รีวิว : เกือบ 2 ทษวรรษที่แล้ว มีคุณลุงที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมฉายาที่ว่า"ตาเพชร"
Honda Accord = การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของคน สังคมและรถยนต์ คือปรัชญาในการสรรค์สร้าง แอคคอร์ด ของฮอนด้า รถซีดานขนาดกลางระดับหรู มาดูกันว่าเหตุใดโมเดลแรกของแอคคอร์ดจึงเป็นรถขนาดคอมแพคคาร์ และแอคคอร์ด มีพัฒนาการเป็นมาอย่างไรถึงได้กลายเป็นรถซีดานหนึ่งในดวงใจของคนใครหลายคนบนโลกใบนี้ได้
ปัจจุบันฮอนด้า ACCORD ออกสู่ตลาดโลกแล้วทั้งสิ้น 8 โฉม ดูได้ใน ประวัติ Honda accord ข้างล่างนี้ครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แอคคอร์ด รุ่นที่ 1 (1976-1981) จากเดิมฮอนด้าตั้งใจที่จะผลิตรถขนาดกลาง วางเครื่อง V6 เพื่อสู้กับ ฟอร์ด มัสแตง แต่ด้วยวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและข้อกำหนดด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ฮอนด้าตัดสินใจเปิดตัว แอคคอร์ด ด้วยแนวคิดรถที่มีมลพิษต่ำ ประหยัดน้ำมันสูง เพื่อตอบสนองตลาดที่กำลังมีปัญหาจากวิกฤตราคาน้ำมัน
แอคคอร์ด เผยโฉมครั้งแรกด้วยตัวถังแบบแฮทช์แบ็ก 3 ประตูวางเครื่องยนต์ B-SJ 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาพต์ คาร์บูเรเตอร์ 1,599 ซีซี ระบบเผาไหม้ลดมลพิษ CVCC 80 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบส่งกำลังเป็นแบบ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 2 จังหวะ ระบบกันสะเทือนแม็กเฟอร์สันสตรัททั้งหน้าและหลัง ดิสก์เบรกที่ล้อหน้า ดรัมเบรกที่ล้อหลัง
แอคคอร์ด โฉมซีดาน ก็ตามออกมาในปี 1977 และถัดมาในปี 1978 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศข้อกำหนดด้านมลพิษใหม่ ทำให้ฮอนด้า ตัดสินใจไมเนอร์เชนจ์ แอคคอร์ด พร้อมเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่มาใช้เครื่องรหัส EK 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาพต์ CVCC 85-90 แรงม้า
ในปี 1980 ฮอนด้า ไมเนอร์เชนจ์ แอคคอร์ด อีกครั้งพร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ EK ให้มาใช้ระบบเผาไหม้ CVCC-II แรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 95 แรงม้า
ฮอนด้า แอคคอร์ด โมเดลนี้ได้รับรางวัลมากมายอาทิ รถยอดเยี่ยมประจำปี 1976 จากนิตยสาร Motor Fan และ รางวัลรถยอดเยี่ยม(ระดับราคาต่ำกว่า 5,000 ดอลล่าร์) ประจำปี 1977 จากนิตยสาร Car & Driver เป็นต้นซึ่ง แอคคอร์ครุ่นนี้เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเพียงไม่กี่คันจากการนำเข้าของ เอเชียน ฮอนด้าในสมัยนั้น
แอคคอร์ด รุ่นที่ 2 (1981-1985) ฮอนด้า แอคคอร์ด โฉมนี้การออกแบบได้รับอิทธิพลมาจากรุ่นที่แล้วพอสมควร แต่ลู่ลมกว่าด้วยค่า Cd ที่ 0.37 เท่านั้น และอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอย่าง ครูสคอนโทรล กระจกหน้าต่างและกระจกมองข้างไฟฟ้า ระบบกันสะเทือนแบบ Auto Level Suspension รวมทั้งหลังคาซันรูฟ โดยออกมาทั้งแบบซีดานและแฮทช์แบ็ก พร้อมกับออกฝาแฝดในชื่อรุ่นว่า วิกอร์
