โพสพรีวิวนี้ จะเป็นการที่ผู้เขียนได้สรุปรวบรวมข้อมูลและศึกษาเกี่ยวกับการอัพเกรดไฟหน้ารถยนต์ ด้วยโปรเจคเตอร์ LED หรือ Bi-LED Projector Retrofit ก่อนเตรียมไปติดตั้งจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลจากเว็บไซท์ต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และจะแนบ Link อ้างอิงมาด้วย เพื่อให้ตามกันไปอ่านกันจากต้นทางกันด้วย โดยข้อมูลที่เตรียมไว้ก่อนอัพเกรดไฟหน้าผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังจะทำไฟหน้ารถเหมือนกัน พร้อมกับเตรียมเก็บเงินไว้พลางๆ ที่จะอัพเกรดไฟหน้าให้กับเจ้า Honda Civic FB 2014 ที่อยู่ด้วยกันมาหลายปี และอาจจะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกหลายปี ถึงเวลาต้องเปลี่ยนไฟหน้า อาจจะรวมถึงโคมใหม่ให้กลับมาสว่างสไหว เพิ่มความมั่นใจในการขับตอนกลางคืน ซึ่งโพสนี้อาจจะค่อนข้างมีความยาว ซึ่งผมก็ใช้เวลาเรียบเรียงนาน ต้องออกตัวว่าตัวผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่มีความสนใจในเรื่องรถและหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ถ้าผู้เชี่ยวชาญได้เข้ามาอ่านแล้วเจอจุดที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน อาจจะขอให้เพื่อนๆ ผู้อ่าน ช่วยคอมเม้นท์เพิ่มเติมก็ยินดีครับ และก็ไม่น่าจะมีแพลตฟอร์มไหนเหมาะแก่การแชร์ข้อมูลเรื่องการอัพเกรดไฟหน้ารถยนต์โปรเจคเตอร์ LED เท่า Headlightmag.com อีกแล้ว ดูจากชื่อเว็บไซท์ก็พอจะเดาได้
ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เทรนด์การอัพเกรดไฟหน้าจะเป็นยุคของชุดโปรเจคเตอร์ Bi Xenon Projector ซึ่งในเมืองไทยเองก็เป็นที่นิยมในสายอัพเกรดไฟหน้า Retrofit เช่นกัน โดยราคาก็มีตั้งแต่ถูกๆ ไปยันแพง แปรผันตามคุณภาพสินค้า และฝีมือของช่างที่ติดตั้ง โดยไฟหน้ารถยนต์ Bi Xenon Projector จะประกอบด้วยส่วนประกอบหลักๆ คือ
1. หลอดซีนอน (หลอด HID) : ซึ่งยี่ห้อหลักๆ ในตลาดไม่ว่าจะเป็น Morimoto HID, OSRAM, PHILIPS, Koito เป็นต้น โดยหลอดซีนอนแต่ละยี่ห้อที่กล่าวมาจะมีทั้งแบบ หลอดความสว่างแบบมาตรฐาน (ตัว OEM ติดรถจากโรงงาน) และหลอดซีนอนอัพเกรด ที่เพิ่มคุณสมบัติความสว่างที่มากขึ้น และสีของแสงที่ขาวขึ้นจากหลอดมาตรฐาน โดยหลอดซีนอนขั้วหลอดที่นิยมนำมาใช้ในการอัพเกรดไฟหน้ารถคือ ขั้วหลอด D2S
