สวัสดีครับเพื่อนพี่ๆสมาชิกทุกท่านครับ อยากจะขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ รีวิวรถตัวเองไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ตัวเองสักหน่อย
ก่อนที่จะปล่อยลูกรัก ทั้งที่รักมาก ดูแลดีกว่าเมีย ก็ว่าได้ 555 แต่ด้วยบริบทของชีวิตที่เปลี่ยนไป ความจำเป็นบางอย่างในชีวิตจึงเปลี่ยนตามครับ
พร่ำเพ้อพอประมาณ เข้าเรื่องกันเลยครับ
(อนึ่ง. หัวข้อ ข้อมูลรถ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งอินเตอร์เน็ต คำบอกเล่าจากคนที่มีส่วนในการทำรถ เป็นต้น ถือว่าเป็นการรวบรวม
มาเล่าสู่กันฟังนะครับ และไม่แนะนำให้ใช้ในการอ้างอิงใดๆครับ หากท่านใดทราบข้อมูลที่ชัดเจนกว่า สามารถแย้ง/เสริมได้เลยครับ)
ข้อมูลรถ วีออสเทอร์โบ ผลิตจากโรงงาน ทั้งหมด600คัน (ปัจจุบันอาจจะไม่ถึงแล้วด้วย) ณ เวลานั้นราคาเปิดตัวประมาณ 859,000 บาท (ก่อนจะค่อยๆลดราคาลงมาเพื่อเคลียร์รถ) แน่นอนว่าออกราคาแบบนี้ ผู้คนก็สรรเสริญดราม่ากันไป แต่ที่อ่านๆมา ราคานี้ก็ไม่ได้ก่อกำไรให้โตโยต้าสักเท่าไรเลย ส่วนตัวคิดว่าอาจจะจริง เพราะอะไหล่แท้ที่ต้องนำเข้าในปริมาณน้อยแบบนี้ ต้นทุนแพงแน่นอน ยังไม่นับต้นทุนการประกอบมือแบบคันต่อคัน (ถอดของเก่าออก ใส่ของใหม่+ของเพิ่มเข้าไป) รถรุ่นนี้ มีพื้นฐานมาจากรถSoluna vios รุ่น E (ตัวรองท็อป) ที่ผลิตในไลน์ประกอบของโรงงานตามปกติ ก่อนที่จะเอาไปเปลี่ยน/ติดตั้งอุปกรณ์และของแต่งเพิ่มนอกโรงงาน ซึ่งปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นคือ Toyota TBS บางนา* (*ข้อมูลมาจากพี่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ พี่เจ้าหน้าที่เล่าต่อว่า วันหนึ่งๆ ทำได้ไม่กี่คัน (หลักหน่วย) เพราะแฮนด์เมดทั้งหมด ทำไปก็ต้องระวังรถเป็นรอยไป สุดท้ายไม่รู้ว่าทำครบ600คันหรือเปล่าด้วย)
ตามโบรชัวร์แล้ว รถรุ่นนี้ขายอยู่ 3สี คือ ดำ/บรอนซ์เงิน และสีแดง (ส่วนตัวไม่เคยเห็นสีแดงเลย)
อุปกรณ์ที่เปลี่ยน/ติดเพิ่ม ที่ทำให้แตกต่างจากรุ่นปกติ - เทอร์โบ+อินเตอร์คูลเลอร์ : เทอร์โบเซ็ตนำเข้าจากญี่ปุ่น TRDแท้ ราคาประมาณแสนแปดหมื่น* (*ข้อมูลอินเตอร์เน็ต) บูสท์ 0.5บาร์ มีเวสเกต์ในตัวแล้ว
เทอร์โบเป็น IHI แบบบอลแบริ่งระบายความร้อนด้วยน้ำ
- เกียร์ 5สปีด : Close ratio ลูกเดียวกับ MRS อัตราทด* (*ข้อมูลอินเตอร์เน็ต) และความเร็วสูงสุดแต่ละเกียร์(ตามคู่มือรถฉบับเพิ่มเติม)ดังนี้ครับ
