงค์ของ Legacy Touring ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาในลักษณะ Shooting Brake คือมีส่วนท้ายลาดลงเล็กน้อย ไม่ได้มาแบบทรงกล่อง ๆ





และ ในปี 2014 Levorg ก็ได้รับรางวัล GOOD DESIGN AWARD จาก Japan Institute of Design (แต่รางวัลสูงสุด Gold award เป็นของ Mazda 2ใหม่ครับ)
ด้วยสัดส่วน ความยาว 4690 มิล กว้าง 1780 มิล สูง 1490 มิล และฐานล้อ 2650 มิล Levorg จึงน่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม C-segment ยุคใหม่ได้อย่างพอดี (ซึ่งสัดส่วนระดับนี้ เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับ Legacy รุ่นที่ 4  BL/BP มาก 4680*1730*1470*2670 พร้อมน้ำหนักตัวรถเปล่าอยู่ที่ 1520-1560 กิโลกรัมตามแต่ละรุ่นย่อย ทำให้สื่อหลายสำนักยก Levorg เป็นตัวแทนของ Legacy รุ่นนั้น ซึ่งถือว่าเป็น Legacy ที่ดีที่สุดตั้งแต่มีมา)

เมื่อเทียบกับคู่แข่ง Mazda 3 Hatchback 4460*1795*1470-1480*2700 จะเห็นได้ว่า Levorg ยาวกว่า 3 เซนติเมตร แคบกว่า 1.5 เซนติเมตร สูงกว่า 1-2 เซนติเมตร และฐานล้อที่สั้นกว่า 5 เซนติเมตร (เนื่องด้วยผมยังไม่มีโอกาสได้ลองนั่ง 3 ใหม่เลย จึงไม่สามารถบอกความแตกต่างได้)  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2015, 16:19:45 โดย champyadme »

ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 16:02:10 »
*****ภายนอก

เริ่มจากด้านหน้า กระจังหน้าทรง 6 เหลี่ยมสีดำพร้อมด้วยซี่แนวนอน 3 ซี่ ล้อมกรอบด้วยโครเมี่ยม (สีจะแตกต่างไปตามแต่ละรุ่นย่อย)  ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบของ Subaru ยุคปัจจุบัน ตามด้วยโคมไฟหน้าแบบ Projector ขนาบด้วยหลอดแบบ led ในรุ่น 1.6GT-S EyeSight และ 2.0GT-S EyeSight (รุ่นที่เหลือจะได้เพียงไฟ Halogen) พร้อมไฟหรี่ทรงบูมเมอแรง และไฟตัดหมอกทรงกลม รวมทั้งที่ฉีดล้างไฟหน้า (ไม่มีในรุ่นที่ได้ขับ)  ฝากระโปรงมีช่องรับลมที่ต่อไปยัง intercooler เพื่อระบายความร้อนของอากาศจากเทอร์โบก่อนเข้าเครื่องตามสไตล์รถยนต์ Subaru (ใช่แล้วครับ Levorg ทุกรุ่นมี เทอร์โบ!!)



ด้านข้างเริ่มจากล้อทั้ง 4 มีโป่งยื่นออกมาจากตัวรถ เพิ่มความทะมัดทะแมง และยังประกอบไปด้วยเส้น 2 เส้น เส้นบนลากขนานจากโป่งหน้าผ่านตัวถังไปจรดไฟท้าย เส้นล่างเชื่อมล้อหน้าและล้อหลังไว้ด้วยกัน รวมทั้งมีสันบนโป่งล้อหลัง เส้นหลังคาลากโค้งตอนปลายตามธีมออกแบบ shooting brake โดยรวมทำให้ตัวรถดูไม่เหมือนรถแวนทั่วไป มีความโฉบเฉี่ยวในตัวเอง  รวมทั้งชายล่างออกแบบมาให้เหมือนมี สเกิร์ตยื่นออกมาจากตัวรถอีกนิด



ด้านท้ายไล่จากข้างบนลงมา มีสปอยเลอร์ฝาท้ายพร้อมไฟเบรกมาให้ครบทุกรุ่น พร้อมที่ปัดน้ำฝนหลัง ไฟท้ายแบบ led ทรงเดียวกับไฟหรี่ด้านหน้า มีแถบโครเมี่ยมพาดกลางระหว่างไฟท้าย ถัดลงมามีโลโก้ Symmetrical AWD และชื่อรุ่น Levorg ล่างสุดมีแถบทับทิมสะท้อนแสงสีแดงและท่อไอเสียแยกซ้าย-ขวาพร้อมปลายโครเมียม

ทุกรุ่นมาพร้อมกระจกกรองรังสี UV รอบคัน เฉพาะบานหน้าเพิ่มการกรองรังสี IR ส่วนกระจกครึ่งคันหลังเป็นแบบ Privacy glass สีเข้ม
ในรุ่น1.6GT และ 1.6GT EyeSight จะให้ยางขนาด 215/50R17 พร้อมล้อแมคสีดำครอบด้วยฝาครอบทรง 7 ก้านสีเทา ส่วนรุ่น 1.6GT-S EyeSight, 2.0GT EyeSight, 2.0GT-S EyeSight จะมาพร้อมยาง 225/45R18 ล้อาย 5 ก้านคู่ ซึ่งสีแตกต่างกันในแต่ละรุ่นย่อย



กุญแจรีโมทหน้าตาสวยงามมี 3 ปุ่ม ล๊อค-ปลดล๊อคและปุ่มเปิดฝาท้าย มาพร้อมระบบปลดล๊อคแบบเดียวกับโตโยต้ารุ่นใหม่ ๆ เพียงเดินเข้าไปใกล้ตัวรถพร้อมกุญแจ เมื่อล้วงมือเข้าไปในที่จับ รถจะปลดล๊อคให้ทันที (เสียง ปิ๊บๆยังใช้เสียงแบบเดียวกันกับ Toyota ด้วย) ส่วนการล๊อครถทำได้โดยการสัมผัสที่แถบนูนๆบริเวณมือจับ



ประตูหน้าเปิดได้กว้างเกือบ ๆ จะ 90 องศา การเข้าออกรถไม่มีปัญหาใด ๆ  สำหรับตัวผม สูง 172 เซนติเมตร เพียงแต่ระดับเบาะนั่งที่จุดต่ำสุดจะค่อนข้างเตี้ย ซึ่งจะสัมผัสได้ชัดเจนขณะก้าวลงจากรถ ทำให้การลุกออกอาจจะต้องพยุงตัวช่วยเล็กน้อย
ส่วนประตูคู่หลัง สารภาพตามตรงคือ ผมลืมเข้าไปนั่งที่เบาะหลังครับ ไม่แม้แต่จะเปิดประตูคู่หลังครับ.....อุตส่าห์ตั้งใจจะเขียนรีวิวทั้งที 555
แต่จากปากคำผู้โดยสาร ทุกคนไม่มีปัญหากับการนั่งเบาะหลังครับ


*****ภายใน



ด้านการตกแต่งภายใน เน้นโทนสีดำเป็นหลักตัดกับ Trim สีเงิน พร้อมการตกแต่งชุดควบคุมระบบปรับอากาศแบบ Piano Black พื้นผิวสัมผัสไม่สาก แข็ง แบบรถประกอบบ้านเรา กดลงไปมีการยุบและคืนตัวในระดับเหมาะสม และเฉพาะรุ่น S จะได้สิ่งต่าง ๆ เพิ่มดังนี้
-   เบาะนั่งทรงสปอร์ต หุ้มหนังกลับ Alcantara เพิ่มความกระชับตรงปีกเบาะ พร้อม Lumbar support ปรับไฟฟ้ามาให้ในเบาะคนขับ
-   พวงมาลัย/หนังหุ้มคันเกียร์/แผงประตู/คอนโซลกลางเดินด้ายสีน้ำเงิน (รุ่นธรรมดาก็เป็นหนังแต่ด้ายสีเงิน)
-   Trim สีเงินเปลี่ยนเป็นลายคาร์บอนสีเงิน
-   แป้นเหยียบอลูมิเนียม
-   กาบบันไดข้างอลูมิเนียม

ทุกรุ่นมาพร้อมเบาะผ้า ซึ่งสามารถเลือกเปลี่ยนเป็นเบาะหนังได้ (สีดำ/งาช้าง)

จากบทสัมภาษณ์ของ Project General Manager คุณ Kumagai Yasunori แผงแดชบอร์ดนั้น  ใช้ Audi เป็น benchmark ในการออกแบบ (แต่ส่วนตัวผมว่าคล้าย VW golf ที่มาในสไตล์เรียบ ๆ มากกว่านะครับ)

ไล่จากขวามาซ้าย แผงควบคุมกระจกไฟฟ้าอัตโนมัติทั้ง 4 บาน พร้อมระบบปรับ/พับกระจกข้างไฟฟ้า และปุ่มล๊อคประตู ทั้งหมดอยู่บนแผงประตู ที่วางแขน เมื่อปรับเบาะต่ำสุด อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ก้ม-เงยจนเกินไป ส่วนรองข้อศอกบุนุ่มไว้ให้ด้วย ช่องเก็บของข้างล่างสามารถใส่ขวดน้ำและไอแพดลงไปได้พอดี ช่องแอร์ทรงสี่เหลี่ยมพร้อมกรอบสีเงิน (ที่ดูเชยมาก ๆ เมื่อเทียบกับตัวรถ) ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาแตกต่างไปแต่ละรุ่นย่อย คันที่ทดลองขับมีที่ปรับระดับสูง-ต่ำไฟหน้า ความสว่างไฟหน้าปัทม์ และปุ่มปิดระบบควมคุมการทรงตัว (มีในทุกรุ่นย่อย) ซ้ายสุดเป็นที่อยู่ของปุ่ม Push Start แบบสหกรณ์จากโตโยต้า...