2. บัลลาสต์ (Ballast) : เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน Regulator ทำหน้าที่แปลง/ควบคุมกระแสไฟและแรงดันไฟที่จะเข้าสู่หลอดซีนอน โดยตอนเปิดไฟหน้าซีนอน บัลลาสต์จะสร้างแรงดันไฟประมาณ 20,000 โวลต์ ซึ่งให้ขั้วทั้งสองฝั่งของหลอดซีนอนมีความต่างศักย์กัน ทำให้เกิดเป็นการสปาร์คเพื่อทำให้ไฟติด ซึ่งจะเห็นได้ว่าตอนเปิดไฟหน้าซีนอน ไฟจะไม่ติดทันทีเหมือนฮาโลเจนหรือแอลอีดี แต่เมื่อเกิดการสปาร์คแล้วไฟจึงติดและค่อยๆสว่างขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่สว่างที่สุดจนความสว่างคงที่ บัลลาสต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญตั้งแต่ตอนเปิดไฟและคุมความเสถียรของความสว่างของหลอดซีนอนตอนการใช้งานจนกระทั่งปิดไฟ
3. โปรเจคเตอร์ (Projector) สำหรับหลอดซีนอน : เป็นโคมเลนส์ลูกแก้วที่มีม่าน (Shutter) สำหรับเปิด/ปิด (ไฟต่ำ-ไฟสูงในตัว) โดยถ้าเราเปิดไฟต่ำ ม่าน (Shutter) จะอยู่ในตำแหน่งที่ปิดอยู่ แต่เมื่อเราเปิดไฟสูง ม่าน (Shutter) จะถูกเปิดออกทำให้แสงที่สะท้อนกับฉาก (Reflector) ส่องออกมาได้เต็มๆ เวลาเปิด/ปิด ม่าน (Shutter) จะมีเสียง แต๊ก นั่นเอง โดยขนาดเลนส์ของโปรเจคเตอร์ (Projector) นั้นมีอยู่ 2 ขนาด ก็คือ 3.0 นิ้ว และ 2.5 นิ้ว ที่เป็นขนาดมาตรฐานและใช้กันแพร่หลายในตลาดสายโปรเจคเตอร์ เรโทรฟิต
โดยเลนส์ลูกแก้วของโปรเจคเตอร์สำหรับสายเรโทรฟิตจะเป็นเลนส์แบบ Clear lens หรือ ลูกแก้วเลนส์ใสที่จะทำให้แสงจากหลอดซีนอน หรือ LED Chip ภายในโปรเจคเตอร์ ส่องออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะแตกต่างจากโปรเจคเตอร์โรงงานที่ใช้กับหลอดฮาโลเจน ที่ส่วนใหญ่เลนส์จะไม่ใช่ Clear lens (ลูกแก้วเลนส์ใส)
โดยยี่ห้อ/รุ่น ของโปรเจคเตอร์ (Projector) สำหรับ Bi Xenon ที่เป็นที่นิยม ได้แก่
Hella Koito Q5 Projector Hella 3R G5 Projector ซึ่งนอกเหนือจาก Hella/Koito ก็มีหลายๆแบรนด์ Aftermarket ที่ทำโคมทั้งสองชนิดนี้ออกมา เช่น Autoki, NHK เป็นต้น
Ref :
https://www.royalincarparts.com/how-to-choose-the-best-bi-led-projector-lens/Bi Xenon Projector อยู่ในความนิยมมาเป็น 10 ปี อย่างที่เราเห็นกันว่าร้านไฟซีนอนผุดขึ้นมากมายในประเทศไทย ตั้งแต่ถูกยันแพง แกงยันไปถึงตัวจริง ซึ่งข้อดีของตัวมันก็คือ ความสว่างของหลอดซีนอนมากกว่าหลอดฮาโลเจนมาตรฐานเดิม 3 4 เท่าตัว โดยความสว่างต่อหลอดของหลอดซีนอนยี่ห้อดีๆนั้นอยู่ที่ 3,000 ลูเมนขึ้นไป ในขณะที่หลอดฮาโลเจน H4 ค่ามาตรฐานความสว่างอยู่ที่ 900 1,000 ลูเมนต่อหลอดเท่านั้น รวมถึงระยะการส่องสว่างของแสงก็ส่องออกไปได้ไกลกว่า แต่อย่างไรก็ตามกระแสหลอดซีนอนก็ซาลงไปตามกาลเวลา และกำลังมีคลื่นลูกใหม่อย่างโปรเจคเตอร์ LED หรือ Bi-LED Projector ที่กำลังเข้ามาทดแทน ซึ่งในปี 2021 เทคโนโลยีของชิพแอลอีดี (LED Chip) นั้นสามารถพัฒนาจนสามารถทำความสว่างได้อยู่ในระดับเดียวกันหรือสว่างกว่าหลอดซีนอนแล้ว และข้อดีอื่นๆ ที่เหนือกว่าของโปรเจคเตอร์ LED เมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์ซีนอน คือ