เกียร์ 1 3.166 50km/hr
เกียร์ 2 1.904 84km/hr
เกียร์ 3 1.392 115km/hr
เกียร์ 4 1.031 155km/hr
เกียร์ 5 0.815 196 km/hr
เฟืองท้าย 4.321
- กล่อง ECU ใหม่ เข้าใจว่าเพื่อรองรับเทอร์โบ เช่นความหนาน้ำมัน ครับ (ผู้รู้ช่วยเสริมด้วยนะครับ)
- ชุดแร็คพวงมาลัยใหม่ : น้ำหนักพวงมาลัยถือว่าหนักกว่ารุ่นปกติ แต่ที่ความเร็วสูงเสถียรดี ไม่เครียด (ไว้ไปเครียดตอนสาวพวงมาลัยเข้าซองครับ 555)
- หัวเทียน : เป็นหัวเทียน Iridium ครับ เปลี่ยนทีนี่ปาดเหงื่อ (ศูนย์เคยเปลี่ยนแบบธรรมดาให้ ก็ไม่ค่อยรู้สึกต่างนะ 555)
- ชุดคลัทช์ : คลัทช์โคเวอร์ใหม่ครับ(ผู้รู้ช่วยเสริมด้วยนะครับ)
- จานเบรก ดิสเบรก 4ล้อ เป็นดิสของอัลติส ซึ่งใหญ่กว่าวีออสปกติ* (*ข้อมูลมาจากพี่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์TBS)
- โช๊ค สปริง : เตี้ยกว่ารุ่นปกติ 30มม. แข็ง หนึบ ราคาถูกมาก ชาววีออสนิยมซื้อไปใช้กันมาก
- ล้อแมกซ์(205/45R16) : 20ก้าน นับถูกนับผิดตาลายครับ ขนาด 16 นิ้ว กว้าง7นิ้ว ออฟเซ็ต44 ของเอ็นไก่(Enkei)
สวยงามและทนถึก ไม่แตกแม่หักเหมือนล้อก๊อปแน่นอน สำหรับล้อลายนี้ มีYaris TRD ใช้เหมือนกัน แต่อันนั้นกว้าง6.5ครับ
(รถทั้งคัน ผมว่าแมกซ์นี่พีคสุดแล้วครับ สวยโดนมาก)
- หม้อน้ำ : หม้อน้ำรุ่นปกติถูกถอดออก แทนที่ด้วยใบที่ใหญ่กว่าครับ ประเมินเทียบกันด้วยสายตา ใหญ่ขึ้นประมาณ30เปอร์เซนต์เลยนะครับ
- เบาะ : เบาะหนัง+Alcantaraทั้งหน้าและหลัง สวย กระชับครับ บริเวณไหล่มีการเย็บรุ่นรถไว้ด้วย
นอกจากนี้ก็มีรายการและรายละเอียดยิบย่อยครับ อย่างเช่น ของแต่งรอบคัน (ยกมาจากรุ่นท็อป)
กระโปรงหน้าที่ต้องเจาะ ติดbulge(สกูป/จมูก แล้วแต่จะเรียก)
ทาวเวอร์บาร์(ค้ำโช๊ค)
แผ่นกันความร้อนใต้กระโปรงรถต้องเจาะรูใหม่ (จริงๆแล้วเอาไว้กันซับเสียงครับ กันร้อนมันแค่ผลพลอยได้) แป้นคันเร่ง เบรก คลัทช์แบบอลูมิเนียม
และที่ขาดไม่ได้ emblem แบบนิ่มๆ คำว่า Turbo แดงๆ แปะไว้ท้ายรถ
อ่อมีรายละเอียดเล็กน้อยอีกนิดครับ เนื่องจากความเร็วสูงสุดนั้นสูงกว่าวีออสรุ่นปกติเล็กน้อย(170ที่รุ่นปกติเป็น200km/hrเมื่อมีเทอร์โบ)
จึงต้องมีการเพิ่มยางซับเสียงลมเข้าในหลายๆจุดอย่างเช่น ใต้ประตูทั้งสี่บาน ใต้กระจกหน้ารถด้านในเป็นต้น
เสป็ครถตามโบรชัวร์มิติ กว้างxยาวxสูง 4,285x1,695x1,405 mm.
ระยะฐานล้อ 2,500 mm.