เครื่องยนต์เป็นแบบ CVCC 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 12 วาล์ว Cross-flow คาร์บูเรเตอร์ รหัส EP 1,601 ซีซี 90-95 แรงม้า และรหัส EK 1,750 ซีซี 97 แรงม้า พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะหรือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ(Lockable Hondamatic) ระบบกันสะเทือน หน้า-หลังแบบ แม็กเฟอร์สันสตรัท ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัมทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นท๊อปที่จะเป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
ไมเนอร์เชนจ์ในปี 1983 ในเครื่องยนต์รหัส EP 1,601 ซีซี 94 แรงม้า และรหัส EK 1800 ซีซี 110 แรงม้า และต่อด้วยการเพิ่มรุ่นหัวฉีด PGM-FI ในปี 1984
สำหรับเมืองไทย ฮอนด้า แอคคอร์ด รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในปี 1984 โดยใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 12 วาล์ว คาร์บูเรเตอร์เดี่ยว 1,829 ซีซี 100 แรงม้า มีให้เลือกทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม
แอคคอร์ด รุ่นที่3 (1985-1989) รูปโฉมภายนอกของ แอคคอร์ด รุ่นที่ 3 นี้ ออกแบบโดยยืมเค้าโครงมาจากรุ่น พรีลูด ซึ่งที่ญี่ปุ่นและอเมริกาจะใช้ไฟหน้าแบบป๊อป-อัพ ส่วนในยุโรป เอเชีย และเมืองไทยนั้น ไฟหน้าจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมเฉียง โดยมีทั้งรุ่นซีดานและแฮทช์แบ็กเช่นเดิม แต่รุ่นแฮทช์แบ็กนั้นได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น แอคคอร์ด แอโรเด็ค(AERODECK) ส่วนในชื่อ วิเกอร์ มีเพียงโฉม ซีดาน ทำตลาดเท่านั้น
เครื่องยนต์มีให้เลือก 3 รุ่นคือ รหัสA18A 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 12 วาล์ว 1,829 ซีซี 110 แรงม้า, รหัสB18A 4 สูบ ดัลเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 16 วาล์ว 1,834 ซีซี คาร์บูเรเตอร์คู่ 130 แรงม้า และรหัส B20A 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1,958 ซีซี 160 แรงม้า
รุ่นนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบกันสะเทือนแบบปีกนก 2 ชั้นพร้อมเหล็กกันโครง ทั้งหน้าและหลัง ระบบเบรก เป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ยกเว้นรุ่นท๊อป 2.0เอสไอ ที่เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก A.L.B.(หรือเอบีเอสในปัจจุบัน)
ปรับโฉมครั้งแรกในปี 1986 โดยเพิ่มรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะในทุกตัวถัง และถัดมาในปี 1988 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นที่ผู้ผลิตนำเข้ารถของตนเองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยฮอนด้า แอคคอร์ด คูเป้ ที่ผลิตจากโรงงาน HAM (Honda of America Manufacturing) ในมลรัฐโอไฮโอ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ A20A 4 สูบ 1,955 ซีซี PGM-FI 120 แรงม้า
สำหรับในเมืองไทย เปิดตัวครั้งแรกในปี 1986 ด้วยเครื่องยนต์ 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 12 วาล์ว 1,955 ซีซี 105 แรงม้า โดยมีให้เลือกทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
แอคคอร์ด รุ่นที่ 4 (1989-1993) นับเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งของทั้งฮอนด้าและรถในสายพันธุ์แอคคอร์ด เพราะฮอนด้าได้ตัดสินใจเปิดตัวแอคคอร์ดใหม่พร้อมกับพี่น้องร่วมสายพันธุ์ ที่ใช้รายละเอียดทางวิศวกรรมร่วมกันอีก 3 รุ่นคือ แอสคอต , อินสไปร์ และวิเกอร์