เมื่อเปิดสวิตช์ ไฟจะติดทันที ไม่ต้องรอการสปาร์คแล้วไฟค่อยๆสว่างขึ้นเหมือนซีนอน
อายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า Bi Xenon โดยโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) ที่คุณภาพดีๆ ควรมีอายุการใช้งาน 30,000 ชั่วโมงขึ้นไป
Bi-LED Projector อุปกรณ์น้อยกว่า โดย Bi Xenon Projector ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ชิ้นหลัก คือ โปรเจคเตอร์ซีนอน (Clear lens), หลอดซีนอน และบัลลาสต์ ที่กล่าวด้านบน (โดยอุปกรณ์หลักทั้ง 3 อย่างนั้นสเป็คและคุณภาพของแต่ละชิ้นควรเป็นที่สุด ถึงจะทำงานร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ) ในขณะที่โปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) รวมกันเป็นโมดูลเดียว
โดยหลักการของการทำงานของโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) จะคล้ายๆกับโปรเจคเตอร์ Bi Xenon Projector เพียงแต่เปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงจากหลอดซีนอน เป็นชิพแอลอีดี (LED Chips)
วีดีโอด้านล่าง อธิบายว่า Bi-LED Projector คืออะไรวีดีโอด้านล่าง อธิบายความแตกต่างระหว่าง Bi-Halogen, Bi-Xenon และ Bi-LED Projector
โปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector)ส่วนประกอบภายในของโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector)
ประเภทของโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector)1) แบ่งตามรูปทรงลักษณะของโปรเจคเตอร์ LED และการติดตั้ง1.1 Lossless Installation เป็นประเภทของโปรเจคเตอร์ LED ที่มีรูปทรงและขนาดกระทัดรัด ข้อดีของโปรเจคเตอร์แบบนี้ คือ ติดตั้งง่าย ใช้เวลาน้อยกว่า โดยเฉพาะกับรถยนต์ที่เดิมเป็นโคมมัลติรีเฟล็กเตอร์สำหรับหลอดฮาโลเจน ขั้ว H4 เป็นต้น อย่างไรก็ตามโปรเจคเตอร์ LED แบบ Lossless Installation มักจะเป็นแบบ Single Core LED (ชิพแอลอีดี แผงเดียว) หรือรุ่นราคาเริ่มต้นสำหรับ ยี่ห้อนั้นๆ หรือรุ่นประหยัดนั่นเอง
โปรเจคเตอร์ LED แบบ Lossless Installation
1.2 Lossy Installation เป็นประเภทของโปรเจคเตอร์ LED ที่รองรับ Dual Core LEDs (Multi Chip LEDs) แปลว่าตามตัวก็คือ มีชิพ แอลอีดี มากกว่า 1 ชิ้นทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความสว่างของโปรเจคเตอร์ LED ซึ่งในแง่ของการติดตั้งนั้น หากเดิมรถยนต์ที่ติดโปรเจคเตอร์ LED มาจากโรงงาน เช่น Toyota Fortuner นั้นจะแค่ถอดโปรเจคเตอร์เดิมออก แล้วใส่โปรเจคเตอร์ LED