รัศมีวงเลี้ยว 5.4 เมตร
น้ำหนักรถ ประมาณ 1,000 กิโลกรัม
เครื่องยนต์ 1NZ-FE VVT-i 4สูบ DOHC Intercooler
น้ำมัน เบนซิน 95
แรงม้าสูงสุด 143 แรงม้า ที่ 6,400 รอบ
แรงบิดสูงสุด 20 กก-ม ที่ 4,400 รอบ
อัตราเร่ง 0-100 กม/ชม 8.1 วินาที**
อัตราเร่ง 0-400 เมตร 15.9 วินาที**
(**อัตราเร่งด้านบน อ้างอิงจากข้อมูลในโบรชัวร์เท่านั้นนะครับ ผมไม่เคยทดสอบ ไม่เคยวิ่งจับเวลาเอง โปรดใช้วิจารณญาณของท่านเองนะครับ)
ช่วงอวดรถ จับพลัดจับผลูได้มือ2มาครับ เดิมรถคันนี้เป็นสีดำแต่ส่วนตัวชอบสีน้ำเงิน02Cของซูบารุมาก เลยจัดการเปลี่ยนเลย
ตัวรถที่ได้มานั้นเดิมๆมาก ท่อเดิม เครื่องเสียงเดิม ล้อเดิม เครื่องเดิมๆ ไม่ติดแก็ส ฟิตมาก
เดิมจนอยากจะเอายัดใส่กระสอบแล้วมัดเก็บไว้ ไม่อยากไปทำอะไรมัน แต่อยู่ๆไป มันก็คันๆครับ เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย
- เปลี่ยนสีรอบคันครับ
เรื่องสีรถนี่ นานาจิตตังนะครับ บางคนก็บอกว่า ทำแล้วมันก็ไม่รู้สึกว่าเป็นวีออสเทอร์โบ
ต้องดำเท่านั้น, ป้าตรงข้ามบ้านบอกว่า ทำทำไม สีนี้มันไม่แมนเลยลูก 5555
คนชอบก็มีนะครับ พี่ที่ศูนย์โตโยต้า ชมใหญ่เลย อยากเอารถแกเองไปทำบ้าง
ส่วนแฟนกะแม่ผมเค้าบอกว่าสวยดี ทุกอย่างก็เลยลงตัว
- เปลี่ยนวิทยุติดรถเป็นจอ7นิ้ว ของPioneer + กล้องหลังของPioneerเหมือนกัน
จริงๆก็ตั้งใจเปลี่ยนแค่วิทยุ ใส่จอเข้าไปเพื่อเอ็นเตอเทนแฟน
แต่ไหนๆก็ไหนๆ เลยติดกล้องไปด้วยเลย
กล้องหลังแอบๆ เนียนๆ อยู่ตรงกลางเหนือป้ายทะเบียน
- สุดท้ายติดเกจDefi 4ตัวหิ้วมาเองจากญี่ปุ่น วัดรอบ วัดบูส วัดอุณหภูมิน้ำ วัดความดันน้ำมันเครื่อง + Control unit
วัดรอบ ติดไปเผื่อเจอทางตรงโล่งๆ ได้ลองสับเกียร์เล่นสนุกๆ เป็นครั้งคราว
วัดบูส อารมณ์ล้วนๆครับ อยากให้มีไรกระติดบ่อยๆ แก้เบื่อเฉยๆ
วันอุณหภูมิน้ำ อันมีประโยชน์ที่สุดในบรรดา4อันนี้ครับ เพราะเดิม รถมีแต่ไฟ ไม่มีเข็มวัด
วัดความดันน้ำมันเครื่อง อันนี้ตอนซื้อ คิดเอาเองว่า ความดัน แปรผันกับอุณภูมิ แล้วอุณภูมิ ก็ส่งผลตอความหนืดของน้ำมัน
เลยคิดว่า ติดไว้ จะได้รู้ว่า น้ำมันเครื่องเป็นยังไงมั่ง สะบายดีมั้ย..... แต่ พอเอาเข้าจริง ไม่ได้ดูเลย ครับ 5555
สรุป ตัวที่มีประโยชน์จริงๆ ก็วัดน้ำครับ นอกนั้นก็ไม่ค่อยได้ใช้อะไร (-"-)
ส่วนตำแหน่งที่ติด พยายามติดเพื่อไม่ใช้มันบบดบังการมองเห็น
แต่ให้วัดรอบตัวใหญ่อยู่ตรงกลาง เพื่อเวลาสังเกตุ จะได้ง่าย
ยิ่งตอนเวลาสับเกียร์ เพราะรถรุ่นนี้ดันเอาหน้าปัดไปไว้ตรงกลาง
ทำให้ต้องเสียเวลาหันไปเหลือบมอง พอติดเสร็จ มันเลยออกมาเป็นอย่างที่เห็นครับ
คือ ไม่มีความเป็นระเบียบเลย 555