ในรุ่นย่อยอื่นจะมีระบบบันทึกหน่วยความจำเบาะนั่งให้ 2 ตำแหน่ง พวงมาลัยเป็นทรง 3 ก้าน แบบ Telescopic ปรับขึ้น-ลง ซ้าย-ขวาด้วยมือ พร้อมเฉือนส่วนล่างออกแบบพวงมาลัยรถสปอร์ต วงพวงมาลัยค่อนข้างใหญ่ เหมาะสำหรับคนมือใหญ่ จับกระชับดีมาก แต่ไม่แน่ใจว่าคนมือเล็ก ๆ จะมองว่าเทอะทะไปหรือไม่นะครับ มาพร้อมกับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (ในรุ่นที่มี EyeSight จะเป็น Adaptive Cruise Control ปรับความเร็วและระยะห่างตามรถคันข้างหน้าได้) ข้างล่างเป็นปุ่ม SI-Drive ซึ่งจะขอยกไปพูดในส่วนการขับขี่ ส่วนปุ่มปรับเครื่องเสียงนั้น คุณต้องเลือกติดระบบเครื่องเสียงมาจากโรงงานเท่านั้นจึงจะมีมาให้ (รถที่นี่ขายกันแบบไม่ติดตั้งวิทยุให้ครับ)

ข้างล่างเป็นปุ่มควบคุมหน้าจอ MID กลางหน้าปัทม์  ข้างหลังมี paddle shift ไว้เพื่อล๊อคอัตราทดเกียร์ CVT ซ้าย – ขวา + ไฟหน้าแบบเลือกเปิด-ปิดอัตโนมัติได้พร้อมวงแหวนเปิด-ปิดไฟตัดหมอกหน้าอยู่ด้านขวา ด้านซ้ายเป็นที่ปัดน้ำฝนแบบเลือกเปิด-ปิดอัตโนมัติได้พร้อมที่ควบคุมใบปัดน้ำฝนหลัง ถัดมาเป็นที่อยู่ของเครื่องเสียง คันที่ทดลองขับเป็นเครื่องเสียงที่น่าจะถูกนำมาติดตั้งภายหลัง ของ Carrozzeria (เครือ Pioneer) พร้อมระบบนำทางผ่านดาวเทียม คุณภาพเสียงดีอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ถึงกับใสขนาดจะสามารถแยกแยะเสียงจากแต่ละเครื่องดนตรีออกได้ และเนื่องด้วยไม่มี Tweeter ทำให้เสียงแหลมหายไปเล็กน้อย ข้างล่างเป็นระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกซ้าย-ขวา ปรับได้ทั้งเย็น-ร้อนตามสไตล์เมืองหนาว แต่ว่าเมื่อสตาร์ทรถทุกครั้งต้องมาคอยปิดระบบไหลเวียนอากาศจากภายนอกเอง ด้านซ้ายบนเป็นถุงลมนิรภัยฝั่งคนนั่ง ข้างล่างมีช่องเก็บของ สำหรับใส่คู่มือรถ ทะเบียน และของอื่น ๆ ได้อีกเล็กน้อย ด้านบนเป็นที่บังแดดพร้อมกระจกและไฟแต่งหน้าในตัวแบบมีฝาปิด มีมือจับเพดานครบทั้ง 4 ตำแหน่ง บนเพดานมีไฟส่องแผนที่ซ้าย-ขวามาให้ (ซึ่งผมคุ้น ๆ ว่าจะเป็นอุปกรณ์เดียวกันกับ Legacy BD/BG รุ่นปี 1997!!!)

ถัดจากแอร์ข้างล่าง เป็นช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า 12V (แต่ในรุ่นย่อยอื่น ๆ จะมีช่องเสียบ USB มาให้ด้วยอีก 2 ช่อง) คันเกียร์แบบรถปกติทั่วไป สามารถเลือกโหมด M โดยการผลักไปทางขวาจากตำแหน่ง D แต่การเปลี่ยนเกียร์ทำได้ที่ paddle shift เท่านั้น ทว่าในการใช้งานจริง ผมพบว่า การใช้งาน paddle shift นั้น เมื่อต้องหมุนพวงมาลัย แป้นก็จะหมุนตามพวงมาลัยไป ทำให้เวลาลงเขาแล้วต้องเลี้ยวโค้งแคบ ๆ เช่น เนิน Irohazaka ใน Nikko จังหวัด Tochigi นั้น การที่ต้องหมุนพวงมาลัยเยอะ ๆ กับการเปลี่ยนเกียร์นั้นไม่ค่อยจะสะดวกเท่าไหร่ ถัดจากคันเกียร์ คันที่ทดลองขับมีเพียงปุ่มเปิด-ปิด ระบบ Auto Start-Stop มาให้ แต่ในรุ่นย่อยอื่น ๆ จะมี ปุ่มควบคุมเบาะทำความร้อนมาให้ด้วย





เบรคมือนั้น เป็นแบบด้ามทั่วไปในคันที่ทดลองขับ แต่รุ่นย่อยอื่น ๆ ที่มี  EyeSight จะได้สวิทช์เบรคมือแบบไฟฟ้าพร้อมระบบ Hold (เวลาติดไฟแดง เหยียบเบรคจนสุด รถจะหยุดนิ่งโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ เมื่อจะออกรถก็เหยียบคันเร่งลงไปได้เลย)



ถัดมาเป็นที่วางแก้ว ได้ 2 ช่อง พร้อมฝาเลื่อนเปิด-ปิด ตามด้วยช่องเก็บของพร้อมที่วางแขวนแบบเลื่อนได้ ใช้งานได้จริง ที่เก็บของก็มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับ CD สัก 3-4 แผ่น และยังมีช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า 12V อีกทั้งข้างหลัง ยังมีช่องชาร์จ USB มาให้อีก 2 ช่อง (รวม ๆ รุ่นท๊อปจะสามารถชาร์จมือถือ แทบเลต และอื่น ๆรวมถึง 6 เครื่องในรถคันเดียว เอาใจขาโซเชียลกันเต็มที่) แต่ที่น่าเสียดายคือ ทุกรุ่นย่อยไม่มีช่องแอร์หลังมาให้



มาต่อที่ชุดมาตรวัด ประกอบไปด้วยวงกลมขนาดใหญ่ 2 วง ทางซ้ายเป็นวัดรอบเครื่องยนต์ เรดไลน์ที่ 6200 รอบต่อนาที ซ้ายล่างเป็นที่อยู่ของมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น วงกลมทางขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว สูงสุด 180 กม./ชม. ตามแบบฉบับรถญี่ปุ่นทั่วไป ซ้ายล่างเป็นที่วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรวมตัวเลขมองได้ชัดเจน แต่ถ้าใหญ่กว่านี้ได้ก็จะดี สีที่ใช้ก็เป็นโทนน้ำเงิน-ขาว มองแล้วสบายตา (เคยมีประสบการณ์ใช้รถที่หน้าปัทม์สีน้ำเงินล้วน พอมองนาน ๆ แล้วรู้สึกปวดหัว) ตรงกลางเป็นที่อยู่ของจอ MID ด้านบนสุดเป็นมาตรวัด ECO เพื่อแสดงการเหยียบคันแร่งของคนขับ ถัดลงมาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนจะเปลี่ยนได้ 4 จอ ดังนี้



-   ระยะเวลาที่ระบบ Auto-stop ทำงาน และ ปริมาณเชื้อเพิงที่ประหยัดไปได้
-   SI-Drive
-   ระยะเวลาตั้งแต่สตาร์ทเครื่อง
-   ความเร็วเป็นดิจิตอล
ถัดลงมา เป็นจอสำหรับระบบ Adaptive cruise control
ล่างสุดป็นตัวบอกตำแหน่งเกียร์ (ในวงเล็บคือ SI-Drive) และ Trip meter A/B
และที่เหนือช่องแอร์ ยังมีจอ MID อีกหนึ่งชุด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซ้ายสุดจะเป็นไฟเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยทั้ง 5 ตำแหน่ง !!! ถ้าคนข้างหลังไม่คาดนี่ ร้องยาวครับ (และเรื่องตลกกว่านั้นคือ หลังจากส่งทุกคนที่สนามบินแล้ว ไฟเตือนไม่คาดเข็มขัดเบาะหลังยังคงติด !!! จนผมต้องยกมือไหว้แล้วเอาสายมาเสียบคาไว้อย่างนั้นจนคืนรถ) ถัดมาจะเป็นหน้าจอสำหรับระบบปรับอากาศ และด้านขวาสุด จอใหญ่ มีอีก 6 หน้าจอ ควบคุมได้โดยการกดเปลี่ยนที่ปุ่มซึ่งอยู่ระหว่างช่องแอร์ใต้ปุ่มไฟฉุกเฉิน