Retrofit แบบ Lossy Installation แทน กรณีแบบนี้จะไม่ยาก แต่ถ้าหากเดิมรถยนต์ที่จะมาติดตั้งนั้นเป็นโคมแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ สำหรับฮาโลเจนขั้ว H4 ช่างผู้ติดตั้งจะต้องมีการเจาะรู้สำหรับน๊อต 4 จุดที่จานฉายของโคมเดิมเพื่อยึดโปรเจคเตอร์ LED ประเภท Lossy รวมถึงต้องมีการวัดระยะการติดตั้งและตั้งไฟให้ดีเพื่อให้ระดับของไฟและคัทออฟออกมาอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่าง และใช้ระยะเวลาในการติดตั้งมากกว่าแบบ Lossless แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโปรเจคเตอร์ LED แบบ Lossy จะพบได้ในรุ่นกลาง จนไปถึงรุ่น High-end ของแต่ละแบรนด์ ซึ่งมักมาพร้อมกับ Multi Chip LEDs ซึ่งจะมีความสว่างที่มากกว่านั่นเอง
โปรเจคเตอร์ LED แบบ Lossy Installation
2) แบ่งตามประเภทของ LED Chip2.1 Single Core LED ซึ่งเป็นโปรเจคเตอร์ LED ที่มีชิพ แอลอีดี ชิ้นเดียวทำหน้าที่ในการส่องสว่าง
2.2 Dual Core LEDs (Multi Chip LEDs) ซึ่งเป็นโปรเจคเตอร์ LED ที่มีแผงชิพ แอลอีดี 2 ชิ้นขึ้นไป
ทำงานร่วมกันในการทำหน้าที่ให้สว่าง ซึ่งความสว่างจะมากกว่า Single Core LED โดยราคาก็จะสูง
กว่า Single Core LED ด้วยเช่นกัน
โปรเจคเตอร์ LED แบบ Dual Core LEDs (Multi Chip LEDs)
3) แบ่งตามประเภทของขนาดเลนส์3.1 เลนส์ขนาด 3 นิ้ว เป็นเลนส์ขนาดที่นิยมที่สุดของโปรเจคเตอร์ LED ซึ่งขนาดเลนส์ที่กำลังเหมาะ ทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นทั้งด้านกว้าง และด้านลึกทำได้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำเลนส์ด้วย แต่สำหรับรถยนต์บางชนิดที่มีพื้นที่ในโคมไฟหน้าอย่างจำกัด หรือโคมไฟหน้ามอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์อาจจะไม่สามารถติดตั้งโปรเจคเตอร์ LED ขนาด 3 นิ้วได้
3.2 เลนส์ขนาด 2.5 นิ้ว รถยนต์ขนาดเล็กที่มีพื้นที่ภายในโคมไฟหน้าจำกัดซึ่งไม่สามารถติดตั้งโปรเจคเตอร์ที่มีเลนส์ขนาด 3 นิ้วได้ โปรเจคเตอร์ขนาดเลนส์ขนาด 2.5 คือทางออกและตอบโจทย์ รวมถึงสามารถติดตั้งในไฟหน้ามอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่พื้นที่ภายในโคมจำกัดอีกด้วยเช่นกัน
ลักษณะ Cut-off ของโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) เลนส์ 3 นิ้ว เมื่อเปิดไฟต่ำ
ลักษณะ Cut-off ของโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) เลนส์ 3 นิ้ว เมื่อเปิดไฟสูง
ปัจจัยสำหรับการตัดสินใจเลือกโปรเจคเตอร์ LED1. คุณภาพของสินค้าโปรเจคเตอร์ LED โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักๆ
1.1. คุณภาพของ LED Chip ชิพ แอลอีดี ที่คุณภาพที่ดีเมื่อเทียบกับแบบคุณภาพทั่วๆไป หรือคุณภาพต่ำนั้น ถ้ากำลังไฟ (วัตต์) ที่จ่ายเข้าไปเท่าๆกัน (Input Wattage) LED Chip ที่คุณภาพดีจะให้ความสว่าง Lumen Output มากกว่า LED Chip แบบทั่วๆไป หรือแบบคุณภาพต่ำ
รวมถึงความเสถียรของความสว่างของแสงเมื่อเปิดไฟหน้าใช้งานไปสักระยะ หาก LED Chip คุณภาพต่ำ ความสว่างจะดร็อปลงเมื่อผ่านการเปิดไฟไปสัก 20 - 30 นาที ถ้าลองใช้ LUX Meter วัดค่าแสงเพื่อทำการเปรียบเทียบ ค่าที่ได้ตอนเริ่มต้นกับค่าเมื่อใช้งานไปสักระยะจะแตกต่างกันชัดเจนสำหรับ LED Chip คุณภาพต่ำ
ส่วนสีของแสง LED ที่อยู่ในช่วงที่นิยมคือ 5500K 6000K ซึ่งถ้าค่า K (เคลวิน) มากกว่า 6000K ส่วนตัวผมมองว่าแสงจะขาวเกินไปจะส่งผลเรื่องวิสัยทัศน์การมองเห็น ช่วงระหว่าง 5500K 6000K ยังออกขาวนวลๆอยู่บ้าง
1.2. คุณภาพของเลนส์ เลนส์ที่ดี แสงจากต้นกำเนิดแสงจะสามารถส่องผ่านเลนส์ได้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงควบคุมการฟุ้งกระจายของแสงได้ดี (ค่า Glare หรือค่าความฟุ้งกระจายของแสงต่ำ) เส้น Cut-off ของแสงมีความคมชัดทั้งไฟต่ำและไฟสูง รวมถึงวิสัยทัศน์ด้านกว้าง (ด้านข้าง) ทำได้ดี และจุดสังเกตสำคัญอีกจุดของเลนส์ที่มีคุณภาพดี คือ การออกแบบเลนส์ที่ทำให้ช่วงของท้องแสงลึก แสงลงพื้นถนนดี ทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นแสงบริเวณที่ใกล้หน้ารถชัดเจน
1.3. คุณภาพของระบบระบายความร้อน ชิ้นส่วนที่ใช้ในการระบายความร้อนของโปรเจคเตอร์ LED หลักๆ คือ Heatsink และพัดลมระบายความร้อน (Active Fan) ซึ่งจะคล้ายๆกับระบบระบายความร้อนของแผนวงจรอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น CPU คอมพิวเตอร์ หากการระบายความร้อนไม่ดี และเป็นโปรเจคเตอร์ LED ที่ใช้กำลังวัตต์สูง เช่น 60 - 65 วัตต์ขึ้นไป โอกาสที่ LED Chip และแผงวงจร PCB จะเสื่อมอายุเร็ว หรือทำให้โอกาสเกิดแสงดร็อปหลังจากเปิดใช้งานโปรเจคเตอร์ไปสักระยะ (ค่าความสว่างไม่เสถียร) เทคโนโลยีพัดลมระบายความร้อนในโปรเจคเตอร์ LED บางยี่ห้อ เป็นแบบ Adaptive Fan คือ รอบพัดลมจะหมุนถี่ขึ้นเมื่ออุณหภูมิในระบบสูงขึ้น
2. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์สินค้า โปรเจคเตอร์ LED ก็เหมือนสินค้าอื่นๆ เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าที่สร้างแบรนด์ขึ้นมาใช้เวลาหลายปี ผมเชื่อว่าสินค้าที่สร้างแบรนด์น้อยรายที่จะทำธุรกิจแบบตีหัวเข้าบ้าน สำหรับผมจะไล่ดูรีวิวผู้ใช้ทั้งความเห็นและวีดีโอการใช้งานจริงก่อนตัดสินใจ อย่างน้อยมีผู้ใช้งานรุ่นพี่ ทดสอบให้เราก่อนแล้ว แล้วค่อยๆคัดตัดช็อยส์ไปเรื่อยๆ จนตรงกับความต้องการและงบประมาณในกระเป๋าของเรา