ซึ่งมาเครื่องยนต์รหัส F18A PGM-CARB 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 16 วาล์ว 1,849 ซีซี 105 แรงม้า, รหัส F20A PGM-CARB ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 1,997 ซีซี 110 แรงม้า, รหัส F20A หัวฉีด PGM-FI 1,997 ซีซี 130 แรงม้า (สเปกเดียวกับที่จำหน่ายในเมืองไทย) และ รหัส F20A ทวินแคม 150 แรงม้า มีให้เลือกทั้งแบบเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ระบบกันสะเทือนทุกรุ่นเป็นแบบปีกนกคู่ทั้งหน้า-หลัง
แอคคอร์ดโฉมนี้มีทั้งรุ่นคูเป้ ซีดานและแวกอน สำหรับรุ่นที่จำหน่ายในอเมริการจะแบ่งเป็นรุ่นย่อย อย่าง DX, LX และ EX ซึ่งจะแตกต่างกันในรายละเอียดอุปกรณ์ที่มีให้อาทิเช่น ในรุ่น LX จะมีกระจกไฟฟ้า, เซ็นทรัลล็อก ส่วนในรุ่น EX จะมีซันรูฟ เป็นต้น
ปรับโฉมครั้งแรกในปี 1991 ในตัว แอคคอร์ต ซีดานและแอสคอต พร้อมเพิ่มรุ่น 2.0 Si-T ที่ตกแต่งด้วยชุดแอโรพาร์ตแบบทัวร์ริ่ง เปลี่ยนกระจังหน้าและชุดไฟหน้าใหม่ เพิ่มถุงลมนิรภัย เอบีเอส เฟืองท้าย LSD และระบบแทรคชั่นคอนโทรล TCS
สำหรับเมืองไทย เปิดตัวในปี 1990 (ถูกเรียกกันง่ายๆ ว่ารุ่นตาเพชร) วางเครื่องยนต์ F20A 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 16 วาล์ว 1,997 ซีซี 112 แรงม้า ในรุ่นคาร์บูเรเตอร์ และ 135 แรงม้าในรุ่น หัวฉีด PGM-FI มีให้เลือกในรหัสรุ่นย่อย LX เกียร์ธรรมดาและ EX เกียร์ออโต้ ปรับโฉมครั้งเดียวในปี 1992 ไฟหน้าลาดต่ำลง และคิ้วกันกระแทกเล็กลง ทำตลาดจนถึงปี 1994 จัดว่าเป็นรุ่นที่ขายดีและแจ้งเกิดเป็นครั้งแรกให้กับฮอนด้าในเมืองไทย ซึ่งจะยังคงเห็นวิ่งอยู่ตามท้องถนนเป็นจำนวนไม่น้อย
แอคคอร์ด รุ่นที่ 5 (1993-1997) ถือว่าเป็นรุ่นที่ปฏิวัติโฉมหน้าของแอคคอร์ดใหม่หมดจากรูปร่างของตัวถังได้รับการเปลี่ยนขนาดจาก คอมแพคคาร์ เป็น ซีดานขนาดกลาง (Mid-Size) โดยยืมบางส่วนในการออกแบบมาจากฮอนด้าพรีลูด (เหมือนที่เคยทำในรุ่นปี 1986)
เปิดตัวพร้อมกันทั่วโลก (ญี่ปุ่น อเมริการ ยุโรป) ในญี่ปุ่นทำตลาดด้วยรุ่น ซีดาน ทวีปอเมริการเหนือ ทำตลาดครบทั้งซีดาน คูเป้ และแวกอน ส่วนยุโรปนำ แอสคอต อินโนวา 5 ประตู ทำตลาดในชือ U.K. Accord แทนรุ่น ซีดาน หลังจากนั้นจึงส่งรุ่น คูเป้ และแวกอน เข้าไปทำตลาดในภายหลัง
ได้รับการวางเครื่องยนต์รหัส F18B ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 4 สูบ 16 วาล์ว 1,849 ซีซี 125 แรงม้า, รหัส F20B ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 1,997 ซีซี 135 แรงม้า, รหัส F22B ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 2,156 ซีซี 145 แรงม้า และแรงสุดในรหัส H22A ทวินแคม VTEC 2,156 ซีซี 190 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหน้า เกียร์อัตโนมัติ ระบบกันสะเทือนปีกนกคู่ ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม (เฉพาะรุ่น SiR เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ)
ส่วนแอคคอร์ด อินสไปร์ และวิเกอร์ ที่ยังคงพัฒนาบนพื้นฐานเดียวกัน แต่เพื่อการทำตลาดที่ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนจึงทำให้ฮอนด้าตัดสินใจ เปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่เป็น อินสไปร์, เซเบอร์ , อคูรา TL และใช้ชื่อ วิเกอร์ ในบางประเทศอย่าง ตะวันออกกลาง และประเทศไทย (ฮอนด้าเคยนำเข้ามาขายในช่วงปี 1996-1997)