-   การกระจายกำลังของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ
-   อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทุก ๆ 5 นาที
-   อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยเทียบกับการขับที่ 100 กม./ชม. และระยะทางที่วิ่งได้จากน้ำมันที่เหลือ
-   อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย และระยะทางที่วิ่งได้จากน้ำมันที่เหลือ
-   อุณหภูมิภายนอกรถ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย นาฬิกาแบบ  Analog
-   ปริมาณการเหยียบแป้นคันเร่ง แรงดันเทอร์โบ อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง
คหสต. ผมว่า Subaru ยังทำเรื่องการแสดงข้อมูลไม่ดีเท่าที่ควร ข้อมูลดูมั่วปะปนไปแบบหาจุดประสงค์ไม่ได้ รวมทั้งการที่มี 2 จอ ซึ่งทำให้คนขับต้องคอยละสายตาไปมาระหว่างจอนั้น ไม่สะดวกเอาเสียเลย
ถัดมาในส่วนเบาะนั่ง รุ่น 1.6GT, 1.6GT EyeSight จะได้เบาะนั่งแบบธรรมดาพร้อมระบบปรับด้วยมือแบบจดจำตำแหน่งด้วยตัวเอง หรือพูดง่าย ๆ คือ เบาะแบบธรรมดานั่นแหละครับ รุ่น 2.0GT EyeSight และรุ่น S จะได้เบาะคู่หน้าแบบปรับอัตโนมัติ 8 ทิศทาง ทุกรุ่นติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ทั้ง 5 ตำแหน่ง ปรับระดับสูงต่ำได้สำหรับคู่หน้า

สำหรับเบาะรุ่นธรรมดานั้น จากการขับต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมงนั้น ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอะไรครับ ไม่มีอาการปวดเมื่อย ฟองน้ำแข็งกำลังดี ไม่ยวบยาบไปตามลำตัว พนักพิงหลังแนบสนิทกับหลังพอดี แต่ไม่มีระบบดันหลังมาให้ (ส่วนตัวผมไม่ชอบเบาะที่มีพนักดันหลังอยู่แล้ว) พนักพิงศีรษะสามารถเลือกปรับดันหัวได้ตั้งแต่ไม่ดัน จนดันกบาลแยกกันเลย ส่วนรองรับต้นขาก็ถือว่ายาวกว่าเบาะรถทั่วไปนิดนึง เสียแต่ที่ว่าไม่สามารถปรับมุมก้ม-เงยได้ (ส่วนตัวชอบปรับเบาะลงต่ำแล้วยกส่วนปลายให้เงยขึ้นมาครับ) ตำแหน่งเบาะนั่งเมื่อปรับลงต่ำสุดถือได้ว่าเตี้ยกว่าปกติพอสมควร (รถ Subaru ส่วนมากจะปรับเบาะได้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับรถตลาดอย่าง Honda หรือ Toyota แต่ยังไม่เท่ากับ BMW 320i F31) ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ข้างบน การลุกออกจากเบาะจึงต้องยันตัวเองขึ้นมานิดนึง ก่อนจะออกมาได้



ทางด้านเบาะหลัง เนื่องด้วยผมไม่มีโอกาสนั่ง จึงขอสรุปคร่าว ๆ จากรูปภาพนะครับ เบาะหลังปรับเอนได้ พับแยก 60-40 ได้โดยการดึงจุกบนพนักพิง ตรงกลางดึงออกมาเป็นที่วางแขนและใส่แก้วน้ำได้ 2 แก้ว แต่เนื่องจาก Levorg ทุกรุ่น เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ทำให้จำเป็นต้องมีอุโมงค์เพลากลางมาด้วย







พื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมีขนาด 522 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA รวมทั้งพื้นห้องเก็บของสามารถยกขึ้นมาได้อีก 2 แผ่น (ช่องเล็ก 7 ลิตร ช่องใหญ่ 33 ลิตร แต่ว่าไม่มียางอะไหล่ให้ มีเพียงชุดปะยางแบบฉุกเฉินเท่านั้น) เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระหรือเก็บสัมภาระที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีก พร้อมแผงบังสัมภาระป้องกันคนเห็นจากภายนอก ด้านซ้ายมีไฟส่องสว่างมาให้อีก 1 ดวง พร้อมปุ่มพับเบาะแถว 2 จากท้ายรถทั้งซ้าย-ขวา









สำหรับทัศนวิสัยนั้น ด้านหน้าเห็นชัดได้ดี เพราะ เสา A-pillar มีความลาดชันอยู่ในระดับหนึ่ง จอตรงกลางก็ไม่บดบังทัศนวิสัย แม้จะปรับที่นั่งต่ำสุด  และการที่ ประตูคู่หน้าออกแบบให้มีกระจกหูช้าง ขึงสามารถลดขนาดเสา A ลงไปได้ (โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า Subaru ออกแบบรถค่อนข้างจะมีทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ค่อนข้างดีกว่า เมื่อเทียบกับ Toyota) กระจกมองข้างก็มีขนาดใหญ่ รวมทั้งมีไฟเลี้ยวดวงเล็ก ๆ ติดมาให้ด้วย คาดว่าเพื่อป้องกันคนขับลืมเปิด-ปิดไฟเลี้ยว เช่นเดียวกับฝั่งซ้ายที่การมีกระจกหูช้าง ช่วยให้มุมมองขณะกลับรถสะดวกมากขึ้น สำหรับด้านหลัง แม้จะมีเสา D-pillar? ค่อนข้างใหญ่ ทว่าพบกลับไม่พบปัญหากับการมองเอี้ยวไปมองข้างหลังแต่อย่างใด อาจเพราะเนื่องด้วยขนาดของเสา C ที่ค่อนข้างเล็ก

โดยรวม ความประทับใจในรถ Subaru เกี่ยวกับเรื่องทัศนวิสัย ผมถือว่าสอบผ่านมาตรฐาน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2015, 16:24:58 โดย champyadme »

ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 16:05:07 »
*****เครื่องยนต์ เกียร์ การขับขี่



แล้วก็มาถึงไฮไลท์อีกอย่างนึงของรถรุ่นนี้ สำหรับแฟนพันธ์แท้ของค่ายดาวลูกไก่ สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น จุดเด่นของค่ายนี้คือ เครื่องยนต์ลูกสูบนอนยัน Boxer นั่นเอง แน่นอนว่า Levorg ก็ได้ใช้เครื่อง Boxer ด้วยเช่นกัน สำหรับ Levorg ที่ทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นนั้น มี2 ทางเลือกสำหรับเครื่องยนต์ อันได้แก่ เครื่องยนต์รหัส FA20 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร ความจุ 1,998 ซีซี อัตราส่วนกำลังอัด 10.6 : 1 พร้อมระบบฉีดเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection และระบบวาล์วแปรผัน AVCS ทั้งฝั่งไอดี-ไอเสีย พ่วงด้วยเทอร์โบชาร์จแบบ Twin-Scroll ทั้งหมดนี่ให้กำลังสูงสุด 300 แรงม้า!! (PS) ที่ 5600 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 40.8 กก.ม หรือ 400 นิวตันเมตร  ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2000-4800 รอบต่อนาที (เรดไลน์ 6500) รองรับน้ำมัน High Octane (ออคเทน 100) เท่านั้น



เครื่องยนต์ตัวนี้ ยังถูกประจำการอยู่ใน Subaru Forester 2.0 XT Turbo ที่กำลังสูงสุดเหลือ 240 แรงม้า (อ่านรายละเอียดได้ใน Full review ของทางเวบครับ)
Subaru Legacy DIT (เจเนอเรชั่นที่ 5 ที่พึ่งตกรุ่นไป)
Subaru WRX S4 ที่เพิ่งเปิดตัวไป
และ คู่แฝด 86/BRZ ในเวอร์ชั่นไร้ระบบอัดอากาศ (จะมีจุดที่ต่างกันอีกคือฝาสูบและจ่ายเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ ซึ่ง 86/BRZ จะเป็น D4-S ของ Toyota แต่ Levorg จะเป็น DIT ของทาง Subaru เอง)

เครื่องยนต์ตัวนี้ มาพร้อมกับระบบส่งกำลังแบบ CVT Sport Lineartronic พร้อมระบบ SI-Drive สามารถล๊อคอัตราทดได้ 6 (โหมด S และ I) และ 8 จังหวะ (โหมด S#) อัตรทดเกียร์ 3.105~0.482 เกียร์ถอยหลัง 2.077 เฟืองท้าย 4.111
และอัตรทดในโหมด Manual
3.105 / 1.983 / 1.454 / 1.057 / 0.779 / 0.542 (โหมด I และ S)
3.105 / 2.334 / 1.815 / 1.499 / 1.221 / 1.000 / 0.831 / 0.707 (โหมด S#)

ทั้งหมดนี้จะถูกส่งกำลังผ่านระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออันเป็นเครื่องหมายการค้าของค่าย Symmetrical AWD



ยิ่งไปกว่านั้น ระบบส่งกำลังชุดนี้ยังมาพร้อมกับระบบ VTD-AWD (Variable Torque Distribution) แปลตรงตัวก็คือระบบที่สามารถเปลี่ยนอัตราส่วนการกระจายแรงบิดระหว่างล้อคู่หน้า-หลังได้ ในอัตราส่วน หน้า : หลัง 45 : 55 (ต้นฉบับไม่ได้แจ้งว่าเปลี่ยนจากนี้ไปเป็นเท่าไร กล่าวเพียงว่าการลดภาระแรงบิดที่ด้านหน้า เพื่อลดอาการ Understeer ซึ่งจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะในขณะเข้าโค้ง และยังช่วยเพิ่มความเสถียรภาพในทางตรง)