หมดแล้วครับ นอกนั้นยังคงเหมือนเดิมหมดเลย
มาดูของเดิมจากโรงงานที่ให้มาเพิ่มเติมจากตัวปกติกันครับ
ภายนอกตามที่อธิบายไว้ด้านบนครับ ที่เด่นสุดก็น่าจะเป็นhood bulge (จมูก/สกูปดักลม แล้วแต่จะเรียกครับ)
สเกริตรอบคัน ด้านหลังเป็นแบบสองชิ้นซ้ายขวา
มีสปอยเลอร์บนฝาท้ายให้ แมกซ์หลายก้าน เพื่อการสะกดจิต ตาลายดี แตถ้ามองเฉียงๆจะสวยมาก
พร้อมกับTurboตัวแดงๆ เล็กๆ พองาม ที่ท้ายรถด้านซ้าย
จริงๆจะมีตัวครอบปลายท่อไอเสีย แต่ผมถอดออกไปแล้วครับ มันไม่แน่น
ภายในการตกแต่งด้านในก็ตามสูตรครับ เคฟล่า ตามแผงวิทยุ และแผงประตูทั้งสี่บาน
รุ่นนี้ไม่มีพับกระจกข้างไฟฟ้านะครับ ปรับได้เฉพาะองศากระจก
กระจกขึ้นลงอัตโนมัติเฉพาะฝั่งคนขับ
ตรงกลางมีนาฬิกาสหกรณ์สีเขียวแบบtraditional 555
แผงแอร์เป็นมือหมุนสามวง ก็ใช้ง่ายดีครับ
ใต้แผงแอร์ก็มีที่ช่องต่อไฟในรถมาให้ ข้างๆกันก็มีที่เก็บเหรียญอยู่
ต่ำลงมาก็เป็นช่วงเก็บของ ลึกดี ใส่ของได้เยอะ พร้อมที่ววางแก้วน้ำ2ช่อง
แป้นเหยียบทั้งสามเป็นอลูมิเนียม มีปุ่มดำๆกันลื่นได้ดี
หัวเกียร์ก็ต่างไปจากรุ่นปกติครับ
เบาะหนังอัลคันทาราทั้งหน้าและหลัง ด้านหน้านั้นนั่งแล้วกระชับดีมากครับ
ด้านหลังเบาะ มีช่องใส่ของทั้งฝั่งคนนั่งและคนขับ
ท้ายรถสามารถจุของได้ตามสมควรของขนาดรถครับ
สมัยนั้นยังไม่มีที่ปะยางฉุกเฉินครับ ก็ได้ยางอะไหล่หน้าแคบมา พร้อมอุปกรณ์จำเป็นประจำรถ
หลักๆก็ประมาณนี้ครับ นอกนั้นก็ตามสเป็คที่เล่าไปด้านบน ส่วนอื่นก็เหมือนๆกับรถรุ่นปกติทุกอย่าง
การใช้งาน/การขับขี่/อัตราสิ้นเปลือง
ผมขอพูดรวมๆ เลยนะครับ คงไม่ลงรายละเอียดมาก เพราะไม่ค่อยมีความรู้ สักแต่ขับ 555
การใช้งานโดยรวม ขับใช้งานปกติ ไม่เคยลงสนามอะไรครับ
การขับขี่/บังคับ คันเร่งและพวงมาลัยยังคงเป็นแบบดั่งเดิมที่หลายท่านชอบกัน คือ พวงมาลัยไฮโดรลิกส์ และคันเร่งสาย การบังคับทั้งพวงมาลัย และคันเร่ง มันได้ดั่งใจ
โดยเฉพาะคันเร่ง ตามเท้ามาก
ช่วงล่าง สำหรับผมก็ตึงตังบ้าง แต่ก็หนึบและมันใจดี บวกกับยางซีรี่45 ก็หนึบเวลาเจอโค้งครับ (แต่อย่าเทียบช่วงล่างของรถใหม่ๆสมัยนี้นะครับ เวลามันต่างกันนานแล้ว)
พวงมาลัยหนักแน่น มันใจในช่วงความเร็วสูงครับ แต่เข้าซองทีก็สาวกันเมื่อยเหมือนกัน
กำลังเครื่องยนต์ การใช้งานปกติ ก็เหยียบเป็นมา พลังเหลือๆ หากขับอยู่ที่เกียร์5 ความเร็ว100 จะมีความมั่นใจว่าสามารถแซงคันหน้าได้โดยใช้เวลาไม่มากนัก(กรณีถนนสองเลนส์) โดยไม่ต้องตบเกียร์ครับ
หรือถ้าเอาชัวร์ ก็ตบลงเกียร์4 ก็เหลือๆแล้วครับ
บูสมาจะมาที่รอบเครื่องประมาณ1500รอบ บูสมาเมื่อไร หน้าที่ของเราคือสับเกียร์ให้ทันครับ เพราะแต่ละเกียร์ชิดกันมาก แรงมาเรื่อยๆ จะเหี่ยวๆลงช่วงประมาณ160-170ขึ้นไปครับ
