สวัสดีครับ เพื่อนๆสมาชิกทุกท่าน วันนี้ผมจะมาขอมารีวิวสั้นๆ เกี่ยวกับเจ้ารถคันนี้ ซึ่งเป็นรถของเพื่อนผมเองครับ
นั่นคือ
Ford Focus MK3 2.0 GDi Sport+นับตั้งแต่ฟอร์ดประเทศไทยเข้ามาทำตลาดเอง รถยนต์นั่งที่ทำตลาดในประเทศไทยขณะนี้ มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่แค่ในตระกูล C-Segment เท่านั้นครับ
แล้วฟอร์ดประเทศไทย เคยนำรุ่นไหนมาขายบ้าง ?
เริ่มจาก Ford Laser (รวมถึง Laser Tierra) ที่มีเครื่องยนต์เบนซิล ขนาด 1.6 1.8 และ 2.0 ซึ่งเป็นฝาแฝดของ Mazda 323 Protege ในสมัยนั้นครับ จับคู่กับเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ 4 จังหวะ มีแต่รุ่นเก๋ง 4 ประตูเท่านั้น จากนั้น ก็เปลี่ยนรุ่นมาเป็น Ford Focus MK2 รุ่นก่อนหน้า ซึ่งมีเครื่องยนต์เบนซิล 1.8 2.0 และ เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 TDCi จับคู่กับเกียร์ธรรมดา อัตโนมัติ 4 จังหวะ และ คลัชต์คู่ 6 จังหวะครับ มีให้เลือกทั้งตัวถังเก๋ง 4 ประตู หรือแบบท้ายตัด 5 ประตูครับ
ปัจจุบัน คือ Ford Focus MK3 มีให้เลือกทั้งตัวถังเก๋ง 4 ประตู หรือแบบท้ายตัด 5 ประตู ซึ่งรายละเอียดผมจะเริ่มกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปครับ
สำหรับ Ford Focus MK3 2.0 GDi Sport+ คันนี้ เพื่อนผมได้ซื้อ Luxury Pack เพิ่มจากทางฟอร์ด ทำให้ได้เบาะหนังดำด้ายขาว และเบาะคนขับปรับไฟฟ้าได้เพิ่มเข้ามาครับ (เดิมคือเบาะหนังกึ่งผ้า และไม่มีระบบปรับไฟฟ้าด้านคนขับ) สนนราคาค่าตัว 1,079,000 + Luxury Pack อีก 10,000 บาทครับ
รูปลักษณภายนอก ไม่ต้องอธิบายมากครับ ชมกันได้ตามอัธยาศัยครับ
แผงบังใต้ท้อง เก็บได้เรียบและมิดชิดดี ห้องเครื่องก็เก็บได้เรียบร้อยดีครับ แต่อาจจะดูแน่นไปหน่อย เวลาซ่อมไม่อยากนึกภาพเลยครับ ว่าช่างจะต้องใช้เวลารื้อนานเท่าไหร่ และค่าแรงของศูนย์บริการที่บวกเข้าไปตามระยะเวลางานจะเคาะออกมาเท่าไหร่กัน รถรุ่นนี้ใช้บังโคลนในซุ้มล้อหลัง และใต้ท้องบางส่วนเป็นวัสดุแบบกำมะหยี่ คิดว่าน่าจะช่วยให้ลดเสียงเวลาวิ่งผ่านน้ำได้ครับ และมันเป็นเช่นนั้นจริงๆครับ เสียงปะทะจากน้ำของรถคันนี้จากใต้ท้อง เก็บได้ค่อนข้างดีครับ
คานหม้อน้ำรุ่นนี้ เท่าที่ดูผ่านๆ เป็นพลาสติกทั้งหมดแล้วครับ ขอตินิดนึงครับ ผมว่าบางส่วนงานหยาบไปหน่อย เหมือนไม่ได้เก็บรอยต่อพลาสติกมาให้ดี ผมแอบเดินไปดูรอบโชว์รูมเห็นเป็นแบบนี้มาทุกคันเลยครับ ไม่เป็นไรครับ มองไม่เห็น เป็นจุดไม่ซีเรียส และคงไม่มีผลอะไรกับความปลอดภัย
ช่วงล่างอิสระทั้งสี่ล้อ จากในรูปเห็นหม้อพักไอเสียใบโตๆอยู่ด้านหลัง พร้อมแผ่นกันความร้อนที่ไม่แน่ใจว่าจะกันได้มากขนาดไหน แต่ถ้ามองระยะไกล ก็จะเห็นหม้อพักไอเสียอยู่บ้าง ใครที่ชอบเรียบๆ คงขัดใจ แต่ถ้าใครชอบดิบๆ คงชอบครับ
เพิ่มเติม จากรูปเหมือนว่าจะมีโครงสร้างอุปกรณ์คล้ายๆกับค้ำโช๊คหน้า เดินขึ้นไปเป็นคานใต้แผงคอจิ้งหรีด ผมยังไม่ได้สำรวจแบบเต็มๆ รบกวนผู้รู้ครับ ว่ามันคือโครงสร้างของอุปกรณ์อะไรกันแน่
อารมณ์การขับขี่เครื่องยนต์หัวฉีดฝัง (Gasoline Direct Injection, GDi) ขนาดประมาณ 2 ลิตร ชนเกียร์คลัชต์คู่ 6 จังหวะ ที่เรียกว่า Powershift อยู่ในรถเครื่องยนต์เงียบดีมากครับ อัตราเร่งดี รู้สึกได้ถึงแรงดึงเมื่อเร่งแซงอย่างสบายๆ การเปลี่ยนเกียร์กระตุกแบบพอให้รู้สึกว่าเปลี่ยนเกียร์ แต่ไม่ได้รุนแรงอะไรมากมายครับ ให้อัตราเร่งสม่ำเสมอไม่ต้องรอรอบ เหมือนว่าตัวรถมีแรงพร้อมที่จะทะยานต่อไปตลอดเวลาครับ