สมรรถนะที่ได้ เคลม 0-100 กม./ชม. ที่ 5.8 วินาที (เทียบกับ Legacy 2.0GT DIT เครื่องยนต์เดียวกัน ที่พึ่งตกรุ่นไปแล้วนั้น ตัวนั้นทำได้ที่ 6.8 วินาที ซึ่งจุดนี้สื่อญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าน่าจะมาจากการปรับปรุงเกียร์ CVT Sport Lineartronic) มาพร้อมกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 13.2 กิโลเมตร / ลิตร ตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น ปล่อยก๊าซ CO2 176 กรัม / กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ ไม่ต้องไปค้นหาข้อมูลจากที่ไหนครับ เพราะมันถูกล๊อคไว้ที่ 180 กม./ชม. อย่างแน่นอนตามกฏหมายญี่ปุ่น (ข้อนี้ผมเคยอ่านเจอว่าไม่ใช่กฏหมาย แต่เป็นเหมือนข้อตกลงของทุก ๆ บริษัทรถยนต์ในญี่ปุ่น)

การขับขี่จริงเป็นอย่างไร จะแรงสะใจเหมือนที่ระบุไว้บนหน้ากระดาษมั๊ย ผมก็ไม่อาจทราบได้ และคาดว่าคงไม่มีโอกาสได้ทดลอง (ใครมีโอกาสก็เอาประสบการณ์มาเล่าให้ปันบ้างนะครับ)
***เพิ่มเติม ยังไงก็รอดู Full review ของ WRX ตัวใหม่จากทางเวปได้ครับ เพราะใช้เครื่องเดียวกัน

เพราะพระเอกของเรานั้นเป็นรุ่นล่างสุด ซึ่งเป็นครั้งแรกของ Subaru ในการ Downsizing เครื่องยนต์ มาพร้อมกับเครื่องยนต์รหัส FB16 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.8 x 82.0 มิลลิเมตร ในลักษณะช่วงชักยาว เน้นแรงบิด ที่ความจุ 1,599 ซีซี อัตราส่วนกำลังอัด 10.6 : 1 พร้อมระบบฉีดเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection และระบบวาล์วแปรผัน AVCS ทั้งฝั่งไอดี-ไอเสีย พ่วงด้วยเทอร์โบชาร์จแบบ Twin-Scroll บูสต์สูงสุดที่ 1 บาร์ ทั้งหมดนี่ให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า (PS) ที่ 4800-5600 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 25.5 กก.ม หรือ 250 นิวตันเมตร  ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1800-4800 รอบต่อนาที (เรดไลน์ 6200) มาพร้อมระบบ Auto start-stop และที่ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องยนต์ตัวนี้ “รองรับน้ำมันแบบ Regular หรือ เทียบเท่าน้ำมันเบนซินออคเทน 91 ในบ้านเรา”  



เครื่องยนต์ตัวนี้ถูกติดตั้งเป็นครั้งแรกใน Impreza รุ่นปัจจุบันในแบบไร้ระบบอัดอากาศ ดังนั้น นี่จึงถือได้ว่าเป็นเครื่อง 1.6 Turbo ตัวแรกของทางค่ายเลยทีเดียว
มาพร้อมกับระบบส่งกำลังแบบ CVT Lineartronic พร้อมระบบ SI-Drive สามารถล๊อคอัตราทดได้ 6 จังหวะ (ไม่มีโหมด S#) อัตรทดเกียร์ 3.581~0.570 เกียร์ถอยหลัง 3.667 เฟืองท้าย 3.900
และอัตรทดในโหมด Manual
3.560 / 2.255 / 1.655 / 1.201 / 0.887 / 0.616 (โหมด I และ S)

ส่งกำลังผ่านล้อทั้งสี่ด้วยระบบ Symmetrical AWD พร้อม Active Torque Split เหมือนกับ XV
สมรรถนะที่ได้ เคลม 0-100 กม./ชม. ที่ 8.5 วินาที มาพร้อมกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 17.4 กิโลเมตร / ลิตร ตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น (ในรุ่น S ซึ่งติดตั้งล้อขนาด 18 นิ้ว จะเหลือ 16.0 กิโลเมตร / ลิตร) ปล่อยก๊าซ CO2 133 กรัม / กิโลเมตร เช่นกันว่าล๊อคความเร็วสูงสุดไว้ที่ 180 กม./ชม.

สำหรับการขับขี่จริงนั้น เนื่องด้วยแรงบิดที่มาในแบบ Flat torque ทำให้ผมรู้สึกเหมือนขับรถยนต์เครื่องดีเซล commonrail กันเลยทีเดียว แรงบิดที่มีนั้น เพียงพอที่จะดึงหน้าให้หงายได้เลย และเพราะว่าเป็นเกียร์ CVT อัตราเร่งนั้นไหลมาแบบต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด รวมทั้งการเปลี่ยนอัตราทดนั้นทำได้ราบลื่นมาก ไม่รู้สึกถึงรอยต่อเลย การขับขี่ในเมืองให้ความคล่องตัวมาก คันเร่งไฟฟ้าตอบสนองได้ทันใจ เมื่อต้องการเร่งแซง การเติมคันเร่งลงไปซัก 50 % ในโหมด I ก็เพียงพอแล้วที่จะแซงรถช้าที่วิ่งอยู่ข้างหน้า ทว่าการออกตัวแบบกะทันหันนั้น  เหมือนคันเร่งจะมีระยะฟรีเล็กน้อย กล่าวคือ ถ้าเหยียบลงไปเพียงนิดเดียว รถจะออกตัวได้นุ่นนวลมากเกินไปจนเหมือนไม่อยากจะออกตัว (ถึงอย่างไรก็ตาม อาการคันเร่งกระตุกแบบ Camry หรือ Vios นั้น ไม่มีให้เห็นแต่ประการใด) แต่ถ้าเท้าเราเหยียบคันเร่งไว้ระดับนึงแล้ว (เช่น ขับความเร็วคงที่) แล้วเติมคันเร่งลงไป เครื่องยนต์จะตอบสนองในทันที และเป็นที่สังเกตว่า ถ้ากดคันเร่งลงไปไม่เกิน 70 % รอบเครื่องจะวิ่งไปค้างที่แถว ๆ 3000 รอบต่อนาทีเท่านั้น ไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งก็เป็นจุดที่เครื่องยนต์มีแรงบิดมาให้ใช้ตลอด

แต่ทว่าเมื่อกดคันเร่งจมมิดนั้น รอบเครื่องจะกวาดไปที่แถว ๆ 5000-6000 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นจุดที่เลยแรงบิดสูงสุดไปแล้ว และกราฟแรงบิดก็หัวปักลง แรงดึงที่เคยมีกลับหายไป และความเร็วก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ด้านความเร็วสูงสุดนั้น ทำได้ที่ 180 กม/ชม นั่นแหละครับ แต่โดยส่วนมากรถรุ่นใหม่ ๆ จะเพิ่มไปที่ 182 – 185 กม/ชม จึงค่อยตัด และช่วงที่กดไปถึง 180 นั้น ก็ไม่ได้เหยียบคันเร่งจนมิดแต่อย่างใด จึงไม่อาจทราบได้ว่ากว่าจะถึง 180 นั้น อัตราเร่งเป็นอย่างไร
จากการทดลองจับอัตราเร่งแบบคร่าว ๆ นั่งสองคน น้ำหนักรวม 130 กิโลกรัม ทำการทดลองตอนกลางวัน อุณหภูมิภายนอก 20 องศาเซลเซียส ทดลองจับเวลาแค่อย่างละครั้ง สรุปออกมาได้ตามนี้

0 – 100 กม. / ชม.  9.55 วินาที (โหมด S)

ส่วนอัตราเร่งแซง 80 - 120 กม. / ชม. นั้น

7.34 (โหมด I)  7.20 (โหมด S)
6.73 (โหมด I)  6.86 (โหมด S)

ความเร็ว 80 และ 100 ในเกียร์(น่าจะ)สูงสุดนั้น ตามภาพครับ
สาเหตุที่มีสองค่าในแต่ละโหมดนั้น เนื่องด้วยตอนจับเวลา ข้างบน ผมใช้วิธีตั้งระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติไว้ที่ 80 กม/ชม ยกเท้าออกจากแป้นคันเร่ง แล้วจึงค่อยเริ่มจับเวลา แต่ข้างล่างนั้น ใช้วิธีขับความเร็วคงที่ 80 กม/ชม ซึ่งเวลาที่แตกต่างกันนั้นน่าจะมาจากการตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้า (0.5 วินาที)


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2015, 16:29:08 โดย champyadme »

ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 16:09:14 »
*****ตัวถัง และ ช่วงล่าง

เริ่มกันที่พวงมาลัย เป้นระบบแร็คแอนพิเนียนพร้อมระบบเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS รัศมีวงเลี้ยงแคบสุด 5.4 เมตร ใน รุ่น 1.6 และ 5.5 เมตร ในรุ่น 2.0 (เทียบกับ Forester ที่ 5.3 เมตร ทำไมวงเลี้ยวกว้างกว่า?) น้ำหนักพวงมาลัยนั้น ที่ความเร็วต่ำ พวงมาลัยมีน้ำหนักเบาในแบบพอดี คือไม่เบาจนรู้สึกว่าไร้การควบคุม มีการขืนมือเล็กน้อยในแบบรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ส่วนการขับขี่ความเร็วสูงนั้น พวงมาลัยมีการหนืดขึ้นตามความเร็ว ทำให้การควบคุมรถขณะเข้าโค้ง หรือเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูง ให้ความมั่นใจได้ดี ทว่าระยะฟรีของพวงมาลัยนั้น ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง ไม่ได้เซตมาแบบรถสปอร์ตที่แค่แตะรถก็เลี้ยวในทันทีแต่อย่างใด  