แต่มันก็ต่อไปได้เรื่อยๆ ก่อนที่จะเหยียบไม่ขึ้นเพราะกล่องตัดที่ความเร็วประมาณ200 ตามหน้าปัด ที่สุดแค่นั้น อันที่จริงแล้วคิดว่าถ้ามีซักหกเกียร์จะดีกว่านี้มากครับ
อัตราการกินน้ำมัน ตามสเปกรถ ใช้น้ำมันอ๊อกเทน 95 เท่านั้นครับ ปกติจะเติมเบนซิล95 ตลอด ลักษณะการใช้งาน ทางด่วนชานเมืองกรุงเทพ ออกเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ไม่ค่อยเอาเข้าเมือง ครับ เพราะเมื่อยเหยียบคลัชท์
วิ่งชานเมือง รถไม่ติด ประมาณ 14-14.5 กม./ลิตร โดยเฉลี่ย
วิ่งยาวต่างจังหวัด ความเร็วประมาณ 100-120 กม./ชม. มีเร่งแซงบ้าง ประมาณ 16-16.5 กม./ลิตร โดยเฉลี่ย
เคยเจอติดบ้าง แต่ก็ไม่เคยต่ำกว่า 13 กม./ลิตรครับ
การบำรุงรักษาอันดับแรกคงพูดถึงคู่มือครับ คู่มือประจำรถที่ให้มา จะมีสองฉบับ
ฉบับแรกเป็นฉบับทั่วไป เหมือนกับที่รุ่นปกติมีทุกประการ
ส่วนฉบับที่สอง เป็นส่วนเพิ่ม เนื้อหาเฉพาะของ วีออสเทอร์โบตัวนี้
คิดไม่ออก บอกไม่ถูก ก่อนถามใคร ก็เปิดคู่มือดูก่อนได้ระดับหนึ่งครับ
เนื่องจากรถคันนี้ตั้งใจอยากจะใช้ยาวๆ บวกกับมีส่วนลดค่าแรงค่าอะไล่ ก็เลยเช็คระยะที่ศูนย์บริการตลอด มีปัญหาอะไรก็เข้าเข้าศูนย์ อะไหล่ก็แท้หมดเลย
อันนี้ถ้าไม่มีส่วนลด ก็คงจ่ายไม่ไหวเหมือนกันครับ แต่พอลดแล้ว ราคามันพอกันกับการที่ไปอู่ข้างนอกเลย
ผลก็คือ รถไม่เคยงอแงเลย ใช้อย่างเดียว ครบระยะก็เข้าศูนย์ แทบไม่มีปัญหาให้ปวดหัวเลย(*1) (ลืมบอกไป อย่างเดียวที่ไม่ใช้ของศูนย์ คือ น้ำมันเครื่องครับ
เคยใช้ของโตโยต้า หลังผ่าน5000กิโลแล้วรู้สึกไม่ลื่นแล้ว เลยใช้แต่โมบิลวันตลอด ดีกว่าเยอะครับ)
(*1) ไม่ใช่ไม่มีปัญหาเลยนะครับ แต่ปัญหาน้อย ปัญหาส่วนใหญ่ เป็นปัญหาการเสื่อมของอะไหล่ ตามอายุการใช้งาน
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทำเสียวสุดคือ ช่วงหน้าร้อนปี58 ขับไปเที่ยวกาญจนบุรี อากาศร้อนมาก ปรากฏว่า เกิดอุณหภูมิน้ำที่ติดเพิ่มร้อง
พอรถเย็นก็ปรากฏว่าหม้อน้ำเกือบแห้ง รอบนั้นก็คิดว่า ถ้าไม่ติดเพิ่มเอง รอให้ไฟแดงเตือน ก็คงแย่ อันที่จริง มาตรวัดตัวนี้ อยากจะให้ติดมาด้วย
ไม่ใช่มาแต่ไฟแบบนี้ครับ .... หลังจากนั้นเอารถเข้าเช็ค ปรากฏว่าวาล์วปริงของหม้อหน้ำมันเสียครับ น้ำหล่อเย็นเลยล้น ไหลออกนอกระบบหมด
จัดการเปลี่ยนของใหม่ไปก็จบเรื่อง
วาล์วหม้อน้ำ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ตอนนี้ วิ่งไปสองแสนแล้วครับ เครื่องก็ยังฟิตอยู่ อาจจะด้วยการใช้งานที่ไม่ได้ใช้โหด เพราะวิ่งนอกเมือง ไม่คอยเจอรถติดด้วย
ตัวเครื่องก็เลยยังดีอยู่ ส่วนช่วงล่าง เมื่อตอนประมาณแสนเจ็ด ไปโอเวอร์ฮอลพวกลูกหมาก ช่วงล่างมาใหม่หมด