สำหรับระบบเกียร์ ตอนออกรถใหม่ๆ สังเกตได้ว่าบางครั้งมีเสียงดัง แกร๊กๆ ขณะเปลี่ยนเกียร์ หลายคนบอกเป็นปกติของเกียร์ Powershift ซึ่งก็ต้องดูต่อไปครับ ว่ามันจะพังไหม ขณะนี้วิ่งไป 1000 กว่ากิโลเมตร พบว่าเสียงดังแกร๊กๆ เบาบางลงไปบ้างครับ และข้อสังเกตของเกียร์ตัวนี้คือ เวลาออกตัวช้าๆค่อยๆแตะคันเร่งไป หรือคลานในเมืองจะรู้สึกว่าตัวรถมีอาการสั่นกระพือเล็กน้อยแบบสัมผัสได้ คล้ายๆกับคนเพิ่งหัดขับรถเกียร์ธรรมดาที่ยังเลี้ยงคลัชต์ไม่ค่อยจะถนัดนัก แต่ถ้าออกตัวแบบปกติจะไม่มีอาการเหล่านี้ครับ และบางครั้ง เมื่อใส่เกียร์ D แล้วกดคันเร่งทันที พบว่าคลัชต์น่าจะยังไม่จับครับ ต้องรอประมาณ ครึ่งวินาที จึงจะพุงออกไป ซึ่งจะเป็นบางครั้งเท่านั้น และนานๆจะเกิดอาการนี้สักครั้งครับ
สรุปเรื่องเกียร์ โดยปกติเกียร์คลัชต์คู่มันไม่มีทอร์คคอนเวอร์ตเตอร์ เป็นไปได้ยากที่จะให้มันไม่สะดุด 100% ถ้าใครชอบแนวนี้ และรับได้กับอาการที่เกิดขึ้นในบางครั้ง ซึ่งโดยปกติจะไม่เกิดอาการเหล่านี้ และเริ่มจับทางถูก ผมว่ามันขับสนุกเลยล่ะครับ ที่เหลือก็มารอลุ้นกล่องควบคุม และ ซีลเกียร์ว่าจะมีรั่วหรือไม่
ถ้าไม่นับเรื่องเกียร์แล้ว โดยรวมตัวรถให้ความคล่องตัวในการขับขี่ดีมากครับ ใช้ล้อ 17 นิ้ว ยางหน้ากว้าง 215 มิลลิเมตร และผมขอยืนยันอีกเสียง ว่าช่วงล่างกับพวงมาลัยของ Focus MK3 คันนี้ หนึบ เฟิร์ม ในเมืองพวงมาลัยน้ำหนักเบา และหนักขึ้นตามความเร็ว พวงมาลัย เบาที่สุดตั้งแต่ทำมา ไล่มาจาก Laser Tierra, Focus MK2 เนื่องจากเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า แต่ไม่ได้ไร้ชีวิตชีวา การเข้าโค้งมีอาการดื้อโค้งน้อยลงมาก อาจเป็นเพราะระบบ Torque Vectoring Control ช่วยเอาไว้ แต่ก็ยังรู้สึกได้บ้างเล็กน้อยครับ ขับแล้วสนุก หาดใหญ่-ภูเก็ต โค้งเยอะๆ ไม่มีเหนื่อยครับ ผู้โดยสายก็บอกเป็นเสียงเดียวกันครับ ว่านั่งสบาย กดไป 160 กม/ชม. แล้วยังไม่รู้สึกว่าตัวรถวิ่งเร็ว หรือโคลงเคลงแต่อย่างใด
อัตราสิ้นเปลืองทดสอบวิ่งช่วงรันอิน โดยเติมน้ำมัน E20 จากหาดใหญ่ ภูเก็ต ระยะทาง 421 กม. วิ่งความเร็ว 100-130 กม/ชม. แซงที่ 150-160 กม./ชม บ้างเป็นบางครั้ง
เปิดแอร์ นั่งคนเดียว เข้าเมืองตรัง และ เมืองพังงาด้วยนิดหน่อย อัตราสิ้นเปลืองบนหน้าจอ 14.7 กม./ล เติมกลับเข้าไปจริงๆ 28.96 ลิตร ได้อัตราสิ้นเปลืองจริง
14.53 กม./ลณ ราคาน้ำมัน 27.62 บาท ได้ราคาเฉลี่ย กม. ละ 1.90 บาทครับ
ทดสอบวิ่งในเมืองภูเก็ต ระยะทาง 120 กิโลเมตร และวิ่งกลับ อ.หาดใหญ่ รวม 571 กิโลเมตร เติมน้ำมันจริง 44 ลิตร ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย
12.97 กม./ล ด้วยสภาวะ เปิดแอร์ นั่ง 3 คน ครับ ได้ราคาเฉลี่ย กม. ละ 2.17 บาทครับ
ขอพักเบรกไว้ตรงนี้ก่อนครับ เดี๋ยวจะมาต่อเรื่อง ภายใน ลูกเล่นต่างๆ ในอีกไม่ช้าครับ
ขอขอบคุณ Headlightmag.com และเพื่อนๆสมาชิกทุกท่าน
หากสมาชิกท่านใด อยากทราบข้อมูลส่วนไหนเพิ่มเติม หรือจะติชม ผมยินดีเลยครับ
อัพเดทตอนที่ 2 ที่ คห.4 และ 6 ในกระทู้นี้ครับ