ถัดมาที่ระบบช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Double Wishbone หรือปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลงหน้า-หลัง และในรุ่น S นั้น มาพร้อม โช๊คอัพ Bilstein (รุ่นธรรมดาจาก KYB) ปีกนกหน้าทำจาก อลูมิเนียมพร้อม บุชปีกนกแบบ pillow ball
 
ในด้านการใช้งานจริงนั้น ที่ความเร็วต่ำ ช่วงล่างสามารถดูดซับแรงกระแทกจากผิวถนนที่ไม่เรียบได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อเจอถนนช่วงที่สภาพถนนไม่ได้ต่างจากเมืองไทยมากนัก (ปะผุ ผิวต่างระดับ ฝาท่อระบายน้ำอยู่กลางถนน) ผมสามารถรับรู้ความขรุขระของผิวถนนได้พอสมควร (แปลง่าย ๆ ว่ามันแข็งไปหน่อยนั่นแหละครับ แต่ก็ไม่ถึงกับตับไตใส้พุงทะลุออกปากหรอกน่ะครับ) ระยะยุบของช่วงล่างก็ค่อนข้างน้อย แต่โดยรวมมันกลับให้ความรู้สึกหนักแน่นเข้ามาแทนที่ เอาแค่ความรู้สึกอย่างเดียวนั้น ถ้าให้หลับตาแล้วนั่งดู ความรุ้สึกจะเหมือนนั่งอยู่ใน Premium compact จากฝั่งยุโรปกันเลย

และผลพวงจากการเซตช่วงล่างแบบนี้ ทำให้ที่ความเร็วสูง ตัวรถนิ่งมาก การเข้าโค้ง เปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูงทำได้เหนือกว่ารถญี่ปุ่นทั่วไปแน่นอน แม้จะยังไม่เท่าฝั่งยุโรป อาการโคลงเคลงของตัวรถก็แทบไม่มีให้เห็น ทางโค้งประมาณจากถนนมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าชลบุรีแล้วเลี้ยวเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ผมสามารถเข้าไปที่ 80 กม./ชม.แล้วออกโค้งที่ 120 กม./ชม.ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาง Dunlop SP Sport Maxx 050 ที่ติดมากับรถนั้น เหมือนจะไม่สามารถรองรับไปได้มากกว่านี้ (คหสต อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ยางที่ดีกว่านี้มา อาจจะไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะรถถูกเซตมาให้มีการโคลงตัวน้อย เมื่อได้ยางประสิทธิภาพสูง แน่นอนว่าลิมิทของตัวรถจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อใดที่ความเร็วนั้นเกินลิมิตหรือเกินเกินข้อจำกัดทางกฏฟิสิกส์แล้วละก็มีโอกาสที่รถจะเสียการควบคุมในกะทันหันได้ง่าย) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้จะถึงลิมิทของรถแล้ว รู้สึกว่าหน้ารถเริ่มไถล เพียงแค่หักพวงมาลัยเพิ่มอีกนิด ก็สามารถกลับมาสู่โค้งได้ปกติ คงต้องยกความดีงามให้ระบบขับเคลื่อน Symmetrical AWD

สำหรับระบบเบรคนั้น มาพร้อมดิสเบรคแบบ 4 ล้อ มีครีบระบายความร้อนในคู่หน้า (รุ่น 2.0 มีทั้ง 4 ล้อ) จานขนาด 16 นิ้ว คาลิปเปอร์เบรคแบบ 2 Pot และ 15 นิ้ว 1 Pot ในรุ่น 1.6 ส่วนในรุ่น 2.0 จะเป็นจานเบรค 17 นิ้ว ทั้งหน้า (คาลิปเปอร์เบรคแบบ 2 Pot) และหลัง (คาลิปเปอร์เบรคแบบ 1 Pot) ทุกรุ่นมาพร้อมกับระบบป้องกันล้อล๊อค ABS รวมทั้งระบบ Brake Assist ช่วยเพิ่มแรงเบรค พร้อมทั้งระบบ Brake override (เป็นระบบที่เมื่อมีการเหยียบทั้งแป้นเบรคและคันเร่งพร้อมกัน เบรคเท่านั้นที่จะทำงาน เพื่อป้องกันปัญหาคันเร่งค้าง) รวมทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC (Vehicle Dynamic Control System) เสริมด้วยระบบ Active Torque Vectoring ซึ่งจะช่วยเบรคล้อหน้าฝั่งในโค้งและเพิ่มการกระจายแรงบิดไปยังล้อฝั่งนอกโค้ง เพื่อเพิ่มการยึดเกาะในขณะขับขี่ทางโค้ง

ในภาพรวมนั้น น้ำหนักแป้นเบรกแข็งนิด ๆ เมื่อเทียบกับรถญี่ปุ่นทั่วไปแต่ถือว่าค่อนข้าง Linear คือแรงเบรคมาตามปริมาณการเหยียบ การหน่วงความเร็วจากระดับร้อยกว่าลงมาทำได้อย่างมั่นใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ได้ลองเบรคแบบเต็มที่ จึงยังไม่พบอาการ fade แต่อย่างใด  



ด้านโครงสร้างตัวถังนั้น ปรับปรุงเพิ่มความแข็งแรงจาก Legacy รุ่นที่แล้ว เน้นการเสริมความแข็งแรงบริเวณห้องเครื่อง จุดยึด Sub frameช่วงล่าง ทั้งหมดนี้ช่วยลดการบิดตัวของตัวถังลงถึง 40 % และส่วนห้องโดยสารยังออกแบบมาเพื่อดูดซับแรงกระแทกจากการชน (ข้อนี่ผมก็ไม่ได้ทดสอบให้อ่ะนะครับ ฮ่าๆ) ฝากระโปรงหน้าทำจากอลูมิเนียมน้ำหนักเบา รวมทั้งการลดน้ำหนักฝากระโปรงท้ายลงอีก 2 กิโลกรัม รวมทั้งยังปรับปรุงโช๊คอัพฝากระโปรงท้ายเพื่อลดแรงในขณะปิด-เปิด

ด้านระบบความปลอดภัย นอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น ยังมีถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ-คนนั่ง ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ซ้าย-ขวา ถงลมนิภัยที่ปีกเบาะคนนั่งตอนหน้า และที่พิเศษคือ ถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่าฝั่งคนขับ รวมทั้งสิ้น 7 ลูก ติดตั้งมาครบทุกรุ่นย่อย
.
.
.
และไฮไลท์สำคัญที่เป็นจุดขายของรถยนต์ Subaru รุ่นใหม่ ๆ คือ “Eyesight”
มันคืออะไร?



Eyesight ประกอบไปด้วย กล้อง Stereo camera 2 ตัว หันไปทางหน้ารถ ติดตั้งอยู่ระหว่าง กระจกมองหลังทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งใน Levorg นั้น ถูกพัฒนามาจนเป็น Version 3 แล้ว ประกอบไปด้วยความสามารถดังนี้

1.   Pre-crash brake ทำหน้าที่คอยตรวจจับรถคันข้างหน้า รวมทั้งคนเดินเท้า หรือจักรยาน ซึ่งเมื่อระบบประเมิณว่ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ระบบ Pre-crash Brake Assist จะทำงานเองโดยอัตโนมัติภายใต้เงื่อนไขข้างล่างนี้
-   ความเร็วแตกต่างจากรถคันข้างหน้าไม่เกิน 50 กม. / ชม.
-   ในกรณีที่สิ่งกีดขวางเป็นอย่างอื่น เช่นคนเดินเท้า ความเร็วที่แตกต่างต้องไม่เกิน 35 กม. / ชม.
และในกรณีที่คนขับหักหลบสิ่งกีดขวาง  ระบบ VDC จะเข้ามาช่วยเหลือพร้อมทั้ง Pre-crash Steering Assist ซึ่งจะเพิ่ม Turn-in ability กล่าวคือทำให้หัวรถหันไปง่ายขึ้นเมื่อหมุนพวงมาลัย

2.   Full speed range Adaptive Cruise Control ซึ่งจะใช้กล้องคอยตรวจสอบรถคันข้างหน้า
-   ในกรณีที่ไม่มีสิ่งกีดขวางข้างหน้า ระบบก็จะทำหน้าที่เหมือน Cruise Control ทั่วไป ที่ความเร็ว 40-100 กม. / ชม. (*เกร็ดความรู้* รถประกอบในประเทศทุกยี่ห้อไม่สามารถตั้งล๊อคความเร็วได้มากกว่า 115 กม. /ชม. ครับ แม้แต่ Lexus IS250 รุ่นใหม่ที่ซึ่งหน้าปัทม์บอกความเร็วสูงสุด 260 กม. / ชม. ก็ไม่สามารถตั้งเกินกว่านี้ได้ครับ)
-   เมื่อมีรถอยู่ข้างหน้า ความเร็วจะถูกปรับให้สัมพัน์กับรถคันข้างหน้า สามารถเลือกระยะห่างได้ 3 ระดับ
-   เมื่อเจอรถติดข้างหน้า ระบบสามารถเบรคได้เองจนกระทั่งรถหยุด นานสูงสุด 2 นาที (นานกว่านั้นระบบเบรคมืออัตโนมัติจะถูกทำงานแทนที่) และเมื่อจะออกรถ สามารถเหยียบคันเร่งหรือกดปุ่มเพื่อให้รถกลับมาวิ่งต่อได้ในทันที
-   รวมทั้งการปรับปรุงให้ระบบรับรู้ถึงการเบรคของรถคันหน้าจากไฟเบรค ทำให้ระบบสามารถเบรคได้ล่วงหน้า เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในการเบรคได้