3. ร้านที่รับติดตั้ง/ช่างที่รับติดตั้ง ความเห็นของผม โปรเจคเตอร์ LED นั้นต้องใช้ทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญของช่าง ซึ่งต้องมีมากกว่าหลอดไฟชนิดอื่นมากพอสมควร (หลอดฮาโลเจน, หลอด LED เราอาจจะเปลี่ยนกันเอง ตั้งไฟกันเองได้) แต่กับโปรเจคเตอร์ LED นั้นต้องใช้ทักษะ Handyman และความรู้เรื่องระบบไฟของรถแต่ละยี่ห้อพอสมควร ทำเองโดยไม่ชำนาญผมว่าได้ไม่คุ้มเสีย ผมยึดหลักว่าอะไรที่เราไม่รู้จริงไม่ชำนาญจริง จ้างผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงดีกว่า แต่ถ้าใครมีทักษะ เปิดคลิปแล้วทำตามก็ท้าทายดีครับ
รวมไปถึงการพูดคุยและความจริงใจในการให้บริการลูกค้าก็สำคัญ เพราะเท่าที่ผม Survey ราคามา ราคาโปรเจคเตอร์ LED รวมติดตั้งนั้นหลักหมื่นขึ้นไป ดังนั้นจะเสียเงินหลักหมื่นทั้งที ผมจะคุยจนผมเข้าใจ และผมอยากให้เพื่อนๆคุยราคากับร้านหรือช่างให้ชัดเจนก่อนเริ่มทำ ว่าราคาที่ร้านแจ้ง ที่ร้านโฆษณาเป็นราคารวมติดตั้งจบทุกอย่างหรือเปล่า เพราะบางทีร้านอาจจะบอกราคาสินค้าและค่าติดตั้ง แต่อาจจะไม่รวมค่ากาวสำหรับซีลโคม ไม่รวมฝาครอบ (หน้ากาก) ของโปรเจคเตอร์ LED ดังนั้นถามราคาจบทุกอย่างชัดๆไปเลย ที่สำคัญอย่าลืมถามเรื่องระยะเวลารับประกันและเงื่อนไขในการรับประกันสินค้าและการติดตั้ง (เช่น การซีลโคมไม่ดี น้ำเข้าโคม กรณีนี้ทางร้านรับผิดชอบด้วยหรือไม่) เราจะได้ไม่เสียผลประโยชน์ในภายหลัง
ฝาครอบ (หน้ากาก) สำหรับโปรเจคเตอร์ LED สำหรับเลนส์ขนาด 3 นิ้ว
4. ราคาที่ตอบโจทย์ ราคาโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) ส่วนใหญ่ถ้าสอบไปยังร้านต่างๆ จะเป็นเป็นราคาสินค้าพร้อมการติดตั้ง (ราคาสินค้า + ค่าบริการติดตั้ง + การบริการหลังการขาย) ซึ่งบางทีสินค้าตัวเดียวกันแต่ราคาที่แต่ละร้านเสนออาจจะแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะตัวแปรค่าติดตั้ง (ผีมือช่างแต่ละคนที่เขาตีมูลค่าฝีมือตัวเอง + การบริการหลังการขาย) ที่แต่ละร้านเขาจะ Mark up ราคาจากค่าสินค้า ซึ่งตลาดนี้ก็มีทางเลือกค่อนข้างเยอะพอสมควรโดยเฉพาะในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ๆ เมื่อตลาดทำหน้าที่ของมัน เชื่อว่าราคาคงไม่หนีกันมาก หากเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแบรนด์เดียวกัน ไม่งั้นลูกค้าเทไปใช้บริการที่ที่ให้ข้อเสนอคุ้มค่าที่สุดกันหมด
PART ถัดไปจะเป็นข้อมูลรีวิวโปรเจคเตอร์ LED (Bi-LED Projector) ยี่ห้อต่างๆ โดยผมจะเน้นรวบรวมคลิปวีดีโอรีวิวจากต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเพื่อนๆที่กำลังสนใจอยู่เหมือนกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจ
1. OSRAM ออสแรมเป็นบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟรถยนต์จากเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเจ้าแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างที่หลายคนคุ้นเคยกันดี รวมถึงเป็นผู้ผลิตชิพแอลอีดี (LED Chip) รายใหญ่เบอร์ต้นของโลก รถของผมเองหลอดไฟหน้าติดรถมาก็เป็นหลอดแบบฮาโลเจน ขั้ว H11 (ไฟต่ำ) และขั้ว HB3 (ไฟสูง) บังเอิญก็เป็นยี่ห้อ OSRAM ติดรถมา โดยคู่แข่งทางฝั่งยุโรปของออสแรมอย่าง Philips ณ ปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นทำสินค้า Bi-LED Projector ออกมาจำหน่าย แต่สำหรับ OSRAM น่าจะออกสินค้ามาได้ 1-2 ปีแล้ว โดยรุ่นที่ออกมา คือ OSRAM LEDriving CBI PRO อ้างอิงข้อมูลสินค้าจาก Link ด้านล่าง
ส่วนในประเทศไทยเอง ผมก็เห็นร้านรับติดตั้งโปรเจคเตอร์ LED หลายๆร้านนำมาโปรโมทเสนอขายแล้ว
https://www.osram.com/am/ << เว็บไซท์ทางการของ OSRAM
2. AOZOOM เป็นแบรนด์จากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแบรนด์นี้ก็ออกสินค้ามาหลายรุ่นเลยตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นที่เป็นโปรเจคเตอร์ LED แบบ Lossless ไปจนถึงแบบ Lossy ซึ่งมีสินค้าหลาย Segment ตามกำลังทรัพย์และลักษณะการใช้งานของลูกค้า ข้อมูลสินค้าแบรนด์ AOZOOM ตาม Link ด้านล่าง ซึ่ง AOZOOM มีตัวแทนจำหน่ายและบริการติดตั้งในไทยแล้วเช่นกัน
https://www.projector-headlight-manufacturer.com/about/company-profile/ AOZOOM : Wolf
AOZOOM : LEO
AOZOOM : Domax
3. AES เป็นอีกหนึ่งแบรนด์โปรเจคเตอร์ LED จากประเทศจีน ลองตามไปดูรีวิวสินค้า Bi-LED Projector จาก AES ตาม Link ด้านล่างได้เลย
4. GTR ชื่อแบรนด์โปรเจคเตอร์ LED ที่ชื่อคล้ายรุ่นรถสปอร์ตของ Nissan อีกหนึ่งแบรนด์จากประเทศจีน แสงไฟโปรเจคเตอร์จะแรงเหมือนชื่อแบรนด์หรือไม่ ลองดูในคลิปวีดีโอข้างล่างได้เลย
5. NHK อีกแบรนด์โปรเจคเตอร์ LED จากประเทศจีน
6. UPS และปิดท้ายด้วยอีก 1 แบรนด์ โปรเจคเตอร์ LED จากค่ายมังกรแดง UPS
สำหรับผมเองน่าจะไปอัพเกรดไฟหน้าไม่เกินช่วงต้นปี 65 หลังจากติดตั้งจริงแล้ว ถ้ามีเวลาว่างผมอาจจะมาทำบทความแชร์รีวิวผู้ใช้จริง โปรเจคเตอร์ LED (Bi LED Projector) อีกครั้ง หวังบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่กำลังสนใจอัพเกรดไฟหน้ารถยนต์ อย่างน้อยที่สุดอ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็มีข้อมูล Back up สำหรับคุยกับช่าง/ร้านไฟหน้าโปรเจคเตอร์ LED รู้เรื่องแน่นอนครับ