ปี1995 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ เปลี่ยนกระโปรงท้าย ชุดกันชน และชุดไฟท้าย พร้อมปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ พ่วงด้วยการบรรจุเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 1,994 ซีซี 105 แรงม้า เป็นครั้งแรกในแอคคอร์ดเวอร์ชั่นยุโรป
ในเมืองไทยเปิดตัวตามหลังญี่ปุ่น ในช่วงต้นปี 1994 เรียกกันง่ายๆ ว่ารุ่นไฟท้ายก้อนเดียว มีทั้งรุ่นประกอบในประเทศและนำเข้าทั้งคันในรุ่น 2.2 VTi-S เครื่องยนต์ F22B ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 2,156 ซีซี 145 แรงม้า เบาะหนังแท้พร้อมซันรูฟ ส่วนรุ่นประกอบในประเทศใช้เครื่องบล็อกเดียวกัน แต่มีแรงม้าแค่ 140 ตัว ไมเนอร์เชนจ์ในปี 1996 โดยเรียกกันว่ารุ่น ไฟท้าย 2 ก้อน และขายถึงแค่ปี 1997
แอคคอร์ด รุ่นที่ 6 (1997-2002) ฮอนด้า แอคคอร์ด โมเดลนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงการทำตลาดครั้งสำคัญของฮอนด้า ด้วยการที่มีถึง 3 โมเดล ได้แก่ โมเดลที่หนึ่งขายในญี่ปุ่น ( JDM-Japan Domestic Market) โมเดลที่สองขายในยุโรป และโมเดลที่สามขายในเขตอเมริกาเหนือ (USDM)
สำหรับโมเดลที่ขายในญี่ปุ่นนั้นนอกจากชื่อแอคคอร์ดแล้ว ยังใช้ชื่อ ทอร์นีโอ ในการทำตลาดแทนที่แอสคอตที่ถูกปลดออกจากสายการผลิต วางเครื่องยนต์รหัส F18B 4 สูบ VTEC ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 1,849 ซีซี 140 แรงม้า, F20B 4 สูบVTEC ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 1,997 ซีซี148 แรงม้า มีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือก และรหัส F20B(ในรุ่น SiR) 4 สูบ VTEC ทวินแคม 16 วาล์ว 1,997 ซีซี 180 แรงม้า พร้อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะแบบ S-Matic สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้แบบเกียร์ธรรมดา
ส่วนยุโรปโมเดลนั้น มีทั้งแบบซีดานและแฮทช์แบ็ก 5 ประตู วางเครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 1,590 ซีซี 116 แรงม้า ในรุ่นมาตรฐาน หรือเลือกที่จะแรงได้ในรุ่น TYPE-R 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว VTEC 2,157 ซีซี 212 แรงม้า และเลือกที่จะประหยัดได้ในรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล ที่ยกชุดมาจากรุ่นเดิม
ในส่วนของโมเดลอเมริกา มาในโฉมซีดานและคูเป้ ซึ่งโดยปรกติตัวคูเป้จะใช้พื้นฐานมาจากรุ่นซีดาน แต่คูเป้โฉมนี้อาศัยพื้นฐานการออกแบบมาจากรถซุปเปอร์คาร์หนึ่งเดียวของญี่ปุ่น ฮอนด้า เอ็นเอสเอ็กซ์ (หรือรู้จักกันในชื่อของ Acura NSX ที่อเมริกา)
ซึ่งโมเดลอเมริกานี้ก็เป็นโฉมเดียวกับรุ่นที่มาทำตลาดในเมืองไทย โดยเปิดตัวในช่วงปลายปี 1997 ตามหลังตลาดหลักเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เพิ่มรุ่นVTEC LEV ในปี 1999 ก่อนที่จะ ไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนฝากระโปรงหน้า กระจังหน้า กันชนหน้า และไฟท้ายในปี 2001