3.   Active Lane Keep ระบบนี้ กล้องจะคอยตรวจจับเส้นแบ่งเลน เพื่อป้องกันรถยนต์เบี่ยงออกจากเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำงานที่ความเร็ว 65 กม. / ชม. ขึ้นไป ประกอบไปด้วย 2 ระบบย่อย
-   เมื่อระบบ Adaptive cruise control ถูกใช้งาน กล้องจะคอยตรวจจับเส้นกลาง รวมทั้งเส้นแบ่งเลน ในขณะขับทางโค้ง ระบบจะช่วยควบคุมพวงมาลัยเพื่อลดภาระของคนขับในขณะเข้าโค้ง
-   และในกรณีทางตรง เมื่อรถมีแนวโน้มจะเบี่ยงออกจากเลน ระบบจะช่วยควบคุมพวงมาลัยให้เพื่อรักษาตัวรถไว้ให้อยู่ในเลน

อันที่จริง ระบบเหล่านี้ก็มีใช้อยู่ในรถยนต์ที่ขายอยู่ในเมืองไทยหลายรุ่นหลายยี่ห้อ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็น Volvo city safety ทว่า วิศวกร Subaru นั้น ใช้เพียงแค่กล้องอย่างเดียว ในการตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ซึ่งข้อดีก็คือ ต้นทุนทางด้าน Hardware จะถูกลง (Eyesight Ver.2 ใน Legacy รุ่นที่แล้วนั้น มาเป็นออพชั่นเสริมในราคา 1 แสนเยน หรือราว ๆ 3 หมื่นบาท) เมื่อเทียบกับเหล่า Laser/Milliwave radar ทั้งหลาย แต่ทว่า สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือประสิทธิภาพ เพราะอย่างไรก็ตาม กล้องก็ยังคงมีขีดจำกัดอยู่ในตัวของมัน เมื่อเทียบระยะทำการกับ radar
 
4.   พร้อมกันนั้น ยังเป็นครั้งแรกของ Subaru ที่ติดตั้งระบบป้องกัน Mis-operation pedal กล่าวคือ กรณีที่เราจอดรถหันหน้าเข้ากำแพง เมื่อจะถอยออก แต่เข้าเกียร์ผิดเป็นเกียร์เดินหน้า แล้วเหยียบคันเร่งทันที ระบบจะวิเคราะห์แล้วสั่งตัดการทำงานของคันเร่งโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบนี้ สามารถทำงานแบบกลับด้านได้ด้วย กล่าวคือ เมื่อรถหันหลังให้กำแพง แล้วเราจะขับออกจากที่จอด แต่ใส่เกียร์ผิดเป็นถอยหลัง ระบบจะวิเคราะห์และตัดกำลังเครื่องยนต์โดยทันที (ทว่าจากเอกสารอ้างอิงบอกว่า ระบบนี้ไม่ได้ใช้กล้องช่วยแต่ประการใด.......แหงล่ะ กล้องมันอยู่ข้างหน้านี่ครับ ฮ่าๆ) พร้อมทั้งระบบล๊อคความเร็วขณะถอยหลัง

5.   ระบบเตือนเมื่อรถคันข้างหน้าออกตัวไปแล้ว คิดว่าอันนี้คงนึกภาพตามกันได้นะครับ เมื่อเรามัวแต่เล่นมือถือ แทบเลต แล้วรถคันข้างหน้าออกตัวไป ระบบก็จะร้องเตือนขึ้นมา
5 ข้อ นี้ ดูได้จากคลิปข้างล่างนี่ได้ครับ



น่าเสียดายที่ว่าคันที่มีให้เช่ามาขับนั้นไม่มีระบบที่กล่าวมาข้างต้นซักอันครับ T T

และจากอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้ Levorg สามารถผ่านมาตรฐานความปลอดภัย JNCAP ในหมวด Active safety และหมวด Lane departure ด้วยตะแนนเต็ม (ผลการทดสอบซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น เมื่อ 24 ตุลาคม ค.ศ.2014 ที่ผ่านมานี่เองครับ รถที่ผ่านด้วยคะแนนเต็มนั้น มี Lexus LS Nissan SkylineV36/Infinity Q50 และ Subaru WRX/Levorg จากรถทั้งหมด 26 รุ่น ใครสนใจข้อมูลฉบับเต็มไปดาวน์โหลดได้ที่ )

http://www.nasva.go.jp/mamoru/download/active_safety_download.html

ส่วนผลทดสอบการชน ยังไม่มีออกมาครับ และแน่นอนว่าเพราะทำตลาดที่ญี่ปุ่นเท่านั้น จึงไม่มีผลการทดสอบจาก EuroNCAP นะครับ


*****อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

แม้ผมไม่มีโอกาสได้ทดสอบตามมาตรฐานของทางเวป แต่ข้อมูลคร่าว ๆ จากการเติมเต็มถังนั้น ออกมาค่อนข้างแม่นยำ เมื่อเทียบกับข้อมูลจากจอ MID เหนือช่องแอร์ ดังนั้นจึงขอสรุปผลคร่าว ๆ ไว้ตามข้างล่างนี้นะครับ
กรณีขับนิ่ง ๆ บนทางด่วนที่ความเร็ว 110-120 นั้น

อยู่ที่ 14.5 กิโลเมตร/ลิตร ครับ

แต่ถ้าจัดหนัก ๆ (ตลอดทริปครับ ไม่ค่อยได้ขับรถเทอร์โบเท่าไหร่ เหยียบเพลินไปหน่อย) รวมทั้งเจอการจราจรรถติดแบบสาหัสยิ่งกว่ากรุงเทพนั้น เหลือที่ 11.0 กิโลเมตร/ลิตร ครับ ซึ่งการขับแบบเดียวกันนี้กับรถทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่เคยเกิน 10 กิโลเมตร/ลิตร ครับ

เทียบจากมาตรฐาน JC08 ที่ 17.4 กิโลเมตร/ลิตร ..........ตัวเลขห่างกันไปนิดแหะ (ปล ทริปนี้นั่งกัน 4 คน ครับ ไม่มีสัมภาระ)
แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานเคลมไว้ว่า 1 ถังนั้น (60 ลิตร) สามารถวิ่งไปได้ถึง 1000 กิโลเมตร ยังไงท่านใดมีโอกาสก็มาลองดูนะครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2015, 16:30:52 โดย champyadme »

ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 16:14:02 »
*****สรุป
สำหรับ Legacy ที่ซึ่งถือว่าเป็นรถยอดนิยม ติดอันดับรถยนต์นั่งขายดีที่ญี่ปุ่นมาโดยตลอด แต่ทว่า รุ่นปัจจุบันนั้น ทำยอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝั่งอเมริกาที่รถขาดสต๊อค ไม่พอขายนั้น Levorg จึงถือได้ว่าถูกทำขึ้นเมื่อมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และในภาพรวมแล้ว นี่เป็นรถที่รวมความอเนกประสงค์ เข้ากับการขับขี่สปอร์ต ไว้ได้อย่างลงตัวตามคอนเซปต์การดีไซน์ ตำแหน่งที่นั่งที่ค่อนข้างเตี้ยแต่ยังสามารถรักษาทัศนวิสัยไว้ได้ดี พวงมาลัยที่แม่นยำ แต่ก็ไม่วอกแวกจนคนขับเกิดความเครียด การใช้ความเร็วสูง ให้ความมั่นใจไม่แพ้รถยุโรป (นิ่งกว่ารถญี่ปุ่นที่ผมเคยขับมาทั้งหมด แต่ยังไม่เท่า BMW 3series F31) ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อนั่น ช่วยให้การเข้า-ออกโค้งที่ความเร็วสูงทำได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแบบ Downsizing นั้น ให้อัตราเร่งที่เพียงพอต่อการใช้งานในทุกรูปแบบ การเร่งแซง หรือมุดไปตามการจราจรในญี่ปุ่นนั้น ไม่เป็นอุปสรรคใด ๆ เลย และพื้นที่เก็บสัมภาระในรูปแบบรถแวนนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในรถที่มีความลงตัวในทุก ๆ ด้าน