ก็เฟริมขึ้นอีกเยอะ แต่บิลออกมาก็ปาดเหงื่อเหมือนกัน 555
ของสะสม นอกจากโบรชัวร์รถคันนี้แล้วก็เป็นบิลศูนย์ครับ 5555
มันมีประโยชน์ตรงที่มีนมีรายละเอียดว่าเราเอาเข้าไปทำอะไรบ้าง
จะได้รู้ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง เมื่อไร
สรุป แรงมันมั่นใจ เน้นนอกเมือง แรงง่ายๆไม่ต้องกลัวพัง ....เหยียบลุง ถ ถ ถ เถอะ ลุงไหว!!!ถึงแม้ว่ารถจะมีอายุนานพอสมควร หากนับญาติกับรุ่นปัจจุบันก็เป็นปู่เป็นตาแล้ว ม้าที่มีมาแต่เกิด อาจจะล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า มันแรงพอดูทีเดียว
แต่สิ่งที่มีแน่ๆ คือความมันส์ มันส์ทั้งตอนสับเกียร์ มันทั้งในจังหว่ะถอนคลัชท์แล้วเหยียบคันเร่ง ที่รู้สึกเหมือนพลังมันเยอะจนมันsplash พุ่งทะลักออกมา (เวอร์มาก 555)
ที่สำคัญ ความมันส์ ที่ว่ามานี้ เราไม่ต้องไปเค้นอะไรมันเลยครับ แค่ขับปกติเท่านั้นเอง (มันดีตรงนี้)
แต่ความมันส์นี้มันเหมาะที่จะเอาไว้โลดแล่นนอกเมืองมากกว่าครับ เพราะคลัชท์รถคันนี้แข็งพอสมควร ไม่เหมาะกับการเอาเข้าเมืองไปผจนรถติดแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ความเร็วความแรง มันก็มีขอบเขตเหมือนกันครับ ด้วยน้ำหนักที่เบาแค่ประมาณ1ตัน ถ้าเจอลมแรงๆ ก็หวิวๆนะครับ ถึงขั้นจะบินกันเลยทีเดียว
ในทางกลับกัน แรงม้าที่เพิ่มขึ้นจากการแปะเทอร์โบเข้าไป ก็ทำให้ม้าแต่ละตัวแบกน้ำหนักแบบสะบายๆ ทำให้รับรู้ได้ถึงแรงถีบแรงส่งของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดีเมื่อเรียกใช้งาน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมพูดถึงแค่รถที่ออกมาจากโรงงานนะครับ เพราะถ้านับรวมรถแต่งทั้งหลาย วีออสเทอร์โบคันนี้ คงทาบไม่ได้กับรถที่นักแข่งนักแต่งรถทำกันขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมคิดว่ารถ
คันนี้ได้เปรียบก็คือ ความอึดตามแบบฉบับรถโรงงานครับ อย่างไรเสีย รถที่ออกจากโรงงาน ต้องได้มาตรฐานความคงทน(durability)ทั้งด้านเครื่องยนต์ และตัวถังรถ
ยิ่งขึ้นชื่อว่าโดโยต้าด้วยแล้ว ก็พอเชื่อได้ว่า ทนถึกแน่นอน ขอเพียงแค่บำรุงรักษาตามที่คู่มือ ประกอบกับอะไหล่แท้อะไหล่เทียบ ที่มีให้เลือกมากมายสไตล์โตโยต้า
เอาเข้าอู่ไหนๆก็ซ่อมเป็นเข้าด้วยแล้ว ก็ทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่า เราจะไม่โดดเดี่ยวแน่นอน จึงเป็นที่มาของคำว่า แรงง่ายๆไม่ต้องกลัวพังละครับ
สุดท้าย ขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆสมาชิกที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ และขอบคุณ Headlightmag สำหรับพื้นที่ครับ