โดยมีเครื่องยนต์ ให้เลือกใช้ถึง 3 ขนาด คือรุ่น 2.3 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 2,254 ซีซี 140 แรงม้า, รุ่น VTEC LEVเครื่องบล็อกเดียวกันแต่เพิ่มระบบวีเทคเข้าไปให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า และรุ่น 3.0 ลิตร วี6 24 วาล์ว ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 2,997 ซีซี 200 แรงม้า ทุกรุ่นเป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นอิสระปีกนก 2 ชั้น หลังเป็นปีกนก 2 ชั้นแบบ 5 จุดยึด ทำตลาดอยู่ถึงต้นปี 2003
แอคคอร์ด รุ่นที่7 (2002-2008) เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2002 ด้วยรูปโฉมที่ล้ำสมัย ฉีกไปจากแนวเดิมๆ ของแอคคอร์ดอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับการยกระดับเป็นซีดานขนาดกลางที่มีความหรูหราอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่ง และหลังเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือนยังได้รับการประกาศให้รถยอดเยี่ยมประจำปี 2002-2003 ของญี่ปุ่นอีกด้วย(Japan Car of The Year Award 2002-2003)
สำหรับเมืองไทย เปิดตัวเมื่อต้นปี 2003 ด้วยเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 2,354 ซีซี 160 แรงม้า และเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร V6 VTEC 6 สูบ 24 วาล์ว ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาพต์ 2,997 ซีซี 220 แรงม้า
เพิ่มรุ่น 2.0 ลิตร ในปี 2005 เพื่อกระตุ้นตลาดตอบโต้กระแสราคาน้ำมันแพง ด้วยเครี่องยนต์ขนาด 1,998 ซีซี i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ ที่ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ประหยัดน้ำมันมากขึ้นแต่ยังคงความหรูหราไว้เช่นเดิม
ไมเนอร์เชนจ์ ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2006 เปลี่ยนไฟหน้าและไฟท้ายใหม่ พร้อมปรับปรุงเครื่องยนต์ในรุ่น 2.4 ลิตร ให้มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 170 แรงม้า
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีมาให้อย่างครบครัน ระบบเบรกหน้า ดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน หลังดิสก์เบรก ระบบกันสะเทือน หน้าแบบดับเบิ้ลวิชโบน อิสระ พร้อมเหล็กกันโครง หลังแบบไฟว์-ลิงค์ ดับเบิ้ลวิชโบน อิสระ พร้อมเหล็กกันโครง
ฮอนด้า แอคคอร์ด รุ่นที่ 8 โฉมนี้ เป็นโฉมล่าสุด (โฉมปัจจุบัน) เพิ่งผลิตออกมาได้รุ่นปีเดียว คือรุ่นปี ค.ศ. 2008 โฉมนี้มี 2 รูปแบบตัวถัง คือ coupe 2 ประตู กับ sedan 4 ประตู และมีระบบเกียร์ 3 ระบบ เหมือนโฉมที่ 7 และมี 3 ขนาดลูกสูบคือ 2.0 , 2.4 , 3.5 ลิตร
โฉมนี้ ถ้าเป็นตัวถังแบบ sedan (4ประตู) จะจัดเป็นรถขนาดใหญ่ (full-size car) แต่ถ้าเป็นตัวถังแบบ coupe (2ประตู) จะจัดเป็นรถขนาดกลาง (mid-size car)
และโฉมที่ 8 นี้ สามารถรองรับน้ำมันพลังงานทดแทนพิเศษ แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนใหม่ของประเทศไทยที่สามารถช่วยลดมลพิษได้
ฮอนด้า แอคคอร์ด โฉมที่ 8 นี้ ได้รับรางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี (Thailand Car of the Year 2009) ในประเภทรถยนต์ขนาดกลาง ในรุ่นไม่เกิน 2,500 ซีซี (Best Mid-size Sedan under 2,500 cc.)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------