ทว่า เหรียญมีสองด้านยังไง รถรุ่นนี้ก็ยังคงมีข้อเสียอยู่บ้างเล็กน้อย เช่น ดีไซน์ช่องแอร์และแผงคอนโซลหน้าอันสุดแสนจะจืดชืดนั้น ไม่เข้ากันกับภายนอกอันโฉบเฉี่ยวเอาเสียเลย และระบบจอแสดงผลนั้น น่าจะมีวิธีแสดงข้อมูลได้เป็นระเบียบมากกว่านี้ รวมทั้งช่วงล่างที่ยังไม่สามารถดูดซับแรงกระแทกได้ดีเท่าที่ควรในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างแบบนี้ เหมาะที่จะใช้เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดซะมากกว่าที่จะใช้สัญจรในเมือง (ซึ่งก็คงจะตามจุดประสงค์ของการพัฒนาแล้วละมั้งครับ) รวมทั้งคันที่ผมขับ ผ้าบุเพดานแอบเผยอออกมาเล็กน้อยตรงบริเวณเสา B (แต่เนื่องด้วยเป็นรถเช่า คนขับก่อนหน้าผมเค้าอาจจะไปแกะเล่นก็ได้มั้งครับ ฮ่า ๆ)

Subaru Levorg ที่ขายในญี่ปุ่นนั้น ประกอบไปด้วย 5 รุ่นย่อย 2 เครื่องยนต์ ดังนี้ (ราคาในวงเล็บคือแปลงเงินเยนเป็นบาท เทียบอัตราแลกเปลี่ยนที่ 100 เยนเท่ากับ 32 บาท เมื่อ พฤศจิกายน ปีที่แล้ว นะครับ)

1.6GT คันที่ผมขับ        2,667,600 (853,632)
1.6GT Eyesight          2,775,600 (888,192)
1.6GT-S Eyesight       3,056,400 (978,048)
2.0GT Eyesight          3,348,000 (1,071,360)
2.0GT-S Eyesight       3,564,000 (1,140,480)

มีสีตัวถังให้เลือก 6 สี

Crystal Pearl White จ่ายเพิ่ม 32,400เยน + ภาษี 8 %
Steel Blue Grey Metallic
Ice Silver Metallic
Dark Grey Metallic
Crystal Black Silica
Galaxy Blue Silica

***เพิ่มเติม ตอนนี้มีรุ่นย่อยของเครื่อง 1.6 S-style มาพร้อมกับสีแดง Lighting Red ไม่มีออพชั่นใหม่แต่จะมีเพิ่มเติมจากรุ่นที่แพงกว่า และภายนอกทุกอย่างเหมือนรุ่น 2.0GT-S
1.6GT Eyesight S-style     2,894,400 (926,208)
อีกทั้ง ค่าเงินเยนที่ถูกลง เหลือ 100 เยน 28 บาท ราคาในวงเล็บจึงจะถูกลงอีกครับ

ราคาข้างต้นรวมภาษี 8 % แล้ว (****เกร็ดความรู้ หากท่านใดสนใจสั่งนำเข้ามาผ่านเกรย์มาร์เก็ต ที่ภาษี 300 % (แรงม้าเกิน 220) สำหรับรุ่น 2.0 นั้น ราคาคร่าว ๆ ท่านสามารถอ้างอิงจากราคาเงินเยน แต่เปลี่ยนหน่วยเป็นบาทได้เลย เช่น รุ่นท๊อป ราคา 3.5 ล้านเยนนั้น ถ้าท่านต้องการนำเข้ามา ราคาเบ็ดเสร็จก็จะอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาทนั่นแหละครับ แต่รุ่น 1.6 ที่ ภาษี 200 % เพราะแรงม้าไม่เกิน 220 นั้น ราคาน่าจะไปอยู่ที่ 1.8 ล้าน สำหรับรุ่นถูกสุด)

***เพิ่มเติม เนื่องจากปี 2559 หรือซักอย่าง อัตราภาษีรถยนต์นำเข้าจะถูกเปลี่ยน โดยคิดจากอัตราการปล่อย CO2 ราคาที่ประเมิณข้างต้านอาจเปลี่ยนแปลงครับ

สำหรับยอดขายนั้น กว่า 70 % เป็นรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ซึ่งก็เป็นไปตามที่น่าจะคาดเดาได้ เพราะรถรุ่นนี้เป็นรถที่เรียกตัวเองว่ารถอเนกประสงค์ที่มีการขับขี่แบบรถสปอร์ต และสำหรับประเทศที่ไม่ได้ขับรถเหมือนอยู่ในสนามแข่งแบบบ้านเรา อัตราเร่งของรุ่น 1.6 นั้น เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ส่วนโอกาสที่รถรุ่นนี้จะถูกนำออกไปขายต่างประเทศ หรือเข้ามาขายที่ไทยนั้น ตอบได้แค่ว่า ไม่มีโอกาสในเร็ว ๆ นี้แน่นอน เพราะเป้าหมายแรกของ Subaru คือ สร้างยอดขายในบ้านเกิดตัวเองให้ดีเสียก่อน กู้ชื่อเสียงที่เสียไปจาก Legacy รุ่นที่แล้วให้สำเร็จ ส่วนเป้าหมายถัดไปก็คงจะเป็นการไปบุกตลาด ยุโรป ที่ซึ่งนิยมรถทรง Station Wagon และยังเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี Downsizing

***เพิ่มเติม หลังจากครบปี 2014 จากสถิติยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่น ไม่นับรถ Kei และรถต่างชาติ ยอดขายรวมของ Levorg เริ่มส่งมอบเมื่อเดือน มิถุนายน หรือเรียกได้ว่า ครึ่งปี ขายได้อยู่ที่ 30,258 คัน เป็นอันดับ ที่ 25 และเป็นอันดับที่ 2 ของแบรนด์รองจาก Impreza G4

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรจะคาดหวัง และก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงกว่า ก็คือการที่ Subaru จะนำเครื่อง 1.6 Turbo มาวางลงในรถรุ่นอื่น อย่างเช่น XV รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้สูงมาก เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า เครื่องรุ่นนี้ผ่านมาตรฐานไอเสียขั้นสูงสุดที่ญี่ปุ่น ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดี และที่สำคัญที่สุดคือรองรับน้ำมันขั้นต่ำได้ถึง เบนซิน ออคเทน 91 ซึ่งมีใช้อยู่ในบ้านเรา ทำให้ไม่ต้องมาปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ (ผมแค่คาดเดานะครับ ไม่ได้บอกว่ามาแน่นอน ผมไม่ได้มีวงในอยู่ที่ใด ๆ ทั้งสิ้น)
.
.
.

สุดท้ายนี้ Subaru ก็ยังไม่ทำให้คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ต้องผิดหวัง ความสนุกในการขับขี่ การเกาะถนน อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ Boxer Turbo ทัศนวิสัยรอบคันที่ปลอดโปร่ง ยังคงมีอยู่ครบใน Levorg ซึ่งนี่คือจุดเด่นของรถ Subaru? ที่มีมานานแล้วทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ต้องยอมรับว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่โตโยต้าเข้ามาถือหุ้น อย่างการเปลี่ยนมาใช้ประตูแบบมีขอบกระจกเหมือนชาวบ้านทั่วไป ทั้ง ๆ ที่ ประตูไร้กรอบก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ Subaru หรือกระทั่งการเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT ที่ก็ยังคงมีคำถามในเรื่องของความทนทาน ยิ่งมาใช้กับเครื่องเทอร์โบที่มีแรงบิดสูง ก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร และโดยส่วนตัว ผมชอบงานออกแบบของ Subaru ในช่วงปี 2000-2005 มากกว่าอยู่ดี รุ่นใหม่ ๆ ที่มีขายตอนนี้ ยังให้ความรู้สึกไม่ดึงดูดเท่าที่ควร
.
.
.
ส่วนถ้าถามผมว่าจะซื้อมั้ย ผมคงย้อนกลับไปหา Legacy BL / BP รุ่นปี 2006 ครับ ฮ่าๆ  



จบแล้วครับ ขอบคุณทุกท่านที่อุตส่าห์อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 02, 2015, 16:32:32 โดย champyadme »

ออฟไลน์ art_duron

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 989
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 16:37:11 »
ว้าวๆ ไม่นึกเลยว่าจะมีใคร Review เจ้านี่ด้วย ขอบคุณครับ

รูปสุดท้ายนี่หล่อทั้งคู่เลย  ;D
แต่ถ้าเป็นรถใหม่ Levorg นี่ผมเห็นภาพครั้งแรกก็ถูกใจเลย WRX ในร่าง Wagon  ;D

GreenG

  • บุคคลทั่วไป
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 17:12:46 »
ขอบคุณครับ

ออฟไลน์ Auto

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 4,618
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 17:48:45 »
รถ  Subaru  เป็นรถที่ประหยัดน้ำมันแทบทุกรุ่นเลยนะ   เทียบความแรงกับความประหยัดแล้ว น่าสนใจมากกว่ารถตลาดจริง ๆ   

ออฟไลน์ jumpon77

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,372
    • อีเมล์
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 18:04:56 »
ถ้าขายในเมีองไทยน่าสนจริงๆๆครับ
http://facebook.com/jumpon.hiranyanon
https://twitter.com/jumpon77     คุยได้นะครับ.
 Corolla Altis 1.8 E MT MY2008 Corolla Altis 1.6 J AT my2011 Isuzu D-MAX Spark my2003

ออฟไลน์ H3T

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,721
    • อีเมล์
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 19:37:56 »
 ละเอียดมากเลยครับ ขอบคุณมาก บ่งบอกถึงความตั้งใจมากทีเดียว

 Levorg จะถูกส่งไปทำตลาดในยุโรปด้วยครับ ส่วนในบ้านเรารอลุ้นปี 2559 ภาษีใหม่ จะเสียภาษีสรรพสามิตพิกัด 35% อาจจะนำเข้ามาก็ได้ครับ
 ส่วนตัวผมคิดว่าเครื่อง FB16 DIT จะไปอยู่ใน XV ไมเนอร์เชนจ์ครับ แต่คาดว่าจะทำตลาด USDM เป็นหลัก ( ตอนนี้ Subaru มียอดขายใน USA และ Candana ที่เติบโตมาก โดยเฉพาะ XV และ Legacy Outback )

 สังเกตุนะครับ Subaru JDM ที่ใช้เครื่อง FA20 ทั้ง WRX S4 , Levorg 20GT , Forester XT ไม่มีเกียร์ 6MT ให้เลือกเลย
  ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

 ปล. Forester XT JDM 280 แรงม้าครับ

ออฟไลน์ mothsan

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,559
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: มีนาคม 02, 2015, 21:54:03 »
ขอบคุณมากๆเลยครับ ถ้าเป็น wagon ผมชอบทั้ง 2 รุ่นที่ว่าเลยครับ
ไม่แน่ใจว่า จขกท. ขับ S2000 หรือเปล่า
ถ้าขับ Levorg ตัว 1.6 เที่ยบกับ S2000 เป็นยังไงบ้างครับ
แีรงดึง  feeling ต่างๆ

เพราะ Levorg ตัวนี้ เครื่ิอง 1.6 Turbo เท่ากับ 116i แต่แรงม้า แรงบิดมากกว่านะครับ แต่ 0-100/80-120 มากกว่า 116i
ผมจะได้เทียบถูกนะครับ

ออฟไลน์ J!MMY

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 15,624
    • www.headlightmag.com
    • อีเมล์
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: มีนาคม 03, 2015, 03:23:51 »
ขอบคุณมากๆครับ ที่ทำรีวิวนี้มาให้อ่านกัน

เท่ากับว่า ยืนยันให้ผมได้มั่นใจถึง 2 ข้อว่า

1. แป้นเบรก Levorg น่าจะแข็ง และต้องออกแรงเหยียบมาก เหมือน WRX รุ่นปกติ และ WRX STi  "เป๊ะ"
2. ฟิลลิงช่วงล่าง น่าจะพอกันกับ WRX ตัวมาตรฐาน อาจจะนุ่มกว่าแค่นิดเดียว
เพราะตลาดญี่ปุ่น ชอบรถนุ่มๆกว่ากันพอสมควร


ออฟไลน์ champyadme

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 214
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: มีนาคม 03, 2015, 21:56:49 »
ละเอียดมากเลยครับ ขอบคุณมาก บ่งบอกถึงความตั้งใจมากทีเดียว

 Levorg จะถูกส่งไปทำตลาดในยุโรปด้วยครับ ส่วนในบ้านเรารอลุ้นปี 2559 ภาษีใหม่ จะเสียภาษีสรรพสามิตพิกัด 35% อาจจะนำเข้ามาก็ได้ครับ
 ส่วนตัวผมคิดว่าเครื่อง FB16 DIT จะไปอยู่ใน XV ไมเนอร์เชนจ์ครับ แต่คาดว่าจะทำตลาด USDM เป็นหลัก ( ตอนนี้ Subaru มียอดขายใน USA และ Candana ที่เติบโตมาก โดยเฉพาะ XV และ Legacy Outback )

 สังเกตุนะครับ Subaru JDM ที่ใช้เครื่อง FA20 ทั้ง WRX S4 , Levorg 20GT , Forester XT ไม่มีเกียร์ 6MT ให้เลือกเลย
  ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

 ปล. Forester XT JDM 280 แรงม้าครับ

ถ้าให้เดาว่าทำไมไม่มี MT ก้คงน่าจะเพราะตลาดไม่ต้องการมั้งครับ
รถพวกนี้ไม่ใช่รถไว้ทำซิ่งอยู่แล้ว ดูจากยอดขาย(จริงๆผมดูจากจำนวนรถมือสองในตลาด) ตั้งแต่สมัย legacy BL/BP ตัวเทอร์โบ ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่ AT

ปล แล้วพอทราบมั้ยครับทำไม forester jdm 280 ม้า แต่ของไทย 240 อ่ะครับ จะบอกว่าตอนเพื่อภาษี ก็ไม่น่าใช่

ขอบคุณมากๆเลยครับ ถ้าเป็น wagon ผมชอบทั้ง 2 รุ่นที่ว่าเลยครับ
ไม่แน่ใจว่า จขกท. ขับ S2000 หรือเปล่า
ถ้าขับ Levorg ตัว 1.6 เที่ยบกับ S2000 เป็นยังไงบ้างครับ
แีรงดึง  feeling ต่างๆ

เพราะ Levorg ตัวนี้ เครื่ิอง 1.6 Turbo เท่ากับ 116i แต่แรงม้า แรงบิดมากกว่านะครับ แต่ 0-100/80-120 มากกว่า 116i
ผมจะได้เทียบถูกนะครับ

ถ้าเหยียบเต็มคันเร่ง s2000 ก็เร็วกว่า. ตามแรงม้าในโบร์ชัวนั่นแหละครับ ส่วนฟิลลิ่งอื่นๆ. คงเทียบกันไม่ได้อ่ะครับ รถคนละแบบ
แต่ถ้าเหยียบครึ่งคันเร่ง CVT มันจะคงรอบไว้ที่แรงบิดสูงสุดตลอด ทำให้levorg คงไปก่อนได้

เทียบกับ BMW ยังไงม้ายุโรปก็แข็งแรงกว่าม้าญี่ปุ่นแหละครับ 55

ขอบคุณมากๆครับ ที่ทำรีวิวนี้มาให้อ่านกัน

เท่ากับว่า ยืนยันให้ผมได้มั่นใจถึง 2 ข้อว่า

1. แป้นเบรก Levorg น่าจะแข็ง และต้องออกแรงเหยียบมาก เหมือน WRX รุ่นปกติ และ WRX STi  "เป๊ะ"
2. ฟิลลิงช่วงล่าง น่าจะพอกันกับ WRX ตัวมาตรฐาน อาจจะนุ่มกว่าแค่นิดเดียว
เพราะตลาดญี่ปุ่น ชอบรถนุ่มๆกว่ากันพอสมควร



เบรคแข็งกว่ารถญี่ปุ่นจริงๆครับ 55 ให้ความรู้สึกว่าเป็นรถสำหรับผู้ชายแรงเยอะๆหน่อย ออกแนวพ่อบ้านแอบซิ่ง
ส่วนช่วงล่าง คาดว่าน่าจะไม่ต่างมั้งครับ เพราะทางที่ผมใช้วิ่งนี่ก็เหมือนๆเมืองไทยแหละครับ ฝาท่อกลางถนน ถนนลาดยางปะผุ
ช่วงล่างเก็บรายละเอียดขึ้นมาพอสมควร พูดได้เลยว่า "ไม่นิ่มครับ" (แต่ก็ไม่ได้แข็งแบบรถสปอร์ตขนาดนั้น)
คันที่ขับใส่ล้อ 17 นิ้ว คิดว่า ถ้าเป็นรุ่น ล้อ 18 นิ้ว คงจะยิ่งกว่านี้

ออฟไลน์ SM.

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 27,334
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: มีนาคม 03, 2015, 22:13:58 »
สวย หล่อ จริงๆ

ออฟไลน์ PREM

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 4,185
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: มีนาคม 04, 2015, 11:23:55 »
สุดยอดครับ ละเอียดมาก อ่านแล้วทะลุปรุโปร่งเลย ขอบคุณมากครับ
2014 Mazda CX-5 2.5 S
2016 Volvo XC60 D4 
2019 Honda Jazz RS+
2020 Volvo V60 T8 Inscription
2022 Mazda CX-30 SP

ออฟไลน์ H3T

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,721
    • อีเมล์
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: มีนาคม 05, 2015, 15:46:15 »
 เรื่อง สเปค JDM แรงม้ามากกว่าเวอร์ชั่นส่งออก น่าจะเป็นการจะสื่อว่า JDM ต้องมีอะไรพิเศษกว่าเท่านั้นเองนะครับ
 Forester 280 ส่งออก 240
 WRX S4 300 ส่งออก 264
 STI ก็เป็น EJ20 twin scoll ส่งออกก็เป็น EJ25

ออฟไลน์ Smart

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 546
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: มีนาคม 06, 2015, 09:58:02 »
ขอบคุณครับ Review ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ...ชอบ brand นี้ ถ้ามาตั้งโรงงานในไทย จะซื้อซักคัน
แต่ตอนนี้ถึงไม่ซื้อ ก็คอยติดตามอ่าน review อยู่เรื่อยๆ... เป็นรถญี่ปุ่นที่ unique ดี
 :)

ออฟไลน์ Slipknot`

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 21,866
  • *** HLM.COM ***
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: เมษายน 15, 2015, 23:17:16 »
ขอบคุณครับ

สวยมาก

ออฟไลน์ Bonds_

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 96
    • อีเมล์
Re: Review Subaru Levorg 1.6GT JDM Version
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2015, 22:57:45 »
ขอบคุณสำหรับรีวิวดีๆมีประโยชน์มากครับ ตอนนี้ก็รอลุ้นให้เข้าไทยผมว่าอาจทำให้ตลาดรถ wagon กลับมาคึกคักก็ได้นะเพราะราคาไม่แพงมากน่าพอเอื้อมถึง (Outback ผมว่ายังไม่ถูกจริตคนไทยเท่าไร)